เตือน กทม. เข้าสู่ฤดูฝุ่น สธ.เผยแนวโน้ม PM 2.5 เพิ่มขึ้น

พื้นที่ กทม. บางจุดคุณภาพอากาศอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพแนะตรวจสอบคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน  ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรสำรองยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม 

วันนี้ (19 ต.ค. 2565) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่มีรายงานค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมโครกรัม หรือฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. วันนี้พบค่าฝุ่นในระดับสีส้ม คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพหลายพื้นที่ ดังนั้น ขอให้ประชาชนตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่นก่อนออกนอกบ้านจากเว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th หรือแอปพลิเคชัน “Air4Thai” ของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งจะระบุค่าดัชนีคุณภาพอากาศ พร้อมระดับสี และคำแนะนำในการปฏิบัติตัว ดังนี้

สีฟ้า ค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 0-25 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศอยู่ในระดับดีมากเหมาะสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยว

สีเขียว 26-37 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศระดับดี สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยวได้ตามปกติ 

สีเหลือง 38-50 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศระดับปานกลาง ประชาชนทั่วไปสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ ส่วนผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ หากมีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง

สีส้ม 51-90 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนทั่วไป ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ถ้ามีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ส่วนผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ถ้ามีอาการทางสุขภาพ เช่น ไอ หายใจลำบาก ตาอักเสบ แน่นหน้าอก ปวดศีรษะหัวใจเต้นไม่เป็นปกติ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ควรปรึกษาแพทย์

สีแดง ค่าฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่ 91 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป คุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ทุกคนควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น และหากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์

นอกจากนี้ ขอให้ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่  เน้นผัก ผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระทำความสะอาดบ้าน และอุปกรณ์ภายในบ้าน หากค่าฝุ่นเกินมาตรฐานควรหลีกเลี่ยงการออกไปทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรสำรองยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และควรช่วยกันลดการสร้างมลพิษทางอากาศ เช่น การใช้เตาถ่าน การจุดธูปเทียน การเผาขยะ เป็นต้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active