มูลนิธิบูรณะนิเวศตั้งข้อสังเกตระบบติดตามเฝ้าระวังสารกัมมันตภาพรังสีหละหลวมหรือไม่

วอนทุกหน่วยไม่ปกปิดข้อมูล ยังมีข้อกังขาหลายประเด็นเชื่อการแถลงข่าวยังเปิดเผยข้อมูลไม่หมด ด้านสำนักงานปรมาณูฯ ยืนยันซีเซียม-137 ปนเปื้อนในเศษฝุ่นโลหะโรงงานหลอมกบินทร์บุรี  ไม่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม คุมเข้มในระบบปิด

(20 มี.ค.)วันนี้ รณรงค์ ​นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี แถลงข่าวกรณีซีเซียม-137  ที่หายไปเมื่อวันที่10 มีนาคม ก่อนจะพบในโรงงานหลอมโลหะแห่งหนึ่งที่อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ช่วงหนึ่งของการแถลงข่าวมีการเล่าย้อนเหตุการณ์โดยระบุว่า ตั้งแต่ที่ได้รับแจ้งจากโรงงานไฟฟ้าแห่งหนึ่งว่าซีเซียมหายไป ก็มีการประสานสำนักงานปรมณูเพื่อสันติออกค้นหา โดยประสานทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบ แต่ก็ไม่พบจนกระทั่งมาตรวจเจอที่โรงงานหลอมโลหะ โดยใช้เครื่องมือที่ทันสมัยในการตรวจสอบ

“เมื่อวานนี้ช่วงเช้าโรงงานอำเภอกบินทร์ฯ พบมีสารซีเซียมในกระเป๋าบิ๊กแบก เครื่องมือที่วัดมันขึ้นเต็มสิบ ตอนเย็นวัดกันอีกทีมันขึ้นสิบเช่นกัน เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าเป็นสารซีเซียม-137  สารนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเองเกิดจากผลิตน้ำมือมนุษย์ ในกระเป๋าบิ๊กแบก คืออะไร มันเป็นส่วนที่เหลือมาจากการผลิตเหล็ก  มีฝุ่นเหล็กแดง ๆ อยู่ภายในระบบปิด ไม่ออกมาข้างนอก เมื่อเย็นวานที่ผ่านมา ควบคุมพื้นที่ทันที ไม่ให้ใครเอาของออกเลย เจ้าหน้าที่ตรวจสอบบริเวณรอบข้างว่ามีสารหรือเปล่า เจ้าหน้าที่วัด จี้ใกล้ ๆ สิบกว่าเมตร ไม่พบ”

ด้าน เพิ่มสุข  สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งร่วมแถลงข่าวครั้งนี้ เชื่อว่า ซีเซียมที่หายไปจากโรงไฟฟ้าเกิดจากน้ำมือมนุษย์เนื่องจากที่จัดเก็บวัสดุอยู่สูง มีระบบรักษาความปลอดภัยอย่างดี จะเข้าออกภายในพื้นที่ไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ถือครองวัสดุดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2538 และปฏิบัติตามกฎหมายมาอย่างดีโดยตลอดได้รับการต่อสัญญาให้ครอบครองได้จนกระทั่งมาเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ซึ่งไทยเองมีกฎหมายควบคุมและพัฒนามาอย่างเข้มแข็ง โดยตามหลักการผู้ที่ครอบครองต้องแจ้งโดยพลัน 

“กฎหมายระบุว่า ทันทีที่ผู้ประกอบการรู้ว่าของหายต้องแจ้งโดยพลัน รู้ปั๊ป แจ้งปุ๊ป  แต่สำนวนการสอบเราจะรู้ว่า แจ้งโดยพลัน เมื่อไม่ได้แจ้งโดยพลัน มันก็เกิดเหตุการณ์ตามที่เราเห็น  ตั้งแต่หายไป เราตามหาด้วยเครื่องมือของเรา ตอนนี้เรายังไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น โรงงานนี้ถือครองตั้งแต่ปี 38 ทำได้ดี ของก็อยู่สูงเกิดกว่าที่มนุษย์จะปีนขึ้นได้ มีแค่นก ถ้ามนุษย์ไม่ตั้งใจ เอามาไม่ได้ ระบบการป้องกันความปลอดภัยของบริษัทมีรอบรั้วขอบชิด ระบบการจัดการเยี่ยมมีทุนจดทะเบียนเราจึงอนุญาตให้ถือ และต่อใบอนุญาตมาเรื่อย ๆ”

ส่วนโรงงานหลอมที่ตรวจพบซีเซียมเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ อธิบายเพิ่มเติมถึงกระบวนการหลอมว่า โรงงานหลอมโลหะใช้อุณหภูมิเป็น 1000 องศาเซลเซียสเป็นระบบปิด ไม่พบการปนปเปื้อนในเนื้อเหล็กแต่พบในเขม่าฝุ่นแดง มี 24 กระสอบ 24 ตัน 

“โรงงานที่เราเจอ เราได้ควบคุมปิดล้อมไว้หมดแล้ว เรามีเจ้าที่รักษาความปลอดภัย เครื่อมือที่ตรวจเป็นเครื่องที่มีราคาสูงเกือบล้าน มีสมรรถนะสูง ตรวจปั๊ปรู้ปุ๊ป สารนี้อันตรายถ้าเข้าใปในร่างกาย  หลักของการดูแลสากลทั่วโลก ต้องดูความแรงของวัสดุที่เจอ อยู่ห่าง อย่าอยู่นาน มีที่กำบัง เราอยู่กับมันได้ถ้ารู้หลัก”

ส่วนประเด็นที่มีการนำฝุ่นแดงที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีในถุงบิ๊กแบ็กไปถมที่ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีการขุดดินดังกล่าวขึ้นมาเก็บรวมไว้ภายในโรงงานแล้ว และนำเครื่องมือไปตรวจซ้ำไม่พบการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับทีมผู้เชี่ยวชาญของทางสำนักงานปรมาณูฯ ที่ยืนยันว่าไม่พบการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมทั้ง ดิน น้ำ อากาศ 

ด้าน เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ระบุว่า สารซีเซียมที่พบว่ามีการใช้กระจายอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งทั่วประเทศ เฉพาะในกรุงเทพฯ มีมากที่สุด  ซึ่งมีการเฝ้าระวังควบคุมตรวจสอบเข้มงวดมากน้อยแค่ไหน จากกรณีนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ตั้งแต่ที่ซีเซียมหายจากผู้ครอบครองมีการแจ้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทันทีหรือไม่ และกระบวนการหลอมโลหะสิ่งที่น่ากังวลคือฝุ่นที่ไปในอากาศไปได้ไกล จะมีการเฝ้าระวังเรื่องนี้อย่างไร รวมถึงการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำอีก

“มาตรการในการดูแลวัตถุอันตรายเหล่านี้เข้มงวดไหม เพราะหากหลุดหายไป เชื่อว่าประชาชนไม่สามารถสังเกตหรือรู้ว่าเป็นวัตถุอันตราย วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าปกปิดข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและหามาตรการรับมือเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำอีก”

ขณะที่การแถลงข่าวครั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ให้ข้อมูลชัดเจนว่าซีเซียมที่พบครั้งนี้ถูกหลอมหรือยัง และเป็นตัวเดียวกับที่หายไปจากโรงไฟฟ้าก่อนหน้านี้หรือไม่ ทำให้มูลนิธิบูรณะนิเวศซึ่งทำงานด้านเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากโรงงานอุตสาหกรรม ยังคงกังขาและเชื่อว่ามีข้อมูลที่ยังไม่เปิดเผยอีก

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active