กรมอนามัยลงตรวจ ‘มูโนะ’ พบสารประกอบในพลุตกค้าง แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน

ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ลงพื้นที่ตรวจการปนเปื้อนสารพิษและเชื้อโรคกรณีโกดังพลุดอกไม้เพลิงระเบิดที่นราธิวาส พบสารตกค้างบางชนิดแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน เฝ้าระวังสุขภาพประชาชนและตรวจซ้ำในบางจุด

วันนี้ (5 ส.ค.2566) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากเหตุการณ์โกดังเก็บพลุและดอกไม้เพลิงระเบิดที่ตลาดมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคม 2566 กรมอนามัยได้ส่งทีมปฏิบัติการฯ (ทีม SEhRT) ของศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลาลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนรวมทั้งเฝ้าระวังการปนเปื้อนสารพิษ และเชื้อโรคในแหล่งอาหาร น้ำดื่ม น้ำใช้ในศูนย์อพยพผู้ประสบภัย และชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุโกดังพลุระเบิดในพื้นที่ทั้ง 3 โซน (โซนไข่แดง รัศมีไม่เกิน 100 เมตร โซนไข่ขาว รัศมีไม่เกิน 100 – 500 เมตร และโซนกระทะ รัศมีไม่เกิน 500 – 1,000 เมตร) 

โดยผลการตรวจผ่านห้องปฏิบัติการฯ ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งนราธิวาส พบมีสารตกค้างที่เป็นส่วนประกอบบางชนิดในพลุ เช่น ไนเตรต ซัลเฟต ทองแดง สังกะสี เปอร์คลอเรต และแบเรียม แต่ค่าไม่สูงและไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน สำหรับโลหะหนักอื่น เช่น ตะกั่ว พบค่าน้อยมากไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานในพื้นที่ใจกลางระเบิดเช่นเดียวกัน แต่ในพื้นที่โซนกระทะ กลับพบค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานเล็กน้อย สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นปริมาณที่มีโดยธรรมชาติหรือปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม จึงได้ย้ำให้ทีมปฏิบัติการฯ ทำการตรวจซ้ำและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง 

ด้าน นายแพทย์อรรถสิทธิ์ แดงมณี ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา กล่าวเสริมว่า ผลการตรวจ บ่อน้ำ ในพื้นที่รัศมี 100 เมตร พบมีการปนเปื้อนเศษดิน เศษวัสดุ สิ่งของในบ่อ ทำให้น้ำมีค่าความขุ่นสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน ไม่เหมาะจะนำมาใช้อุปโภค บริโภค ส่วนค่าไนเตรต ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของดินประสิว ค่าทองแดงที่เป็นส่วนประกอบที่ทำให้เกิดสีฟ้าในพลุ จากผลการตรวจทั้ง 3 โซน พบว่า ไม่เกินค่ามาตรฐาน ซี่งขณะนี้ทีมปฏิบัติการฯ ยังคงอยู่ให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ และเฝ้าระวังค่าสารเคมีต่าง ๆ พร้อมทั้งตรวจซ้ำเป็นระยะ ๆ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และเมื่อตรวจแล้วพบว่าไม่เกิดการปนเปื้อนสารเคมีจากพลุในน้ำบ่อตื้น ก็จะได้ดำเนินการล้างบ่อตามหลักสุขาภิบาล เพื่อฟื้นฟูบ่อน้ำขึ้นมาใหม่ เนื่องจากสภาพปัจจุบันของบ่อน้ำในพื้นที่รัศมี 100 เมตร เริ่มมีกลิ่นเน่าเหม็นจากการย่อยสลายของแบคทีเรียที่ปนเปื้อนจากดิน และวัสดุต่าง ๆ ที่ตกลงไปในบ่อน้ำ ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา จึงได้สนับสนุน EM ที่ได้รับการสนับสนุนมาจากสถานีพัฒนาที่ดิน จังหวัดยะลา มาใช้บำบัดเบื้องต้น เพื่อลดการเน่าเสียของน้ำบ่อ  

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active