ภาค ปชช. ร้อง ผู้ว่าฯ สตูล ตรวจสอบสัมปทาน ‘เหมืองหิน’ – ขอมีส่วนร่วมจัดการแหล่งธรณีโลก

เรียกร้อง ก.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม – ก.อุตสาหกรรม ทบทวนประกาศแหล่งหินใหม่ทั้งจังหวัด พร้อมเดินหน้าสำรวจ พิจารณาขยายพื้นที่อุทยานธรณีโลกเพิ่มเติม 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมัชชาจังหวัดสตูล และกลุ่มรักจังหวัดสตูล เข้าพบ เอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ยื่นข้อเรียกร้องและหารือกรณีปัญหาสัมปทานเหมืองหิน 3 แห่ง ทั้งใน และนอกพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล 

ภาคประชนชน ย้ำว่า อุทยานธรณีโลกสตูล ได้รับรองเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เมื่อวันที่ 17 เม.ย.61 ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ทุ่งหว้า, มะนัง, ละงู และ อำเภอเมืองเฉพาะ (อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และอุทยานแห่งชาติตะรุเตา) รวมพื้นที่ 2,597 ตารางกิโลเมตร มีความโดดเด่นจากภูเขาสู่ท้องทะเลโซนภูเขาโดดเด่นภูมิประเทศแบบคาสต์ (karst topography) ทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้สำคัญทางธรณีวิทยา มีผู้คนดำรงชีวิตในพื้นที่แห่งนี้ภายใต้การพึ่งพาฐานทรัพยากรอันทรงคุณค่า และก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เช่นวาทกรรมที่ว่า 

“อุทยานธรณีโลกสตูล อุทยานธรณีโลกของยูเนสโกแห่งแรกของประเทศไทย จากผืนทะเล 500 ล้านปี สู่ขุนคีรียิ่งใหญ่ ผูกพันวิถีชีวิตผู้คน เดินตามแนวทางอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก”

ในขณะที่บทบาท หน้าที่ของ จ.สตูล หลังได้รับรองให้เป็น ‘เมืองอุทยานธรณีโลก’ มีอย่างน้อย 3 ประการ คือ 1. ส่งเสริมงานศึกษาวิจัยเพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับพื้นที่ ด้วยเพราะผืนดินแห่งนี้มีบันทึกหลักฐานของโลกใต้ทะเลเมื่อ 500 ล้านปีก่อน ที่อุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิตยุคเก่า อันเกิดจากแหล่งที่สร้างออกซิเจนให้กับโลกในช่วงเวลานั้น

2. ดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเนสโก (SDGs) เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนท้องถิ่นได้ผลิตสินค้าที่เกิดจากภูมิปัญญาดั่งเดิมมาประยุกต์กับวัตถุดิบในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูลและสร้างความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้ทาให้ผู้คนในพื้นที่อุทยานธรณีมีอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

3. สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการท่องเที่ยวเชิงธรณี โดยให้ชุมชนอุทยานธรณีโลกสตูลถูกใช้ประโยชน์เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านธรณีวิทยาและซากดึกดาบรรพ์ นิเวศวิทยา โบราณคดี เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่มีความสำคัญของคนทั้งโลก

แต่ภาคประชาชนเห็นว่า ขณะนี้นโยบายการพัฒนาความเป็นเมืองอุทยานธรณีโลก กำลังดำเนินไปอย่างไร้ทิศทาง ไม่ได้ใช้โอกาสดังกล่าวสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์ของพื้นที่และประชาชนส่วนรวม ตามแนวทางเบื้องต้น ที่สะท้อนออกมาในหลายมิติ ทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน การใช้งบประมาณและระบบบริหารจัดการแหล่งธรณีวิทยาที่ยังไม่มีความโดดเด่นมากพอ ถือเป็นจุดอ่อน ที่จะต้องหาทางแก้ไขเร่งด่วน มากไปกว่านั้นคือการปล่อยให้ผู้ประกอบการสามารถขออนุญาตการใช้แหล่งแร่หินอย่างไร้การควบคุม และแทบจะไม่ได้อยู่ในความสนใจต่อความเป็นเมืองอุทยานธรณีระดับโลกแต่อย่างใด 

โดยเฉพาะหลักฐานที่ชัดเจน ในกรณีที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล กำลังดำเนินการตามขั้นตอนกฏหมายอนุญาตให้กลุ่มทุนต่าง ๆ สามารถสัมปทานแหล่งหินใน จ.สตูล คราวเดียวกันถึง 3 ลูก คือ 

