ขยะอิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดประเทศต้นทางปลายทางต้องแจ้งนำเข้าส่งออก

การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลฯ มีมติให้เพิ่มประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดต้องแจ้งก่อนเคลื่อนย้ายเข้าออกประเทศต้นทางปลายทาง ปิดช่องโหว่การนิยามขยะอันตราย

การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลฯ สมัยที่ 15  รัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ สมัยที่ 10 และรัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ สมัยที่ 10  ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 17 มิถุนายน 2565 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส  โดย อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ พร้อมคณะทำงานและภาคประชาสังคมได้เข้าร่วมประชุมด้วยในฐานะประเทศภาคี

The Active ติดตามผลการประชุมและสอบถามเพิ่มเติมจาก ปุณญธร จึงสมาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลและสื่อสาร มูลนิธิบูรณะนิเวศ  ในฐานะองค์กรสังเกตการณ์หน่วยงานของไทยที่ติดตามปัญหามลพิษมาอย่างยาวนาน  เปิดเผยว่าผลการประชุมมีประเด็นสำคัญที่มีความคืบหน้าจากการประชุมมากที่สุดคือ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาบาเซลฯ ซึ่งก่อนหน้านี้มีปัญหาในการควบคุมเนื่องจากการตีความว่าขยะชนิดใดอันตรายที่ต้องแจ้งก่อนการเคลื่อนย้าย  เป็นช่องโหว่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งเป็นปลายทางในการรับขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทย   ประเทศสวิตเซอร์แลนด์  และประเทศกานา ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ จึงเสนอให้มีการพิจารณาเพิ่มประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดให้เป็นขยะอันตราย ประเทศต้นทางและปลายทางต้องมีการแจ้งก่อนการเคลื่อนย้าย 

“นี่ถือเป็นความคืบหน้ามากที่สุดสำหรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งก่อนหน้านี้มีช่องโหว่ในการตีความ แต่เมื่อที่ประชุมรับข้อเสนอให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดเป็นขยะที่ต้องแจ้งก่อนการเคลื่อนย้าย ซึ่งไทยเองเป็นภาคีด้วยก็ต้องปฏิบัติตาม ในทางปฏิบัติก็ต้องดูกฎหมายของแต่ละประเทศ และการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะทำได้จริงมากน้อยแค่ไหนเมื่อมีผลบังคับใช้ ไทยก็มีกฎหมายในการควบคุมแต่มีช่องโหว่ที่ด่านศุลกากร แต่ข้อเสนอนี้จะชัดเจนขึ้นในการควบคุม”

นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังมีการรับรองในอีกหลายประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น การรับรองหลักเกณฑ์ด้านเทคนิคเรื่องการเผาของเสียอันตรายในเตาเผาอุตสาหกรรม การกำจัดด้วยระบบฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาล การจัดการของเสียปรอท และของเสีย POPs (สารมลพิษตกค้างยาวนาน) และการปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านเทคนิคสำหรับการจัดการยางรถยนต์ใช้แล้ว แบตเตอรี่ตะกั่วกรด และของเสียพลาสติก เพื่อให้รัฐภาคีใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการจัดการของเสียชนิดนั้น ๆ

ด้าน อรรถพล เจริญชันษา อธิบดี คพ. กล่าวว่า ในส่วนของการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ สมัยที่ 10 ได้แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญของประเทศไทย (ดร.พาลาภ สิงหเสนี) เป็นกรรมการในคณะกรรมการพิจารณาทบทวนสารเคมี มีการเลื่อนวาระการพิจารณาเพิ่มรายการสารเคมีในภาคผนวก 3 ซึ่งประเทศผู้ส่งออกต้องแจ้งให้ประเทศปลายทางทราบล่วงหน้า และเลื่อนการพิจารณาวาระข้อเสนอของประเทศกลุ่มแอฟริกาที่ขอสนับสนุนด้านการเงินเป็นพิเศษไปในการประชุมรัฐภาคีครั้งต่อไป

สำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์มสมัยที่ 10 ได้บรรจุสารเปอร์ฟลูออโรเฮกเซนซัลโฟนิก (PFHxS) เพิ่มเติมในภาคผนวก เอ โดยไม่มีข้อยกเว้นพิเศษ ซึ่งภาคีสมาชิกต้องเลิกใช้และกำจัดให้หมดไป รวมถึงประเทศไทย การประชุมครั้งนี้ คณะผู้แทนไทยได้แสดงจุดยืนของประเทศและให้ความเห็นในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 อนุสัญญา ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายและการดำเนินการที่สำคัญของรัฐบาล อาทิ การห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ การจำกัดการนำเข้าเศษพลาสติกเพื่อสนับสนุนการใช้เศษพลาสติกภายในประเทศ การพิจารณาลดการใช้สารที่มีความอันตรายสูง สารที่มีฤทธิ์ตกค้างยาวนาน และสารทำลายชั้นบรรยากาศ  สำหรับการประชุมรัฐภาคีของ 3 อนุสัญญา ครั้งถัดไป มีกำหนดจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2566 ณ เครือรัฐบาฮามาส

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส