กทม. ชวนลอยกระทงออนไลน์ ผ่าน Traffy Fondue ลอยปัญหาเรื่องร้องเรียนให้ กทม. ช่วยแก้ไข พร้อมรณรงค์ให้ใช้วัสดุจากธรรมชาติ 100% งดจุดประทัด พลุ และ โคมลอย นักวิชาการชี้ จำนวนกระทงโฟมใน กทม. ปี 65 เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เสี่ยงปนเปื้อนไมโครพลาสติกในทะเล กระทบสุขภาพประชาชน
เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 66 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยกับสื่อมวลชนถึงสถิติการจัดเก็บกระทงใน ปี 2565 พบว่า เป็นกระทงธรรมชาติร้อยละ 95.7 และกระทงโฟม ร้อยละ 4.3 เรื่องขยะในปีนี้ได้กำชับให้เร่งดำเนินการ ภายในเวลา 05.00 น.ของวันรุ่งขึ้นต้องเก็บให้หมด ไม่ปล่อยให้เน่าอยู่ในลำน้ำ หากเป็นกระทงธรรมชาติจะแยกไปทำปุ๋ยหมัก ส่วนกระทงที่เป็นโฟมจะถูกส่งไปกำจัดให้ถูกวิธี
“สถานการณ์โควิดที่ดีขึ้นและมีการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น คาดว่าในปีนี้จำนวนกระทงจะมากขึ้นด้วย แต่หากเป็นไปได้อยากให้ประชาชนลอยกระทงแบบออนไลน์เพื่อประหยัดเวลาในการเดินทาง ที่เน้นอีกเรื่องการลอยกระทงอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะจัดที่คลองโอ่งอ่าง และการเปิดให้ลอยกระทงผ่านระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ หากมีเรื่องที่อยากให้ผู้บริหารกรุงเทพมหานครดำเนินการ หรือมีเรื่องร้องเรียนก็ให้ลอยเป็นกระทงมาให้ผู้บริหารทราบ เพื่อส่งต่อไปยังเขตหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้แก้ไข ปรับปรุง ให้เป็นรูปธรรม”
ส่วนที่ประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร วันที่ 20 พ.ย. 66 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักเทศกิจ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการระบายน้ำ สำนักการแพทย์ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว และสำนักงานประชาสัมพันธ์ ได้รายงานมาตรการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนในช่วงเทศกาลลอยกระทงของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย มาตรการก่อนลอยกระทง อาทิ การออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง มาตรการป้องกันอันตรายในช่วงเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2566 การตรวจสถานที่ผลิต สะสม จำหน่ายพลุ และการตรวจท่าเทียบเรือ โป๊ะ มาตรการในวันลอยกระทง อาทิ การจัดส่งเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกตามสถานที่ลอยกระทง การตั้งจุดกองอำนวยการตั้งแต่เวลา 17.00 น.เป็นต้นไป 2 จุด คือใต้สะพานพระราม 8 (ฝั่งธนบุรี) และคลองโอ่งอ่าง การจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดท่าเรือ โป๊ะ จุดละ 2 นาย พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิต การดูแลความปลอดภัยริมแม่น้ำเจ้าพระยาโดยจัดให้มีเรือดับเพลิง ขนาด 38 ฟุต เรือท้องแบน เจ้าหน้าที่กู้ภัยทางน้ำ เรือตรวจการณ์ ดูแลตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระราม 9 มาตรการหลังวันลอยกระทง ได้แก่ การรายงานการจัดเก็บขยะ จำนวนกระทง และรายงานผลอุบัติภัย
“ในส่วนของการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เรื่องความปลอดภัยในช่วงเทศกาลลอยกระทงในปีนี้ สำนักงานประชาสัมพันธ์ จะรณรงค์ภายใต้แนวคิด 3 ปลอด คือ 1.ปลอด…จากวัสดุไม่ธรรมชาติ 100% 2.ปลอด…จากประทัด โคมลอย พลุ 3.ปลอด…อันตรายจากโป๊ะ-ท่าเรือไม่แข็งแรง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน”
ด้าน ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีการรณรงค์เกี่ยวกับการลดกระทงโฟม จนกระทงโฟมที่เก็บได้จากแหล่งน้ำทั่วไปลดลงทุกปี แต่ตัวเลขของกระทงโฟมในกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้น จาก 1.4 หมื่นกระทง ในปี 2564 กลายเป็น 2.4 หมื่นกระทง ในปี 2565
ขณะที่งานวิจัยเรื่องทุ่นกระแสสมุทร ของคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ทำให้เห็นทิศทางของกระแสน้ำ ที่ไหลสู่ปากแม่น้ำหลัก 4 สาย คือ เจ้าพระยา บางปะกง ท่าจีน แม่กลอง กระแสน้ำอีกสายไหลเลียบภาคตะวันออก อันเป็นเขต EEC มีผู้คนอยู่หนาแน่น ซึ่งการที่กระแสน้ำมารวมกันแล้วไหลแรงเลียบฝั่งชะอำ หัวหิน ชุมพรไปทางใต้ ก่อนลอยออกไปกลางอ่าวไทย ที่น่าสังเกตคือน้ำเริ่มนิ่งหมุนวนอยู่ที่เดิม หมายความว่า “กระแสน้ำในช่วงเดือนนี้จึงพัดพากระทงที่หลุดมาจากแม่น้ำลำคลองสายหลัก รวมถึงตามชายฝั่งที่ผู้คนหนาแน่น พุ่งพรวดสู่กลางทะเลก่อนลอยเท้งเต้งอยู่ห่างฝั่ง กระจัดกระจายกัน ทำให้จัดการยากสุดๆ”
“ขณะที่การสำรวจไมโครพลาสติกบริเวณแท่นปิโตรเลียมกลางอ่าวไทย ยังพบไมโครพลาสติกจำนวนมาก ซึ่งมีโอกาสที่กระทงจะถูกย่อยเป็นไมโครพลาสติก และปลาจะกินไมโครพลาสติกเหล่านั้น ก่อนลูกเรากินปลาตัวนั้น ทุกอย่างไม่ได้เกิดในฉับพลัน กระทงอาจใช้เวลาแตกตัวนานหลายปี ก็พอดีเรามีลูกโตแล้วกินปลา …สิ่งที่ผมบอกได้ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล คือข้อมูลจากงานวิจัยล่าสุดที่ระบุว่า หนึ่งในไมโครพลาสติกที่กำลังสะสมอยู่ในทะเลไทย พบแม้กระทั่งในน้ำห่างฝั่ง 200 กิโลเมตร ‘อาจ’ มาจากกระทงโฟมในมือคุณ การขออภัย ‘น้ำ’ ไม่ควรเป็นการเพิ่มไมโครพลาสติกให้ ‘น้ำ’ ที่จะย้อนกลับมาทำร้ายเราและคนที่เรารักครับ”