ชาวบ้าน ค้าน กพร. ออกประทานบัตรเหมืองหิน ‘เขาลูกเล็กลูกใหญ่’ จ.สตูล

ห่วงกระทบสุขภาพ ทรัพยากรถูกทำลาย เชื่อการดำเนินการอาจเข้าข่ายขัดมติ ครม. ผิด พ.ร.บ.แร่ เตรียมยื่นสอบ สผ. อ้างอนุมัติ EIA ไม่ตรงข้อเท็จจริง ขาดการมีส่วนร่วม

วานนี้ (22 เม.ย.65) กลุ่มอนุรักษ์เขาลูกเล็กลูกใหญ่ ส่งหนังสือถึง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เพื่อขอคัดค้านการออกประทานบัตรและอนุญาตทำเหมืองแร่อุตสาหกรรมในพื้นที่เขาลูกเล็กลูกใหญ่ ต.ป่าแก่บ่อหิน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง เตรียมยื่น “ผู้ว่าฯ สตูล” ชะลอสัมปทานเหมืองหิน ภาคประชาชน ย้ำ ให้ศึกษาแหล่งธรณีสำคัญทั้งจังหวัดก่อน

โดยเนื้อหาในหนังสือ ระบุว่า ตามที่บริษัท สตูลไมน์นิ่ง จำกัด ได้ยื่นขอประทานบัตรที่ 1/2559 กับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานเพื่อการเหมืองแร่  เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 และหลังจากนั้นได้ยื่นขออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ซึ่งกรมป่าไม้ได้อนุญาตให้บริษัทดังกล่าวสามารถเข้าทำประโยชน์ได้ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2564 ไปจนถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2574 รวมระยะเวลา 10 ปี ในพื้นที่ป่าตระ ป่าห้วยหลอด และป่าเขาขุมทรัพย์ ที่ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 7 ตำบลป่าแก่บ่อหิน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล จำนวนเนื้อที่ทั้งหมด 118 ไร่ 2 งาน 12 ตารางวา และขณะนี้กำลังอยู่ในการพิจารณาออกประทานบัตรสำหรับเหมืองแร่ ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่นั้น

กลุ่มอนุรักษ์เขาลูกเล็กลูกใหญ่ และประชาชนในพื้นที่จังหวัดสตูล  ได้เคยทำการคัดค้านคำขอประทานบัตรดังกล่าวหลายครั้ง ด้วยเหตุว่า พื้นที่ดังกล่าวนั้น ยังมีสภาพความอุดมสมบูรณ์ของฐานทรัพยากรที่มีความหลากหลายของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ รวมถึงพันธุ์ไม้หายากประจำถิ่น  ที่ต้องได้รับการคุ้มครองหรือยกเว้นการใช้ประโยชน์ตามความหมายของมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2514  อีกทั้งป่าดังกล่าว ยังเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่มีแหล่งน้ำซับซึม ตามความหมายของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 มาตรา 17 ที่ไหลลงสู่ลำคลองในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น คลองราโพธิ์ คลองลำจะแนะ และคลองหญ้าระ ถือเป็นแหล่งน้ำสำคัญของประชาชนในพื้นที่อำเภอทุ่งหว้า ซึ่งไม่สามารถอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ได้

แหล่งน้ำซับซึม เขาลูกเล็กลูกใหญ่ อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล

ก่อนหน้านี้ ในคำขอประทานบัตรดังกล่าวได้ขอใช้พื้นที่ทั้งหมด 166 ไร่ 2 งาน 58 ตารางวา แต่เมื่อประชาชนในพื้นที่ร้องเรียนให้ตรวจสอบสภาพพื้นที่การขอใช้ประโยชน์ว่า ผิดเงื่อนไข หรือเข้าข่ายต้องยกเว้นตามข้อสังเกตเบื้องต้นนั้นหรือไม่ ทำให้บริษัทจำยอมต้องลดจำนวนการใช้พื้นที่ลงถึง 2 ครั้ง ซึ่งสุดท้ายยอมลดพื้นที่ลงเหลือ 118 ไร่ 2 งาน 12 ตารางวา ตามที่กรมป่าไม้ได้อนุญาตไปแล้ว 

ย้ำทำเหมือง ในพื้นที่ ‘แหล่งน้ำซับซึม’ ขัดกฎหมาย

ทางกลุ่มฯ จึงขออธิบายเรื่องนี้ ว่า ไม่ได้เป็นไปตามข้อเท็จจริงตามที่ได้ทักท้วงไปก่อนหน้านี้แต่อย่างใด ด้วยพบว่าแม้จะลดจำนวนพื้นที่ลง การทำเหมืองหินเพื่ออุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าว ก็จะยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ฐานทรัพยากร และเป็นการทำลายพื้นที่ป่าต้นน้ำ อันเป็นแหล่งน้ำซับซึมอยู่ เนื่องจากภูเขาลูกเล็กลูกใหญ่นั้นมีแหล่งน้ำซับซึมอยู่ในพื้นที่ แม้ว่าพื้นที่ขออนุญาตโดยกรมป่าไม้จะอ้างว่ามีแหล่งน้ำซับซึมอยู่ห่างจากพื้นที่อนุญาตแต่หากพิจารณาจากรายงานการตรวจสอบพื้นที่จะพบว่า บริเวณภูเขาดังกล่าวมีแหล่งน้ำซับซึมที่ต้องห้ามตามกฎหมายแร่ที่ไม่อาจจะอนุญาตให้ทำเหมืองได้  ซึ่งในการนำเสนอข้อมูลการสำรวจประกอบการพิจารณาของกรมป่าไม้ต่อการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวนั้น เชื่อว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริง อันจะนำไปสู่ความเสียหายกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ไม่อาจฟื้นคืนได้อีก และอาจจะเข้าข่ายขัดมติคณะรัฐมนตรี และผิดกฎหมายตามมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560

ทักท้วง สผ. อนุมัติ EIA เหมืองหินไม่ชอบ?

