ไม่เทรวม! 3 เขตนำร่องลุยแยกขยะ ชัชชาติ ย้ำ ไม่ใช่แค่อิเวนต์

กทม. เปิดตัวโครงการ “ไม่เทรวม” เปิดตัวรถขยะแบบใหม่ มีพื้นที่แยกเศษอาหาร เล็งสร้างแรงจูงใจลดค่าเก็บขยะ แจกปุ๋ยหมักให้ทุกเดือน ‘ชัชชาติ’ ย้ำ ไม่ใช่แค่อิเวนต์ เฉพาะเขตหนองแขม แยกได้วันละ 120 กิโลกรัม

วันนี้ (4 ก.ย. 2565) ที่สวนลุมพินี เขตปทุมวัน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และ แอนนา เสืองามเอี่ยม มิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ 2022 พร้อมคณะ Miss Earth 2022 ร่วมเปิดตัวโครงการ “ไม่เทรวม” พร้อมเปิดตัวรถขยะแบบใหม่ ซึ่งมีพื้นที่จัดเก็บเศษอาหาร รณรงค์ขอความร่วมมือประชาชนในการแยกขยะเศษอาหาร โดยเริ่มดำเนินนโยบายที่เส้นทางทดลอง นำร่อง 3 เขต คือ เขตปทุมวัน ตัวแทนของเขตเมืองที่มีพื้นที่น้อยแต่ขยะเกินค่าเฉลี่ย เขตพญาไท คือ ตัวแทนของเขตที่ต่ำกว่ามาตรฐานค่าเฉลี่ยทุกเกณฑ์ และเขตหนองแขม คือ ตัวแทนของเขตที่เกินมาตรฐานค่าเฉลี่ยทุกเกณฑ์

ชัชชาติ กล่าวถึงประโยชน์ในการแยกขยะกับประชาชนว่า นอกจากจะจัดเก็บได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังทำให้มีคุณค่าเพิ่มมากขึ้น เพราะการแยกขยะเปียกที่ทำให้เกิดการเน่าเหม็นออกจากขยะทั่วไป ก็จะสามารถนำมารีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ได้สะดวกขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนจำนวนมากแยกขยะ แต่สุดท้าย กทม. เอามารวมที่รถซึ่งทำให้ประชาชนหมดหวัง ถึงเวลาที่ต้องเริ่มเป็นกระบวนการจากต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่างจริงจัง ต้นน้ำคือประชาชนแยก กลางน้ำคือ กทม. จัดเก็บแบบแยก และปลายน้ำคือการจัดการขยะที่แยกมาอย่างเป็นระบบ 

ผู้ว่าฯ กทม. ยังเปรียบเทียบว่า ที่ผ่านมา กทม. เสียเงินในการเก็บขยะ ทำความสะอาดปีละหมื่นล้านบาท แต่เสียเงินกับการศึกษาแค่ 4 พันล้านบาทต่อปี ดังนั้น จะทำอย่างไรให้เปลี่ยนขยะตรงนี้มาเป็นทรัพย์สินให้ได้ โดยเริ่มแบบค่อยเป็นค่อยไป นำร่องจาก 3 เขต และประเมินผลงานทุกสัปดาห์

“ถามว่าทำไมไม่ทำทั้งหมดพร้อมกันเลย จริง ๆ เป็นเรื่องของความคิดที่เป็นรูปแบบ คือ ต้องเข้าใจปัญหาก่อน ออกไอเดีย สุดท้ายทำเป็นตัวต้นแบบ ที่สำคัญ 3 เขตเอาให้มั่นใจก่อนว่าทำได้จริง และค่อยขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ นี่เป็นหลักแนวคิดทางวิชาการ หลังจากนี้ก็เป็นตัวชี้วัดต้องมาแข่งกันในการคัดแยกขยะ”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 

ผู้ว่าฯ กทม. ยังกล่าวด้วยว่า เรื่องขยะยังมีแนวคิดอื่นอีกมากมาย เช่น ถุงขยะดำที่วางกองอยู่ริมถนนรอรถขยะมาเก็บ ซึ่งมีสัตว์มากัดแทะ เมื่อฝนตก น้ำก็ชะขยะมาที่ท่อระบายน้ำ อาจมีการออกแบบเป็นตะแกรงพับเป็นที่ล้อมขยะมีฝาปิดแบบประเทศญี่ปุ่น แล้วให้นำขยะมาวางในตะแกรงที่พับเก็บได้ มีฝาปิด ซึ่งจะทดสอบต่อไป ส่วนของพนักงานกวาดขยะ ปัจจุบันต้องกวาดใส่ถุงดำ บางเขตมีถังที่หิ้วไปได้เลยก็ถือว่าดี เพราะประชาชนสามารถทิ้งลงไปได้ ซึ่งต้องปรับปรุง ต้องลงรายละเอียด และเข้าใจชีวิตของเจ้าหน้าที่ คนที่ดูแลพวกเราด้วย ติดอุปกรณ์ ติดอาวุธให้เขาเพื่อให้เขาทำงานได้อย่างสะดวก เป็นภาพรวมที่เราจะเอาจริงเอาจังแน่นอน ขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วม รับรองว่าจะเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการขยะให้ดีขึ้นได้

