เปิดเวทีรับฟังความเห็น แก้ไข พ.ร.บ. บริหารราชการกรุงเทพฯ

กมธ. พัฒนาการเมืองฯ เปิดเวทีรับฟังความเห็น แก้ไข พ.ร.บ. บริหารราชการกรุงเทพฯ หลายฝ่ายเห็นพ้องเลือกตั้ง ‘นายกเทศมนตรีเขต’ กระจายอำนาจท้องถิ่น 2 ระดับ

วันนี้ (18 ตุลาคม 2567) คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชนสภาผู้แทนราษฎร เปิดเวทีรับฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครและการเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดงบประมาณกรุงเทพมหานคร เพื่อนำข้อเสนอแนะจากทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ และเอกชน ไปประมวลผลเพื่อเตรียมจัดทำร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวให้ตอบโจทย์ต่อการทำงานและพัฒนาในท้องที่กทม. มากยิ่งขึ้น

เลือกตั้งนายกเทศมนตรีเขต กระจายอำนาจท้องถิ่น 2 ระดับ

ด้วย พ.ร.บ.บริหารราชการ กทม. ฉบับปัจจุบัน ถูกใช้มาเป็นเวลา 4 ทศวรรษตั้งแต่ปี 2528 และไม่ได้มีการแก้ไขให้เท่าทันบริบทของกรุงเทพฯ ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว พริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ เปิดเผยว่า แม้กรุงเทพฯ จะเป็นเขตการปกครองเดียวในประเทศที่มีอำนาจและทรัพยากรในการบริหารท้องถิ่นอย่างเต็มกำลัง และสามารถเลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นของตัวเองได้ แต่ด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และความหนาแน่นที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ ‘ระยะทาง’ ระหว่างประชาชนในพื้นที่ กับ ผู้ว่าฯ ห่างเหินมากขึ้น และการจัดการจากหน่วยงาน กทม. ไม่คล่องตัวมากพอ

พริษฐ์ พร้อมทั้งคณะกรรมาธิการจึงเล็งเห็นว่า ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ สามารถปลดล็อกศักยภาพกทม. ด้วยการยื่นร่างกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.บริหารราชการฯ และวันนี้เป็นครั้งแรกที่มีการเปิดรับความเห็นจากประชาชน โดยมีอยู่ 2 ประเด็นหลักที่จะเพิ่มลงไปในรายละเอียดของร่างกฎหมายฉบับใหม่ ได้แก่

  • โมเดลท้องถิ่น 2 ระดับ: จัดให้มีการเลือกตั้งระดับเขตการปกครองย่อยภายในพื้นที่ กทม. เช่น การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีระดับเขต หรืออาจจะเป็นระดับ ‘กลุ่มเขต’ เพื่อกระจายอำนาจในการรับผิดชอบพื้นที่ ไม่ให้รวมศูนย์อำนาจการบริหารอยู่ที่ผู้ว่าฯ เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ว่าฯ สามารถมุ่งเน้นทำงานในระดับนโยบายภาพรวมได้มากขึ้น และทำให้ปัญหารายละเอียดเชิงพื้นที่มีคนรับผิดชอบโดยตรง
  • การขยายอำนาจการบริหารและแก้ไขปัญหา: ปัญหาส่วนใหญ่ในพื้นที่ กทม. เช่น ปัญหาการจราจร ปัญหาน้ำท่วม มักเป็นประเด็นที่คนกรุงเทพฯ อยากให้ผู้ว่าฯ เร่งแก้ไข แต่มักติดล็อกด้วยอำนาจการจัดการของกทม. ที่มีอยู่อย่างจำกัด การแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะสามารถปลดล็อกให้ กทม. สามารถมีอำนาจจัดการปัญหาในพื้นที่ของตัวเอง โดยย่นย่อเรื่องการประสานงานหรือบูรณาการข้ามหน่วยงานไปได้ แต่ในรายละเอียดก็ต้องมาพิจารณากันอีกทีหนึ่ง

“ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในวันนี้ กรุงเทพฯ เป็นเขตการปกครองที่มีความพร้อมมากที่สุดทั้งเรื่องของอำนาจและทรัพยากร แต่ด้วยขนาดของเมืองและความหนาแน่นประชากรที่เพิ่มขึ้น เราจำเป็นต้องมีการพูดคุยกันถึงรายละเอียดของโครงสร้างการบริหารกันใหม่ เพื่อให้การทำงานของกลไกท้องถิ่น มีเสียงของพี่น้องประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น”

พริษฐ์ วัชรสินธุ

ด้าน ศ.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า ‘โมเดลท้องถิ่น 2 ระดับ’ คือการกระจายอำนาจ ทำให้คนกทม. สามารถเลือกตั้งได้ 2 หน คือการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีระดับเขต ซึ่งเป็นโมเดลที่ใช้กันในหลายเมืองใหญ่ต่างประเทศ เช่น มหานครลอนดอน ที่ส่วนกลางจะดูประเด็นในเชิงภาพรวม เช่น การขนส่งมวลชน การตำรวจ การบรรเทาสาธารณภัย และการจัดการพาณิชยกรรม ขณะที่ประเด็นที่เหลือทั้งหมดจะโอนอำนาจให้นายกฯ เขตและเขตพื้นที่เป็นคนรับผิดชอบโดยตรง

อย่างไรก็ตาม ศ.ศุภสวัสดิ์ ไม่ได้เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง ‘นายกเทศมนตรี’ (ยังไม่ใช่ชื่อตำแหน่งอย่างเป็นทางการ) กันในทุกเขต เพราะจะมีความทับซ้อนกันในเชิงพื้นที่และอาจสร้างความวุ่นวายตามมาได้ แต่ตนเห็นว่าควรเป็นการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีในระดับ ‘กลุ่มเขต’ ซึ่งไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป มีอำนาจกว้างขวางพอที่จะยกระดับพื้นที่ได้ในองค์รวม ทั้งนี้ ในส่วนของรายละเอียดจำเป็นต้องมีการออกแบบอำนาจ หน้าที่ และความสัมพันธ์ระหว่างนายกเทศมนตรีและผู้ว่าฯ ให้ดี

เปิดช่องหารายได้ของ กทม. ลดการพึ่งพาส่วนกลาง

ผศ.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การกระจายอำนาจทางการเมืองไม่อาจประสบความสำเร็จได้ ถ้าไม่มีงบประมาณสำหรับจัดหาบริการสาธารณะ โดยกรุงเทพฯ มีรายได้ 3 ช่องทางหลัก คือ รายได้จัดเก็บเอง, รายได้จากรัฐจัดสรร, และรายได้จากเงินอุดหนุน โดยส่วนมากมาจากรายได้จากรัฐจัดสรรที่เป็นงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งมีสัดส่วนราว ๆ 60 – 70% สะท้อนการพึ่งพาจากส่วนกลาง ถ้ารัฐบาลส่วนกลางมีการปรับนโยบาย ปรับลดภาษีท้องถิ่น จะส่งผลต่องบประมาณท้องถิ่นอย่างมาก

“เมื่อพูดถึงการกระจายอำนาจทางการเมืองให้ท้องถิ่น แค่เลือกตั้งอย่างเดียว ไม่อาจสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ กฎหมายนี้ต้องวางรากฐาน ทำให้ท้องถิ่นแข็งแรงพอที่จะยืนอยู่ด้วยตัวเอง หารายได้มาเป็นงบประมาณ และจัดหาเป็นบริการสาธารณะให้กับชุมชน”

ผศ.ดวงมณี เลาวกุล

ดวงมณี ชี้ว่า ท้องถิ่นส่วนใหญ่ในไทยมีรายได้จัดเก็บเองราว ๆ 10% ขณะที่ กทม. มีศักยภาพมากที่สุดจากทุกท้องถิ่น ก็จัดเก็บได้เพียง 18 – 20% ของงบฯ เท่านั้น ดังนั้น โจทย์สำคัญคือ พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ จะวางอำนาจอย่างไรให้ กทม. มีรายได้จากการจัดเก็บเองมากขึ้น และกลายเป็นรายได้หลักขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยยกตัวอย่างการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นรายได้อันดับ 1 ที่กทม. จัดเก็บได้เอง แต่รัฐบาลมีนโยบายลดภาษีส่วนนี้เพื่อบรรเทาปัญหาปากท้องช่วงโควิด-19 ส่งผลต่อรายได้กทม. ฉะนั้น รัฐบาลส่วนกลางต้องหันมาคุยกับท้องถิ่น หรือต้องมีการชดเชยรายได้เพิ่มเติม

