กรมทรัพยากรธรณี ชี้ การขอสัมปทานระเบิดเหมืองหิน จ.สตูล ในและนอกเขตอุทยานธรณีโลกสามารถทำได้

แต่ต้องไม่กระทบแหล่งธรณีสำคัญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ด้านภาคประชาชน เรียกร้องกรมฯ ปกป้องความเสียหาย พร้อมสำรวจผลกระทบและข้อมูลเพิ่มเพื่อขยายพื้นที่อุทยานธรณีโลก


เพจเฟซบุ๊ก “ กรมทรัพยากรธรณี “ ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณี เครือข่าย ปชช. ร้องเรียน หลังภาคเอกชนขอสัมปทานแหล่งหิน ในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล โดยระบุว่าตามที่ปรากฏเป็นข่าว เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย และสื่อมวลชนหลายสื่อ กรณีเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ยื่นหนังสือร้องเรียนกรณีบริษัทเอกชนขอสัมปทานระเบิดเหมืองหิน ในพื้นที่จังหวัดสตูล ซึ่งได้รับการรับรองให้เป็นอุทยานธรณีระดับโลกของประเทศไทย บริเวณภูเขา จำนวน 3 ลูก ได้แก่ เขาลูกเล็กลูกใหญ่ อำเภอทุ่งหว้า เขาจูหนุงนุ้ย อำเภอละงู และเขาโต๊ะกรัง อำเภอควนโดน และอำเภอควนกาหลง กรมทรัพยากรธรณี ขอเรียนชี้แจงข้อมูลและข้อเท็จจริง ดังนี้

1.กรณีการขออนุญาตทำเหมืองหิน อำเภอควนโดน และอำเภอควนกาหลง เป็นการขอนุญาตทำเหมืองหิน ที่อยู่นอกพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล และ กรณีเขาลูกเล็กลูกใหญ่ อำเภอทุ่งหว้า และเขาจูหนุงนุ้ย อำเภอละงู เป็นการขออนุญาตทำเหมืองหิน ในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล สามารถดำเนินการได้ทั้งสองกรณี แต่ต้องไม่กระทบต่อแหล่งธรณีวิทยาที่สำคัญ หรือพื้นที่นั้นต้องไม่เป็นแหล่งธรณีวิทยา หรือแหล่งประเภทอื่น ๆ ทั้งนี้ การขออนุญาตประกอบกิจการและการทำเหมืองต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยแร่อย่างเคร่งครัด โดยต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนในพื้นที่ตามหลักการที่กฎหมายกำหนด และกรณีที่พบซากดึกดำบรรพ์ที่สำคัญต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551

2.อุทยานธรณีโลกสตูล ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอทุ่งหว้า อำเภอมะนัง อำเภอละงู และอำเภอเมือง กรณีการขอขยายพื้นที่อุทยานธรณี ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก คือกำหนดให้อุทยานธรณีโลกใด ๆ ที่จะขอขยายพื้นที่ออกไปนั้น พื้นที่ที่จะขยายจะต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของพื้นที่ทั้งหมดที่เคยประกาศไว้ โดยต้องทำเรื่องเสนอไปที่ยูเนสโก ทั้งนี้ ต้องมีเหตุผลรองรับที่เพียงพอ เช่น การค้นพบแหล่งที่มีความสำคัญทางธรณีวิทยาอื่น หรือแหล่งที่สำคัญอื่น ๆ หรือเหตุผลในเชิงการบริหารจัดการ ซึ่งหากมีการขอขยายพื้นที่เพิ่มเติม จะเป็นการดำเนินการเหมือนการสมัครขอรับการรับรองใหม่ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการไม่ได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลก หากมีเหตุผลไม่เพียงพอ ทั้งนี้ สภาอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกจะมีการพิจารณาในการประชุม ช่วงเดือนกันยายนของทุกปี

