กระทง กทม.​ เพิ่มขึ้นทะลุ 6.4 แสนใบ

สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. รายงานผลการเก็บกระทงในเทศกาลลอยกระทง ปี 2566 พบจำนวนกระทงเพิ่มขึ้น แต่กระทงโฟมน้อยลง เมื่อเทียบจำนวนประชาชนผู้เข้าร่วมงานพบอัตราการลอย 3 คน ต่อกระทง 1 ใบ ส่วนกระทงดิจิทัล มีเพียง 3,000 ใบ

วันนี้ (28 พ.ย. 2566) เอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขต 50 เขต ได้จัดเก็บกระทงที่ประชาชนนำมาลอยในช่วงเทศกาลวันลอยกระทงประจำปี 2566 พบ จำนวนทั้งหมด 639,828 ใบ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 67,226 ใบ คิดเป็นร้อยละ 11.74 (จากทั้งหมดจำนวน 572,602 ใบ) สามารถแบ่งประเภทกระทงได้ ดังนี้ กระทงจากวัสดุธรรมชาติ 618,951 ใบ หรือ ร้อยละ 96.74 ของทั้งหมด กระทงโฟม 20,877 ใบ หรือ ร้อยละ 3.26 ของทั้งหมด วิเคราะห์ได้ว่า กระทงวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 95.70 เป็น 96.74 กระทงโฟม ลดลง จากร้อยละ 4.30 เป็น 3.26

สำหรับเขตที่มีจำนวนกระทงมากที่สุด คือ เขตคลองสามวา จำนวน 31,575 ใบ เขตที่มีจำนวนกระทงน้อยที่สุด คือ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย จำนวน 160ใบ เขตที่มีจำนวนกระทงวัสดุธรรมชาติมากที่สุด คือ เขตคลองสามวา จำนวน 31,560 ใบ และเขตที่มีจำนวนกระทงโฟมมากที่สุด คือ เขตบึงกุ่ม จำนวน 1,579 ใบ

ในเรื่องของสถานที่โดยสรุปมีสวนสาธารณะที่เปิดให้บริการ 34 แห่ง มีประชาชนมาใช้บริการรวมทั้งสิ้น 290,886 คน จำนวนกระทงที่จัดเก็บได้ จำนวน 88,011 ใบ คิดเป็น จำนวนสัดส่วนประชาชนต่อจำนวน กระทง 3 คน ต่อ 1 ใบ ซึ่งสวนสาธารณะที่มีประชาชนใช้บริการมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ อุทยานเบญจสิริ สวนลุมพินี และสวนเบญจกิติ

ในส่วนของการลอยกระทงดิจิทัลผ่าน Projection Mapping ซึ่งเป็นการลอยกระทงมิติใหม่ที่กรุงเทพมหานครจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเทศกาลลอยกระทงประจำปีนี้ ณ คลองโอ่งอ่าง บริเวณสะพานบพิตรพิมุข มีประชาชนให้ความสนใจร่วมลอยกระทง จำนวน 3,744 ใบ

พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ Chief Sustainability Officer (ผู้บริหารด้านความยั่งยืนกรุงเทพมหานคร) กล่าวว่า กรุงเทพมหานครกำหนดจัดงานเทศกาลลอยกระทงกรุงเทพมหานครเป็นประเพณีต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยปี 2566 กำหนดจัดงาน ใน 2 พื้นที่หลัก คือ บริเวณคลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร และบริเวณใต้สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด และเปิดสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร 34 แห่ง ให้ประชาชนลอยกระทง ซึ่งภายหลังการจัดงาน กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการจัดเก็บกระทงตามแผนการปฏิบัติงานจัดเก็บกระทง เพื่อไม่ให้ขยะตกค้างในแหล่งน้ำ

นอกจากนี้ ยังสะท้อนว่าปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่ทุกคนเห็นความสำคัญและมีความตระหนักใส่ใจรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้น การส่งเสริมการลอยกระทงควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ควรรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องให้ประชาชนทราบ ซึ่งวิธีลดปริมาณขยะ หลังคืนลอยกระทง ให้ประชาชนลอยกระทงร่วมกัน โดยร่วมลอย 1 ครอบครัว/1 คู่รัก/1 กลุ่ม/1 สำนักงานต่อ 1 กระทง เลือกกระทงที่ทำ จากวัสดุธรรมชาติ ขนาดเล็ก ใช้วัสดุไม่หลากหลาย เพื่อลดภาระในการคัดแยก ในเทศกาลลอยกระทงปีนี้ จึงขอเชิญชวนให้ใช้กระทง ธรรมชาติ ลดการใช้กระทงโฟม โดยหันมาใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ หรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่ายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น กระทงน้ำแข็ง กระทงที่ทำจากหยวกกล้วยและใบตอง แป้งมันสำปะหลัง ชานอ้อย หรือกระทงขนมปัง เนื่องจากกระทงดังกล่าวจะไม่ทำลาย สภาพแวดล้อม หากเก็บกระทงไม่หมดก็จะย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติและใช้เวลานานในการย่อยสลายซึ่งแตกต่างจากกระทงโฟมที่ต้องกำจัดโดยการนำไปฝังกลบ

ซึ่งสถิติการเก็บกระทงของ กทม. ที่สะท้อนข้างต้น แสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ลอยกระทงจากวัสดุธรรมชาติ แทนการใช้กระทงโฟม แสดงว่าประชาชนและผู้ค้าได้ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากเป็นการคืนสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับสายน้ำแล้ว ยังเป็นลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัด และช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนอีกด้วย สำหรับกระทงที่จัดเก็บได้ กรุงเทพมหานครจะนำไปคัดแยกและส่งไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยทั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม และศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เพื่อนำไปทำลายอย่างถูกสุขลักษณะ โดยกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายได้จะนำเข้าสู่โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์หนองแขม ส่วนกระทงโฟมจะนำเข้าสู่กระบวนการฝังกลบต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active