โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี เปิดเผยความคืบหน้ารับมอบประทานบัตร 4 ฉบับ ระบุ จะเริ่มดำเนินการจ่ายเงินค่าทดแทนภายใน 90 วัน กำหนดกองทุนดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม 11 กองทุน กว่า 3,500 ล้านบาท กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมฯ เตรียมเคลื่อนไหวคัดค้าน
หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เดินหน้าโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยระบุ เป็นไปตามนโยบายลดการนำเข้าแร่โปแตช เพื่อแก้ไขปัญหาปุ๋ยราคาแพง ซึ่งขณะนั้น กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีออกมาคัดค้าน ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พร้อมรายชื่อประชาชน 2,586 รายชื่อ เพื่อคัดค้านการออกประทานบัตร แต่ไม่เป็นผล
อ่านเพิ่ม
- ยื่น 2,500 รายชื่อ ค้านออกประทานบัตรเหมืองโปแตช อุดรฯ
- เมินเสียงชาวบ้าน ครม.เห็นชอบ เดินหน้าเหมืองโปแตช
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมาบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้เข้ารับประทานบัตรทำเหมืองใต้ดิน ตามหนังสือที่ อด 0034(4)/888 ลงวันที่ 28 กันยายน 2565 โดยรับจากเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่จังหวัดอุดรธานี ณ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี
สำหรับประทานบัตรดังกล่าว อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้อนุญาตประทานบัตร จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ ประทานบัตรที่ 27206/16504 ประทานบัตรที่ 27207/16505 ประทานบัตรที่ 27208/16506 และประทานบัตรที่ 27209/16507 โดยมีอายุ 25 ปี ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. 2565 จนถึงวันที่ 22 ก.ย. 2590 โดยมีระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี ผลิตแร่โปแตช 21 ปี และปิดเหมืองประมาณ 1 ปี อย่างไรก็ตาม กฎหมายบริษัทฯ สามารถขอขยายสัมปทานเพิ่มได้อีก 5 ปี
โดยเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่จังหวัดอุดรธานี ได้ตรวจสอบหลักฐานตามที่กำหนดในเงื่อนไขแนบท้ายประทานบัตร และมอบประทานบัตรทั้ง 4 ฉบับดังกล่าวให้บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อนำไปประกอบการเหมืองแร่ตามเงื่อนไขประทานบัตรและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
หลังได้รับประทานบัตรแล้ว ตัวแทนโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ระบุว่า จะเริ่มดำเนินการกำหนดการจ่ายเงินค่าทดแทนภายใน 90 วัน หลังจากวันที่ได้รับประทานบัตร พร้อมทั้งปฏิบัติตามเงื่อนไขและมาตรการเพิ่มเติมให้ผู้ถือประทานบัตรต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยได้มีการกำหนดกองทุนเพื่อการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม จำนวน 11 กองทุน เป็นเงินกว่า 3,500 ล้านบาท ตลอดอายุโครงการ
พร้อมทั้งให้มีคณะทำงานร่วมตรวจสอบกำกับดูแลการทำเหมือง ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้แทนจากผู้มีส่วนได้เสียรวมทั้งบริษัทฯ ต้องจัดทำประกันภัยความรับผิดต่อชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลภายนอก วางหลักประกันการฟื้นฟูสภาพพื้นที่การทำเหมือง
กลุ่มอนุรักษ์ฯ เตรียมเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการ
จากการสอบถามไปยังกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดอุดรธานี ภายหลังรับทราบความคืบหน้าโครงการดังกล่าว มีความเห็นว่า ความกังวลถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหลังการเดินหน้าโครงการเหมืองโปแตชในพื้นที่ พร้อมระบุว่าจะมีการเคลื่อนไหวรณรงค์ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี และเตรียมเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อคัดค้านโครงการดังกล่าวเร็ว ๆ นี้