ใครแยกขยะโปรดลงชื่อ กทม. จัดรถเก็บแยกประเภท

เริ่มแล้วโครงการ “ไม่เทรวม” ระยะที่ 2 เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนครัวเรือนแยกขยะ ผ่านแอปฯ ทราฟฟี ฟองดูว์ แจ้งสำนักงานเขตเก็บขยะ แยกประเภท เศษอาหาร-ขยะทั่วไป หวังลดจำนวนขยะ กทม. และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี

วันนี้ (3 พ.ย. 65) พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงความคืบหน้านโยบาย “สิ่งแวดล้อมดี” ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า หลังกรุงเทพมหานครเปิดตัว โครงการไม่เทรวม วันที่ 4 กันยายน ที่ผ่านมา เพื่อปักหมุดจัดการเศษอาหาร ซึ่งเป็นตัวปัญหาใหญ่ หลังพบว่าขยะจากอาหารมีสัดส่วน 45% ของขยะมูลฝอยทั้งหมด จึงหวังจัดการขยะให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น เริ่มจากการจัดการขยะอาหารก่อน โดยนำถังแยกขยะเศษอาหารมาติดหลังรถ แยกจากขยะอื่น ๆ หรือใช้รถเปิดข้างที่มีอยู่แล้ววิ่งเก็บเศษอาหารโดยเฉพาะ เริ่มต้นจาก 3 เขตนำร่อง คือเขตพญาไท เขตปทุมวัน และเขตหนองแขม ครอบคลุม 2,681 ครัวเรือน เป็นระยะเริ่มต้น

“รายงานการดำเนินงาน 57 วัน ตั้งแต่ 5 กันยายน – 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา สามารถเก็บขยะเศษอาหารแยกจากขยะอื่นได้ 52,905 กิโลกรัม เฉลี่ย 10% เทียบกับรถขยะ 2 ตัน จำนวน 16 คัน จำนวนคาร์บอนที่ลดได้ 60,840 กิโลคาร์บอน หรือ 60.68 ตันคาร์บอน หรือเทียบได้กับเที่ยวบิน 354,128 กิโลเมตร”

พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

โดยระยะที่ 2 นี้ ได้วางแนวทางการให้บริการกับความต้องการแยกขยะ หลังพบว่ามีคนจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ในเขตนำร่อง แต่ต้องการที่จะแยกขยะ จึงเปิดแพลตฟอร์มให้ประชาชนที่มีความประสงค์แจ้งลงทะเบียนแยกขยะได้ที่แอปพลิเคชัน ทราฟฟี่ฟองดูว์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตได้ทราบกลุ่มเป้าหมายและจัดรถเก็บขยะแยกประเภทไปรับได้ตามความต้องการ โดยวิถีการนี้ประชาชนสามารถลงทะเบียนได้ทั้ง 50 เขตของ กทม.​ โดยจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนในช่วงเดือนพฤศจิกายน และในวันที่ 12 ธันวาคม ก็จะวางแผนลงไปเก็บขยะอาหารตามที่ประชาชนได้แจ้งเข้ามา

“ภาคเอกชนเราก็เข้าไปคุย มีรายใหญ่ที่สนใจโครงการนี้เยอะ แต่เราบอกว่าอยากให้เริ่มต้นด้วยตัวเองก่อน เช่น จัดทำปุ๋ย ประสานกับเกษตรกรเพื่อนำไปทำอาหารสัตว์ หรือถ้ายังเหลือจากนั้น กทม.​ ก็จัดรถมาเก็บเศษอาหารโดยเฉพาะให้ได้ นอกจากนี้มีนโยบายให้สำนักงานเขตต่าง ๆ ลงพื้นที่คุยกับชุมชน ฝ่ายสิ่งแวดล้อม สุขาภิบาลให้ไปคุยกับร้านอาหารผู้ประกอบการทั้งหมดให้ร่วมโครงการ”

พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

งานวิจัยพบว่า ขยะจากครัวเรือนแต่ละเดือนจะมีขยะอาหารราว 43.47 กิโลกรัม ซึ่งเป็นขยะอินทรีย์ 83% หรือ 36.01 กิโลกรัม ซึ่งสามารถนำไปทำปุ๋ยหมักได้ และกำจัดขยะไปในตัว แต่การไม่แยกขยะทำให้ขยะทั้งหมดยากที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ และต้องถูกนำไปฝังกลบ

“ถ้าประชาชนแยกขยะจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ ซึ่งปลายทางเรามีระบบรองรับอยู่แล้ว ทั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิง แก๊สชีวภาพ ซึ่งรองรับได้ 800 ตัน และโรงงานทำปุ๋ยหมักได้อีก 1,600 ตัน เราจึงพยายามรณรงค์ให้ประชาชนแยกขยะ อย่างน้อยแยกเศษอาหารออกจากขยะอื่น และที่เหลือก็เป็นขยะแห้ง ซึ่งบางอย่างมีมูลค่าก็อาจจะมีเจ้าหน้าที่หรือคนเก็บของขยะแยกออกไปใช้ประโยชน์อีกที”

พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active