1. เขาลูกเล็กลูกใหญ่ อ.ทุ่งหว้า ซึ่งผ่านการอนุมัติผลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และการขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้แล้ว

2. เขาจูหนุงนุ้ย อำเภอละงู ขณะนี้กำลังรังวัดพื้นที่ขอประทานบัตร

3. เขาโต๊ะกรัง คาบเกี่ยวระหว่าง อ.ควนโดน และ อ.ควนกาหลง  ตอนนี้กระบวนการ EIA เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ (คชก.) ไปแล้ว 1 ครั้ง และอยู่ระหว่างการปรับแก้เอกสาร

“ ในกระบวนการดำเนินการดังกล่าวศึกษาอีไอเอของเขาลูกเล็กลูกใหญ่ และเขาโต๊ะกรัง มีปัญหาและมีข้อร้องเรียนของประชาชนหลายครั้ง จึงชัดถึงความพยายามที่จะรวบรัดขั้นตอน และการปิดการแสดงออกของประชาชนที่เห็นต่าง มีความมิชอบในการดำเนินการโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบและมีการทำหนังสือร้องเรียนไปอย่างเป็นทางการผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลในขณะนั้น แต่ที่มากไปกว่านั้น คือความไม่เข้าใจต่อนโยบายของจังหวัดสตูล ถึงความเป็นเมืองอุทยานธรณีระดับโลก ที่ควรเห็นคุณค่าแก่การอนุรักษ์ หรือส่งเสริมให้มีการสำรวจศึกษาแหล่งหินอื่นๆในภาพรวมของจังหวัด แต่กลับปล่อยให้มีบริษัทเอกชนเข้ามาขอสัมปทานแหล่งหินได้ เสมือนไม่ได้ให้ความหมายสำคัญตามแนวทางที่ให้ไว้กับองค์การยูเนสโกที่กล่าวไว้เบื้องต้น”

เปิดข้อกังวลสัมปทานแหล่งหิน 3 พื้นที่

สำหรับข้อสังเกตถึงความไม่ถูกต้องในกลไกการขอสัมปทานเหมืองหินนั้น ภาคประชาชนระบุเอาไว้ 6 ประเด็น คือ

  1. โครงการสัมปทานเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่มี บริษัท สตูลไมน์นิ่ง จำกัด เป็นผู้ขอสัมปทาน ปัจจุบันได้รับอนุมัติ EIA และการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าจากกรมป่าไม้แล้ว แต่มีข้อสงสัย ถึงการอนุมัติดังกล่าวทั้ง ความไม่ชอบในกระบวนการการศึกษา EIA ที่ชาวบ้านร้องเรียนไปหลายครั้ง และทาง คชก. ได้รับข้อมูลนี้หรือไม่, เอกสารการสำรวจของกรมป่าไม้ อันเป็นหลักฐานสำคัญสำหรับการอนุญาตหรือไม่อนุญาตนั้น มีความถูกต้องหรือไม่ เพราะในการสำรวจครั้งแรกที่มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้และผู้แทนชาวบ้านร่วมสำรวจด้วย กลับมีข้อเท็จจริงที่ไม่ตรงกัน อย่างเช่น ในการสำรวจครั้งแรกพบว่าพื้นที่ป่าเขาลูกเล็กลูกใหญ่ จัดเป็นป่า zone c ที่หากจะใช้ประโยชน์จะต้องเป็นมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น
แหล่งน้ำซับซึม เขาโต๊ะกรัง (ซ้าย) แหล่งน้ำซับซึม เขาลูกเล็กลูกใหญ่ (ขวา)

2. พบว่าในพื้นที่ขอสัมปทานทั้งเขาลูกเล็กลูกใหญ่ และเขาโต๊ะกรัง มีสภาพเป็นป่าที่มีแหล่งน้ำซับซึม ซึ่งเข้าข่ายตามมาตรา 17 ของ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 ที่ไม่สามารถอนุญาตให้ประทานบัตรทำเหมือง ซึ่งชาวบ้านพยายามนำเสนอผ่านเวทีหรือในการสำรวจไปแล้ว แต่ข้อมูลตรงนี้กลับหายไปไหนและถูกนำเข้าประกอบการพิจารณาในขั้นตอนของการทำอีไอเอ และการอนุมัติการใช้พื้นที่ป่าไม้ด้วยหรือไม่ 

