สธ. ห่วงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ปีนี้อาจรุนแรงกว่าปี 2565

“ชัชชาติ” ชี้อากาศนิ่งตลอดสัปดาห์ แนะเตรียมหน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 ขณะที่ “ สธ.  เน้นการสื่อสารสร้างการรับรู้ ยกระดับการเฝ้าระวังดูแลสุขภาพประชาชน 

วันนี้ 16 ม.ค.66 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร (ฝุ่นละออง PM2.5) ชั้น 2 อาคารสำนักการโยธา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครดินแดง โดยกล่าวว่า วันนี้เห็นจากบนยอดตึกพบสภาพอากาศของกรุงเทพฯ มีหมอก จึงมาตรวจเยี่ยมศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร พบว่าในหมอกดังกล่าวก็จะมีฝุ่นสะสมอยู่ ค่าเฉลี่ย PM2.5 เฉลี่ยอยู่ที่ 30 มคก./ลบ.ม. โดยมาตรฐานที่ทั่วโลกใช้เป็นค่าเฉลี่ยของทั้งวัน(24 ชม.) ที่ไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพจะอยู่ที่ 50 มคก./ลบ.ม. 

กทม.มีสถานีตรวจวัดค่า PM2.5 อยู่ 70 สถานีทั่วกรุงเทพ และขณะนี้ไม่มีจุดฮอตสปอต (จุดที่เผาชีวมวล) แต่เห็นฮอตสปอตแถวกัมพูชาเยอะขึ้น อาจต้องมีการพูดคุยกับกระทรวงต่างประเทศเพื่อประสานความร่วมมือ แต่ในกรุงเทพฯ เรากวดขันหากมีฮอตสปอตเราจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดู ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้แย่มาก ที่กังวลจะเป็นช่วงวันที่ 16 – 17 ม.ค. นี้ อากาศจะนิ่ง และวันที่ 19 – 22  ม.ค. ควรเตรียมพร้อมใส่หน้ากาก N95 หรือหน้ากากโควิด

ชัชชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันอาจมีความเข้าใจสับสนระหว่างค่า AQI กับ PM2.5  ที่มีความแตกต่างกัน โดย AQI เป็นค่าดัชนีสภาพอากาศที่เทียบสีเพื่อให้เข้าใจง่าย ซึ่งวัดค่าจาก 6 อย่างมาเฉลี่ยกัน คือ PM2.5, PM10 คาร์บอนมอนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ และโอโซนชั้นผืนดิน โดย AQI ใช้การคำนวณไม่ได้วัดค่าโดยตรง อีกแอปฯ หนึ่งคือ AirVisual จะใช้เซ็นเซอร์ส่งข้อมูลเข้ามาโดยวัดเฉลี่ยต่อ 1 ชั่วโมง  ในขณะที่แอปฯ Airbkk ที่กทม. และการรายงานของกรมควบคุมมลพิษใช้เป็นค่าเทียบอิงกับมาตรฐานโลกจะอ้างอิงที่ 24 ชั่วโมง ซึ่งค่าอาจจะต่างกัน ดังนั้นเราควรแยกให้ออกและทำความเข้าใจข้อมูลระหว่าง  AQI กับ PM2.5  

วันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า ปี 2566 กระทรวงสาธารณสุขได้วางยุทธศาสตร์ และกรอบการดำเนินงาน ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 โดยเน้นการสื่อสารสร้างการรับรู้ ยกระดับการเฝ้าระวังดูแลสุขภาพประชาชน ให้ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที นำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม 

ที่ประชุมยังรับทราบสถานการณ์โรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ทั้งสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่คาดว่า จะมีความรุนแรงมากกว่าปี 2565 จากสภาพอุตุนิยมวิทยาและปรากฏการณ์ “ลานีญา” รวมทั้งพบว่า ในปี 2565 อัตราป่วยโรคจากการประกอบอาชีพ เช่น โรคพิษจากสารกำจัดศัตรูพืช โรคซิลิโคสิสจากฝุ่นซิลิกา โรคจากแอสเบสตอส (แร่ใยหิน) มีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 

โดยความก้าวหน้าการดำเนินงานภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพฯ สามารถจัดทำอนุบัญญัติได้เกินเป้าหมาย มีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฯหรือ EnvOcc CU แล้ว 58 จังหวัด มีแผนการสื่อสาร พ.ร.บ. มีการบูรณาการเพื่อพัฒนาโรงเรียนต้นแบบ  ลดโรค “Safety school model”  มีแผนฝึกปฏิบัติการนำร่องกลไกตาม พ.ร.บ. (Sandbox) ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการนำเสนอร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากการประกอบอาชีพ ฉบับที่ 2 พ.ศ. …. และ เรื่อง ชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 3 พ.ศ. …. ต่อคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย 

โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 2 เรื่อง ได้แก่ 1. (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง คุณสมบัติของหน่วยงานอื่นใดของรัฐที่จะดำเนินการขึ้นทะเบียนแก่หน่วยบริการอาชีวเวชกรรมหรือเวชกรรมสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 พ.ศ. … และ 2. การแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพฯ เพื่อให้การดำเนินงานคล่องตัว ต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active