กทม. หาเงินจากไหน
หมายเหตุ: ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเริ่มจัดเก็บในปี 2563 และมีอัตราจัดเก็บเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
จาก 1,598 ล้านบาทในปี 2564 ขึ้นเป็น 13,046 ล้านบาทในปี 2565 จึงกลายเป็นรายได้อันดับ 1 ที่กทม. จัดเก็บเองได้

พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ก่อนเลือกผู้ว่าฯ ใหม่ เป็นไปได้?

ต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม. เป็นท้องถิ่นที่เสมือนย่นย่อโครงสร้างประเทศ มีผู้ว่าฯ เสมือนนายกรัฐมนตรี มีสมาชิกสภากรุงเทพฯ เสมือนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีกลุ่มสำนักเสมือนกรม กอง และโครงสร้างนี้มีพัฒนาการเรื่อยมา จนตอนนี้มีเขตการปกครองย่อยทั้งสิ้น 50 เขตในกทม. จึงมีความจำเป็นที่คนกรุงเทพฯ จะต้องได้เลือกตั้งนายกเทศมนตรีเขต เพื่อช่วยดูแลแก้ไขปัญหาในกรุงเทพฯ ได้ทันท่วงที

“เราใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้มาแต่ปี 2528 และไม่เคยถูกแก้ไขเลย แก้ไขยากมาก แต่ไม่ว่ามันจะแก้ได้ช้าหรือเร็วอย่างไรก็ตาม สักวันคนกรุงเทพฯ ต้องได้เลือกตั้ง [นายกเทศมนตรีเขต] เพื่อมาเป็นตัวแทนของประชาชน”

ต่อศักดิ์ โชติมงคล

ต่อศักดิ์ย้ำว่า เราต้องไม่นำเขตการปกครองมาเป็นเส้นตีกรอบการพัฒนา เพราะปัญหามันเกิดขึ้นไม่เลือกพื้นที่ เพราะฉะนั้น ถ้าจะแก้ไขให้มีประสิทธิภาพ ต้องแยกแยะว่า ‘ขอบเขตการจัดการ’ คืออีกเรื่องหนึ่ง และต้องคำนึงถึงจำนวนประชากรที่กระจายตัวไม่เท่ากัน และอย่าลืมสร้างกลไกของหน่วยราชการส่วนล่างสุด เพื่อเปิดช่องให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายด้วย ไม่อย่างนั้น การสร้างท้องถิ่นก็จะต้องยึดตามการบริหารของยุทธศาสตร์ชาติในภาพใหญ่ ซึ่งไม่สะท้อนความต้องการพื้นที่

ต่อศักดิ์ ทิ้งท้ายว่า การจัดทำร่างกฎหมายนี้หากไปได้สวย อาจเสร็จทันใช้ ก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งใหม่ในปี 2569 โดยส่วนราชการอย่างกทม. จะมีการจัด Hackathon เพื่อรับฟังความเห็นจากหลายภาคส่วนภายในสิ้นปี 2567 นี้ เพราะการแก้ไขกฎหมายขนาดใหญ่จำเป็นต้องรับฟังความเห็น จากนั้นจึงเตรียมจัดทำเป็นร่างเสนอต่อรัฐสภา

ขณะที่กลไกนิติบัญญัติ พริษฐ์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ ยืนยันว่าภายหลังศึกษาและรับฟังความเห็น จะมีการยื่นร่างนี้ต่อรัฐสภา พร้อมกันนี้พรรคประชาชนในฐานะพรรคการเมืองที่มีผู้แทนจากกทม. แทบทุกเขต จะเตรียมยื่นฉบับของพรรคด้วย และหวังอยากให้ทุกพรรคที่เหลือร่วมกันเสนอร่างประกบเข้ามา เพื่อที่จะเข้าสู่การพิจารณาในสภาพร้อมเพรียงกัน เพราะการยกระดับท้องถิ่นอย่างกรุงเทพฯ เป็นวาระสำคัญที่ทุกคนเห็นพ้องกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active