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล และตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ขอประทานบัตร ได้เดินทางไปที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับและอนุมัติการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ในโครงการดังกล่าว เพื่อทักท้วงถึงการอนุมัติรายงานการศึกษาEIA ที่ไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบด้าน และไม่ได้นำข้อร้องเรียนของประชาชนมาประกอบการพิจารณาดังกล่าว จึงทำให้เห็นข้อบกพร่องในกระบวนการศึกษาอย่างเห็นได้ชัด

“โดยเฉพาะการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง จนไม่สามารถนำข้อมูลและข้อเท็จจริงของสภาพพื้นที่เพื่อนำเสนอในเวทีการศึกษาดังกล่าวได้อย่างตรงไปตรงมา ดังเช่นข้อมูลด้านระบบนิเวศความอุดมสมบูรณ์ของป่า และสภาพของพื้นที่ต้นน้ำหรือแหล่งน้ำซับซึม  และรวมถึงข้อมูลของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ซึ่งเป็นชนเผ่าดั้งเดิมในพื้นที่จังหวัดสตูล ที่พบว่า ได้ใช้พื้นที่ป่าดังกล่าวเป็นแหล่งอาศัยและดำรงชีวิตของคนกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน“ 

ดังนั้น การปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่จึงเป็นการละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรง อันเป็นการไม่ทำตามระเบียบในกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแว้ดล้อมอย่างครบถ้วน จนทำให้ผลการศึกษาที่ออกมานั้นไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางกลุ่มจะดำเนินการร้องเรียนเพื่อให้มีการตรวจสอบต่อไป

กลุ่มชาติพันธุ์มันนิ ในพื้นที่ อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล

ห่วงเหมืองหิน กระทบประเมิน ‘อุทยานธรณีโลกสตูล’

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ยังได้ยื่นหนังสือถึงองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในฐานะองค์กรที่รับรองให้จังหวัดสตูลเป็น ”แหล่งอุทยานธรณีระดับโลก” หรือ Satun Geopark แห่งแรกของประเทศไทย ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสตูล ซึ่ง อ.ทุ่งหว้า เป็น 1 ใน 4 อำเภอที่ถูกประกาศให้อยู่ในแหล่งอุทยานธรณีโลกด้วยเช่นกัน ด้วยความห่วงกังวลว่า การอนุญาตประทานบัตรและให้ใช้พื้นที่ป่าเขาลูกเล็กลูกใหญ่ จะยิ่งเป็นการทำลายภาพลักษณ์และแหล่งคุณค่าสำคัญของพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่แค่แหล่งธรณีวิทยาที่จะต้องศึกษาสำรวจเพิ่มเติมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิถีวัฒนธรรมของสังคมที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ อันรวมถึงการมีอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์มานิจังหวัดสตูลด้วยเช่นกัน  ซึ่งเชื่อว่าหากมีการอนุมัติการใช้พื้นที่ป่าดังกล่าว ก็จะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของชาติพันธุ์กลุ่มนี้แน่นอน และอาจจะส่งผลกระทบต่อการประเมินขององค์การยูเนสโกต่อความเป็นเมืองอุทยานธรณีโลกจังหวัดสตูล ที่กำลังจะเริ่มในปีนี้ด้วยเช่นกัน

กลุ่มอนุรักษ์เขาลูกเล็กลูกใหญ่ และประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว จึงขอคัดค้านการออกประทานบัตรและใบอนุญาตทำเหมืองของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่จะออกแห่บริษัท สตูลไมนิ่ง จำกัด ให้ใช้เป็นที่ตั้งโรงงานและทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ในพื้นที่ป่าดังกล่าวทั้ง 118 ไร่ 2 งาน 12 ตารางวา ตามเหตุผลที่ได้กล่าวไว้ 

หลังจากนี้ ทางกลุ่มฯ จะดำเนินการร้องเรียนไปยังรัฐบาล และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้ตรวจสอบ สผ. ในฐานะหน่วยงานที่อนุมัติ EIA ซึ่งเชื่อว่ามีปัญหา รวมถึงการขอให้ตรวจสอบกรมป่าไม้ ในฐานะผู้อนุญาตการใช้พื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่โครงการ ว่า ดำเนินไปด้วยความถูกต้องตามระเบียบกฏหมายอย่างครบถ้วนหรือไม่ต่อไป พร้อมขอให้ทาง กพร. ชี้แจงเรื่องนี้กลับมาด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