กมธ.สันติภาพฯ ฝาก สมช. – มทภ.4 เฝ้าระวังผลพวง ‘คดีตากใบ’ หลัง 25 ต.ค.นี้

แม่ทัพภาคที่ 4 ยอมรับ บทเรียนตากใบ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการผิดพลาด ย้ำไม่มีใครอยากให้เกิด ปธ.กมธ.สันติภาพ แนะระวังการจัดการฝูงชน เฝ้าระวังมือที่สาม รับมือเหตุรุนแรงมากขึ้น ขณะที่ สมช. ยันเดินหน้าตั้งคณะพูดคุยสันติสุขรอบใหม่

วันนี้ (24 ต.ค. 67) คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กมธ.สันติภาพชายแดนใต้) เชิญ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงกลาโหม ซึ่งได้มอบหมายให้ ฉัตรชัย บางชวด รักษาราชการแทน เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และคณะ พร้อมด้วย พล.ท. ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เข้าหารือการรับมือ ประเมินสถานการณ์หลังคดีตากใบหมดอายุความ วันที่ 25 ตุลาคมนี้

พล.ท. ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4

โดย พล.ท. ไพศาล ยอมรับว่า เหตุการณ์ตากใบเป็นความผิดพลาดในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น มีฝ่ายตรงข้ามพยายามอาศัยความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่เคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐ ตนเองต้องการที่จะใช้กระบวนการยุติธรรมในการเปิดเผยความจริง ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ 2 คนที่ยังคงอยู่ในราชการ ซึ่งก็ได้มีความพยายามที่จะติดตามตัวให้มาต่อสู้คดีในศาล และชี้แจงว่าพยายามกำชับเจ้าหน้าที่ให้ทำตามกฎหมาย

จาตุรนต์ ฉายแสง ประธาน กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ แสดงความกังวล ที่มีเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 48 ไปเยี่ยมเยียนโจทก์บางคนที่ยื่นฟ้องคดีตากใบใน อ.สุไหงปาดี และเจาะไอร้อง ซึ่งทำให้ชาวบ้านรู้สึกถูกคุกคาม โดย กมธ. ได้ขอความร่วมมือจากกองทัพภาคที่ 4 ให้รับรองความปลอดภัยและยุติปฏิบัติการเหล่านั้น 

จาตุรนต์ ฉายแสง ประธาน กมธ.สันติภาพชายแดนใต้

กมธ. ยังได้สอบถามว่ากองทัพภาคที่ 4 มีการเตรียมการเรื่องการรับมือกับการจัดการฝูงชนเพื่อให้สามารถควบคุมประชาชนที่ชุมนุมโดยสันติอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสีย และผิดพลาดในอนาคต ซึ่ง พล.ท. ไพศาล ให้ข้อมูลว่า หน้าที่หลักในการควบคุมประชาชนในที่ชุมนุมเป็นหน้าที่ของตำรวจในพื้นที่ ซึ่งได้รับการอบรมเรื่องการอบรมควบคุมฝูงชนมา โดย ประธาน กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ ให้ข้อสังเกตว่า ในการดำเนินการที่มีหลายหน่วยสนธิกำลังกัน จะมีปัญหาในเรื่อง accountability ความรับผิดชอบ ว่าใครเป็นผู้คุมสถานการณ์หลักใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ใครจะเป็นผู้ชี้แจงกับสาธารณะ จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความเชื่อถือต่อปฏิบัติการของรัฐ ซึ่งที่ประชุม กมธ. ฝากให้แม่ทัพภาค 4 ปรับปรุงการควบคุมฝูงชน การบังคับกฎหมาย และทำให้เกิดความยุติธรรมต่อไป 

ขณะที่ รักษาราชการแทน เลขาธิการ สมช. บอกว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้กล่าวคำขอโทษ และได้เยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบแล้ว และทางตำรวจก็ได้พยายามดำเนินการในการติดตามตัวอย่างเต็มที่ ซึ่งกระบวนการยุติธรรมก็ได้เดินหน้าไประดับหนึ่ง

ฉัตรชัย บางชวด รักษาราชการแทน เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

โดยแจ้งว่าได้มีข้อสั่งการจาก ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ให้เฝ้าระวังการก่อเหตุ ติดตามตัวผู้กระทำผิด และ การยกระดับการเตรียมการเพื่อรับมือกับการชุมนุม โดยเคารพสิทธิ และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ รักษาความปลอดภัยและป้องกันภัยจากมือที่สาม