สมบูรณ์ คำแหง ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล

สมบูรณ์ คำแหง ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล มองว่าการออกมาชี้แจงของกรมทรัพยากรธรณี ถือเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะกรณีแนะนำเรื่องการขยายพื้นที่อุทยานธรณีโลกควรต้องทำอย่างไร ซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญของคนสตูล โดยเฉพาะทางจังหวัด รวมถึงศูนย์ปฏิบัติการภายใต้กรมทรพยากรธรณีในพื้นที่ ว่าจะทำอย่างไรให้มีการขยายพื้นที่ธรณีโลกมากขึ้น  เพราะจังหวัดสตูลมี 7 อำเภอ ตอนนี้พื้นที่ธรณีโลกครอบคลุม 4 อำเภอ ในส่วนของอีก 3 อำเภอ ที่ยังไม่ใช่พื้นที่ประกาศเป็นอุทยานธรณีโลก กลุ่มนักวิชาการเดิมที่เคยสำรวจและร่วมกันผลักดันพื้นที่อุทยานธรณีโลกครั้งก่อน ก็ยืนยันว่า พบแหล่งหินสำคัญ ในอำเภอควนโดน และอำเภอควนกาหลง  จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่กรมทรพยากรธรณีและทุกส่วนที่เกี่ยวข้องต้องมาสำรวจพื้นที่เพิ่มเติม ผลักดันเป็นข้อเสนอขยายพื้นที่มากขึ้น และตามเงื่อนไขของยูเนสโก กำลังจะมีการประเมินอุทยานธรณีโลกในรอบ 4 ปี ถ้าหากมีการเสนอแผนและผลการสำรวจที่พบหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่เพิ่มเติมลักษณะนี้ ก็ มีความเป็นไปได้มากขึ้นของการขยายพื้นที่ธรณีโลก

แต่อีกด้านก็มองว่าการชี้แจงของกรมทรัพยากรธรณี  เสมือนจะบอกว่า พื้นที่สัมปทานหินบางส่วนไม่ได้อยู่ในแหล่งธรณีโลก ก็มีความเป็นไปได้ แต่ต้องเคารพกติกากฎหมาย ตรงนี้อาจทำให้เกิดการความเข้าใจที่ไม่ได้มองผลกระทบทั้งภาพรวม เพราะพื้นที่อุทยานธรณีโลกในความเป็นจริงถูกมองเป็นภาพรวมของทั้งจังหวัดอยู่แล้ว และการจะให้มีการระเบิดเหมืองหินทีเดียว 3 ลูก นั้นมีความผิดปกติอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงขอเสนอให้กรมทรัพยากรธรณี ใช้โอกาสนี้ในการจัดบุคลากร มาศึกษาสำรวจพื้นทื่เพิ่มเติม รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากมีการสัมปทานแหล่งหินทั้ง 3 ลูก

“ เราต้องขอขอบคุณ กรมทรัพยากรธรณี ที่ประกาศอุทยานธรณีโลก ขณะเดียวกัน กรมฯยังมีบทบาทสำคัญ ในการทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองทรัพยากรที่ทรงคุณค่าของจังหวัดอย่างเต็มกำลัง จึงควรจัดสรรทรัพยากรบุคคล มาสำรวจพื้นที่เพิ่มเติม เพื่อขยายการศึกษาขยายพื้นที่อุทยานธรณีโลกได้มากขึ้น ”

สมบูรณ์ คำแหง ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล

เครือข่ายฯ ยังเรียกร้องไปยัง อีก 2 หน่วยงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ต้องชี้แจงว่า อนุมัติผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ในโครงการสัมปทานเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างในพื้นที่อำเภอทุ่งหว้า(เขาลูกเล็กลูกใหญ่) ได้อย่างไร กรณีการยื่นคัดค้านการจัดเวทีที่ขาดการมีส่วนร่วมที่เครือข่ายยื่นร้องไปหายไปหรือตกหล่นตรงไหน

รวมไปถึง กรมป่าไม้ ที่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าจำนวน 118 ไร่ ซึ่งได้เคยมีการสำรวจร่วมกันระหว่างนักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตูล ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ โดยพบว่าเป็นพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ (Zone C) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 และ 17 มีนาคม 2535 และยังพบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 ตามมติคณะรัฐมนตรี 7 พฤศจิกายน 2532 ซึ่งหากจะให้อนุญาตจะต้องเป็นมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น จึงมีข้อสงสัยว่ากรมป่าไม้ได้ใช้อำนาจใดในการออกใบอนุญาตดังกล่าว ที่สำคัญพื้นที่ตรงนั้นเป็นที่อยู่อาศัย แหล่งวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งถือเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมของกลุ่มมันนิด้วย 

กรณีดังกล่าว เป็นผลมาจากเมื่อวันที่ 22 มี.ค.65 เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ให้เร่งตรวจสอบการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีเดินหน้า EIA สัมปทานแหล่งหิน 3 ลูก อุทยานธรณีโลก จ.สตูล ประกอบด้วย เขาลูกเล็กลูกใหญ่ ในอำเภอทุ่งหว้า  ,  เขาจูหนุงนุ้ย ในอำเภอละงู และเขาโต๊ะกรัง ในอำเภอควนโดน เชื่อมโยงอำเภอควนกาหลง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