3. กรณีเขาลูกเล็กลูกใหญ่ อ.ทุ่งหว้า ซึ่งเป็นป่ารอยต่อระหว่าง จ.ตรัง พัทลุง และสตูล ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์มันนิอาศัยอยู่นับร้อยชีวิต และเคยมีหลักฐานการสำรวจพบว่ามี ‘ทับ’ หรือ ที่อยู่อาศัยของมันนิในพื้นที่เขาลูกนี้พื้นที่ป่าแห่งนี้คือถิ่นพำนักและดำรงชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์มันนิ ซึ่งเป็นชนเผ่ากลุ่มน้อยในพื้นที่ จ.สตูล ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ได้ถูกนำไปประกอบการพิจารณาในการจัดทำ EIA และการอนุมัติการใช้พื้นที่ป่าด้วยหรือไม่

4. กรณีเขาโต๊ะกรัง พบว่าในกระบวนการดำเนินการศึกษา EIA ภาคประชาชนร้องเรียนหลายครั้ง แต่กลับไม่มีการนำข้อร้องเรียนเหล่านั้นไปสู่การพิจารณาแต่อย่างใด แม้แต่ครั้งล่าสุดที่ก็พบว่าแอบจัดเวทีขึ้น เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ได้รับแจ้งหรือเชิญเข้าร่วมแต่อย่างใด 

5. ความไม่ชัดเจนของนโยบายคณะกรรมการอุทยานธรณีโลกจังหวัดสตูล ต่อแนวทางการบริหารจัดการและการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมและต้องคำนึงถึงฐานทรัพยากรอันมีอยู่จำกัด จังหวัดจึงไม่ควรปล่อยให้มีการขออนุญาตการสัมปทานแหล่งหินอย่างไร้ทิศทาง เพราะในเรื่องนี้จังหวัดสามารถทำเรื่องเสนอไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะกระทรวงฯ ที่ผลักดันให้จังหวัดสตูลเป็นเมืองอุทยานธรณีฯ และยังเป็นกระทรวงที่กำกับการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรณีทั่วประเทศ เพื่อขอให้ละเว้นหรือทบทวนการใช้ประโยชน์แหล่งหินเพื่ออุตสาหกรรมไว้ก่อน เพื่อทำการสำรวจศึกษาแหล่งธรณีวิทยาเพิ่มเติมอันจะเป็นไปตามแนวทางที่ให้ไว้กับองค์การยูเนสโก และถือเป็นอำนาจหน้าที่พึงกระทำได้ หาใช่ปล่อยให้มีการระเบิดทำลายกันอย่างง่ายดายดังเช่นที่เป็นอยู่

6. ในทางนโยบาย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ดำเนินการอย่างเคร่งครัด ภายใต้ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 โดยเฉพาะการยกเว้นหรือให้มีบทเฉพาะกาลในการใช้ประกาศแหล่งแร่ฉบับเดิมที่มีความล้าสมัย คือตั้งแต่ พ.ศ. 2539 ไม่เท่าทันกันสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป จึงเห็นว่ารัฐบาลควรมีการทบทวนแหล่งแร่ทั่วประเทศตามแจตนารมณ์ของกฏหมายฉบับใหม่ด้วย อันรวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการแร่ประจำจังหวัดตามที่กฏหมายกำหนดไว้ อันจะทำให้การกลั่นกรองหรือเลือกแหล่งแร่สามารถใช้กลไกดังกล่าวเป็นผู้ดำเนินการได้เอง และเชื่อว่าจะจัดการความขัดแย้งได้จริง

ยื่น 4 ข้อเสนอ ขอมีส่วนร่วม บริหารจัดการแหล่งธรณีโลกสตูล

ภาคประชาชน จ.สตูล จึงมีข้อเสนอ 4 แนวทาง ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ในฐานะประธานคณะกรรมการอุทยานธรณีโลกจังหวัดสตูล คือ 

1. กรณีการขอประทานบัตรแหล่งหินในพื้นที่จังหวัดสตูลของบริษัทเอกชน ทั้ง 3 พื้นที่ แม้จะมีการดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการของกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการสัมปทาน แต่โดยรวมแล้วถือว่ายังมีความผิดปกติและมีปัญหากับประชาชนในพื้นที่จนนำไปสู่การร้องเรียนเพื่อให้ตรวจสอบการขอประทานบัตรทั้ง 3 กรณี ซี่งเรื่องนี้ต้องการให้จังหวัดติดตามอย่างใกล้ชิด และต้องคำนึงถึงความสูญเสียที่จะตามมาทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม(ป่าต้นน้ำ) อันรวมถึงผลกระทบกับแหล่งอุทยานธรณี การคุกคามถิ่นฐานดำรงชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์มันนิ ทั้งนี้เพื่อมิให้มีการใช้อำนาจในทางราชการไปในทางมิชอบและเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนมากจนเกินไป

2. จังหวัดสตูลควรใช้โอกาสของการเป็นเมืองอุทยานธรณีโลก เสนอไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงอุตสาหกรรมให้ทบทวนการประกาศแหล่งหินใหม่ทั้งจังหวัด ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความตั้งใจจริงที่จะยกระดับการพัฒนาพื้นที่อุทยานธรณีโลกในภาพรวมเพื่อให้มีความก้าวหน้าและเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านอุทยานธรณีของประเทศและของโลกได้อย่างสมความภาคภูมิ ซึ่งต่อเรื่องนี้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มีเจตนาที่จะให้มีการทบทวนแหล่งแร่อยู่แล้ว

3. เสนอพื้นที่อุทยานธรณีโลกเพิ่มเติม อันเป็นไปตามข้อกำหนดขององค์การยูเนสโกที่สามารถกระทำได้ โดยเห็นว่าควรประกาศให้กลุ่มเขาในอำเภอควนโดนรอยต่อกับอำเภอควนกาหลงเป็นเขตอุทยานธรณีฯเพิ่มเติมด้วยเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความสำคัญหลากประการ เช่นการค้นพบกระดูกมนุษย์โบราณ 3,500 ปี พร้อมกับอุปกรณ์เครื่องใช้ในยุคเดียวกัน และยังมีการพบค้นไม่เป็นทางการว่าภูเขาในบางลูกว่ามีซากหม้อไหโบราณที่ควรจะมีการสำรวจเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังมีกุโบร์โบราณอายุกว่า 200 ปี ซึ่งเก่าแก่ที่สุดในจังหวัดสตูล อันแสดงให้เห็นถึงความเป็นชุมชนดั้งเดิมของพื้นที่แห่งนี้ และเมื่อไม่กี่ปีมานี้ได้มีการสำรวจเบื้องต้นโดยนักวิชาการอิสระด้านธรณีพบว่าแหล่งหินบริเวณนี้เป็นแหล่งหินในยุคเดียวกันกับที่ได้ประกาศเป็นอุทยานธรณีโลกไปแล้ว จึงเสนอให้คณะกรรมการอุทยานธรณีโลกจังหวัดสตูลพิจารณาพื้นที่กลุ่มเขาดังกล่าวเป็นพื้นที่ขยายเพิ่มเติมอุทยานธรณีโลกจังหวัดสตูล เพื่อเสนอให้องค์การยูเนสโกได้รับรองต่อไป

และ 4.พัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

“โดยร่วมจัดทำแผนการพัฒนาและการบริหารจัดการอุทยานธรณีโลกจังหวัดสตูลอย่างเป็นระบบ ที่ไม่เพียงแต่การใช้งบประมาณของจังหวัดเท่านั้น แต่ควรเสนอไปยังหน่วยงานระดับกระทรวงฯหรือกับรัฐบาลให้มีการสนับสนุนการขับเคลื่อนในเรื่องนี้อย่างมียุทธศาสตร์ เพื่อให้มีความก้าวหน้าและเป็นโอกาสด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดสตูลสู่ระดับโลก “ 

สมบูรณ์ คำแหง  เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
สมบูรณ์ คำแหง  เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล

ขณะที่ผู้ว่าฯ สตูล เตรียมเสนอความเห็น ข้อห่วงกังวลต่าง ๆ ไปยังหน่วยงาน และฝ่ายนโยบาย ให้รับทราบต่อไป 

“ ในฐานะผู้ว่าฯ เราต้องรับฟังความเห็นของพี่น้องประชาชน คือด้านหนึ่ง ผู้ว่าฯมีหน้าที่ในการรับนโยบายของรัฐบาลมาปฏิบัติ ให้เกิดประโยชน์สุขกับพี่น้องประชาชน แต่อีกส่วนคือรับฟังเสียงประชาชนเพื่อสะท้อนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องข้างบน  ไปยังรัฐบาลด้วย ” 

เอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล

สำหรับกรณีเขาโต๊ะกรัง ที่อยู่ระหว่างดำเนินขั้นตอนต่างๆ เพื่อขอสัมปทานเหมืองหินนั้น ภาคประชาชน ยืนยัน ผู้ว่าฯ จ.สตูล รับปาก จะเสนอความเห็นตามที่มีเสียงคัดค้าน ขณะเดียวกันพวกเขายังเตรียมยื่นฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับการอนุมัติ สัมปทาน เขาลูกเล็กลูกใหญ่ ต่อศาลปกครองในเร็ว ๆ นี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