มณีวรรณ ศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการเขตหนองแขม กล่าวว่า ภายหลังการประชาสัมพันธ์ ได้ระบุจุดนำร่องคือถนนเพชรเกษม รวมระยะทางไปกลับ 10 กิโมเมตร โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ สถานประกอบการ ห้างร้าน หาบเร่แผงลอย จากการดำเนินงานนัดจัดเก็บขยะ 18.00 – 23.00 น. ของทุกวัน สามารถจัดเก็บขยะเปียกได้อยู่ที่ 120 กิโลกรัมต่อวัน  

นอกจากนี้ กทม. ยังศึกษาแนวทางในการสร้างแรงจูงใจ เช่น ลดอัตราค่าเก็บขยะให้กับประชาชที่คัดแยกขยะอย่างจริงจัง หรือถ้าแยกขยะมาอาจมีการแจกปุ๋ยหมักให้ทุกเดือน หรือบ้านไหนที่มีการคัดแยกขยะ ก็จะมีสติกเกอร์ติดหน้าบ้านว่าบ้านนี้ร่วมมือในการพัฒนาเมืองให้ดีขึ้น โดยรวมโครงการแยกขยะ อาจจะไม่ใช่ตัวเงินหรือสิ่งของแต่เป็นความภาคภูมิใจว่าเรามีส่วนร่วมที่ทำให้เมืองดีขึ้น ซึ่งในหลายประเทศไม่มีค่าตอบแทนให้ แต่อาจจะใช้วิธีไม่แยกขยะก็จะเสียเงินมากขึ้น ตามหลักที่ว่าใครสร้างมลพิษมากก็ต้องจ่ายเงินมาก ซึ่งในอนาคตหากระบบสำเร็จอย่างเต็มที่และมีบางกลุ่มไม่ทำการคัดแยกขยะ ก็อาจจะต้องจ่ายเงินเพิ่มมากขึ้นซึ่งจะเป็นในขั้นตอนต่อไป

ภาพรวมของสถานการณ์ขยะในกรุงเทพมหานคร พบว่า มีขยะจำนวนกว่า 8,000 ตันต่อวัน เป็นขยะเศษอาหารมากกว่าร้อยละ 50 นโยบาย “ไม่เทรวม” จึงขอความร่วมมือประชาชนแยกขยะออกเป็น 2 ประเภทแบบง่าย ได้แก่ “ขยะเศษอาหาร” และ “ขยะทั่วไป” ออกจากกัน พร้อมทั้งบรรจุขยะทั้ง 2 ประเภทในถุงขยะที่แตกต่างกันเพื่อให้เห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ส่วนข้อกังวลใจของประชาชนต่อการจัดเก็บขยะของ กทม. ว่าประชาชนแยก แต่ขยะก็ไปรวมที่รถขยะอยู่ดี กทม. จึงได้พัฒนารถขยะแบบใหม่ “รถขยะไม่เทรวม” โดยมีการติดตั้งส่วนเพิ่มเติมในการจัดเก็บขยะเศษอาหารที่รถขยะอัดท้าย 2 ตัน และ 5 ตัน รวมทั้งรถเปิดข้างสำหรับจัดเก็บขยะเศษอาหารเท่านั้น โดยขยะเศษอาหารที่จัดเก็บได้ สำนักงานเขตรวบรวมส่งโรงงานกำจัดมูลฝอยด้วยเทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพ อ่อนนุซ (Mechanical and Biological Waste Treatment : MBT) เพื่อหมักเป็นก๊าซผลิตไฟฟ้า และในปี 2566 จะเริ่ม 3 เส้นทางนำร่องและระดับแขวงในพื้นที่อีก 47 เขตที่เหลือต่อไปด้วย

สำหรับทั้ง 3 เขตที่คัดเลือกให้เป็นต้นแบบของเขต “ไม่เทรวม” พิจรณาจากหลักเกณฑ์ 6 ประเภทได้แก่ 1) ขนาดพื้นที่ 2) จำนวนประชากร 3) ปริมาณขยะ 4) จำนวนชุมชน 5) ประเภทชุมชน และ 6) ระยะทางถึงศูนย์กำจัดขยะ เพื่อให้เขตต้นแบบสามารถครอบคลุมความหลากหลายของพื้นที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครสามารถนำไปพัฒนาและขยายผลการดำเนินการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active