ทั้งนี้หลังวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ทางฝ่ายรัฐได้เตรียมดำเนินการในประเด็นสำคัญ ๆ เพื่อรับมือผลกระทบที่จะตามมา ดังนี้

  1. มีการคาดการณ์ว่าน่าจะมีการก่อเหตุรุนแรงมากขึ้น ซึ่งภาครัฐก็เฝ้าระวังพื้นที่อย่างเข้มข้นมากขึ้น 

  2. ได้มีกำชับกับหน่วยปฏิบัติให้มีการดำเนินการตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการห้ามซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัย 

  3. ดำเนินการเรื่องการเยียวยาทางจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งจะดูว่ายังจะทำอะไรเพิ่มเติมได้บ้าง นอกจากการเยียวยาในอดีตที่ดำเนินการมาแล้ว

  4. เรื่องกระบวนการพูดคุย รัฐจะเดินหน้าเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยฯ และการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป    

ส่วนประเด็นเรื่องการพูดคุยสันติสุข ในระยะต่อไป ที่ไม่ใช่เรื่องของกรณีของตากใบเท่านั้น โดย สมช. ชี้แจงว่า จะมีการทำข้อเสนอต่อรัฐบาล โดยจะแต่งตั้งคณะพูดคุยสันติสุขใหม่ ซึ่งภาครัฐยินดีที่เปิดพื้นที่ในการแสดงออกทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์ โดยดำเนินการภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย ที่มีฝ่ายมาเลเซีย ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกที่ “มีความจริงจังอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนใรหลายปีที่ผ่านมา” และมาเลเซียจะเป็นประธานอาเซียนในปีหน้าด้วย

นอกจากนั้นฝ่ายรัฐกำลังพิจารณาเรื่องการลดการใช้กฎหมายพิเศษ และอาจจะมีการออกกฎหมายอื่นมาแทนที่การใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน รวมทั้งมีการแยกแยะกลุ่มผู้เห็นต่าง เพื่อจะมีมาตรการที่เหมาะสมที่มีลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น ผู้ที่จะคืนสู่สังคม หรือผู้ต้องขัง จะดูและอย่างไร เป็นต้น

เช่นเดียวกับการพิจารณาเรื่องส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคม เรื่องการพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกับเรื่องอัตลักษณ์วัฒนธรรมโดยรวมแล้วข้อเสนอของ สมช.ที่จะเสนอต่อรัฐบาลจะเป็นประโยชน์ต่อการลดความขัดแย้ง และสร้างสันติภาพในชายแดนภาคใต้

“รัฐบาลควรต้องสรุปบทเรียนจากเหตุการณ์ตากใบ ที่ผ่านมาตั้งแต่การปฏิบัติต่อผู้ชุมนุม การดำเนินคดี ซึ่งระหว่างการชุมนุม และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากนั้นเป็นบาดแผลต่อสังคมไทย ต่อมามีความพยายามที่จะดำเนินคดีในระยะหลังนี้ จะพบว่าไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเลย ต้องหาทางเยียวยาเพิ่มเติม และหาทางบังคับใช้กฎหมาย ใช้กระบวนการยุติธรรมให้เป็นธรรมกับทุกฝ่ายได้จริง รัฐบาลควรจะแสดงท่าทีหรือมียุทธศาสตร์และนโยบายและมาตรการอย่างไรเพื่อฟื้นคืนความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย”  

จาตุรนต์ ฉายแสง

กมธ. ยังสนับสนุนการพูดคุยสันติภาพฯ เพื่อเป็นพื้นที่ในการแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติ ในขณะที่การพูดคุยเจรจายังคงดำเนินอยู่ ขอให้ทุกฝ่ายละเว้นการใช้ความรุนแรง และใช้พื้นที่ทางการเมืองในการแสดงออกซึ่งความเห็นและข้อเรียกร้อง เพื่อแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อการหาทางสร้างสันติภาพ และแก้ไขปัญหา ความขัดแย้งในชายแดนภาคใต้ในระยะเปลี่ยนผ่าน

ทั้งนี้ กมธ. จะเชิญหน่วยงานความมั่นคงมาอีก ซึ่งไม่ใช่แค่ให้ข้อมูลประเด็นเรื่องตากใบ แต่เป็นเรื่องการสร้างสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อนำมาใช้ทำรายงานของ กมธ. ที่หลังจากรับฟังประชาชนจากในพื้นที่มาแล้ว ก็จะนำความเห็นของหน่วยงานความมั่นคงมารวบรวมเป็นข้อเสนอในรายงานของ กมธ. ด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active