ผู้สมัคร สว. ที่ไม่ได้ไปต่อระดับประเทศ ถามหาความเที่ยงธรรมของ กกต. ชี้ปัญหาหลายจุด ขณะที่ ตัวแทน iLaw รับสภาพ ระบบการเลือกไม่เอื้อประชาชน เข้าสังเกตการณ์ยาก
วันนี้ (17 มิ.ย. 67) รสนา โตสิตระกูล อดีต สว. ในฐานะผู้สมัคร สว. กลุ่ม 17 กรุงเทพฯ ให้สัมภาษณ์รายการตรงประเด็น ไทยพีบีเอส ว่า ตั้งข้อสังเกตต่อการเลือก สว. ในระดับจังหวัด โดยพบปัญหาของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คือ การลงคะแนนไม่เป็นความลับ ทำให้เห็นว่าใครเลือกใคร ซึ่งไม่ต่างกับการไม่ให้หันกล่องลงคะแนนให้ผู้อื่นเห็น แต่สิ่งนี้ กกต. เป็นคนทำเอง ส่วนหีบลงคะแนนก็มีการแยกตามกลุ่ม เมื่อขานนับคะแนนก็เรียกทีละกล่อง ทำให้รู้ว่ากลุ่มไหนเลือกเบอร์อะไรบ้าง หากมีการทุจริต หรือจ้างก็สามารถเช็กกันได้
รสนา บอกด้วยว่า กกต. มีหน้าที่ที่จะทำให้การเลือกตั้ง สุจริต และเที่ยงธรรม เพราะฉะนั้นต้องเป็นความลับ และอีกประเด็นคือหากย้อนดูรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 มาตรา 107 วรรคที่ 3 ระบุไว้ว่ากระบวนการเลือกเพื่อให้ได้ สว. เป็นผู้แทนประชาชนในระดับประเทศ ซึ่งก็ตั้งคำถามเป็นแบบนั้นจริงหรือไม่
การเลือกแบบกลุ่มอาชีพของ กกต. เป็นการให้ผู้สมัครเลือกกันเอง รสนา จึงตั้งคำถามว่า “เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยแบบไหน ?” การเลือกแบบนี้เป็นการขัดผลประโยชน์ กกต. ได้ตัดสิทธิและหน้าที่ของประชาชนในการเลือก สว. ครั้งนี้
ขณะที่ วรกร ไหลหรั่ง ผู้สมัคร สว. กลุ่ม 15 กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีทั้งผู้สูงอายุ ผู้พิการ ชาติพันธุ์ และผู้มีอัตลักษณ์ที่หลากหลาย มีประเด็นคำถาม ว่า ทำไมถึงไม่แยกกลุ่มผู้พิการ เพื่อให้มีความชัดเจนขึ้น และลดการแข่งขัน เนื่องจากรู้สึกว่า ผู้พิการถูกตีกรอบ หลาย ๆ ครั้งก็เป็นปัญหาซึ่งทำให้เกิดลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งก็มีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจริง ๆ รวมถึงกลุ่มอัตลักษณ์ต่าง ๆ เวลาพูดคุยกันก็เข้าไม่ค่อยถึง เพราะติดด้วยข้อจำกัดทั้งปริมาณจำนวนคน
โดยในระดับจังหวัดของกรุงเทพฯ กลุ่มที่ 15 มี 135 คน รู้สึกทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงมาก ด้วยจำนวนที่มากกว่ากลุ่มอื่น นอกจากนี้รู้สึกว่าการปฏิบัติต่อผู้พิการของเจ้าหน้าที่อาจทำให้ผู้สมัครคนอื่นไม่เข้าใจและมองโดนลัดคิว ส่วนห้องก็ไม่เหมาะต่อการเคลื่อนตัวของผู้พิการ
ในส่วนของภาคประชาชนที่มีการจับการเลือก สว. ระดับจังหวัด ตัวแทนจาก iLaw อย่าง บุญยนุช มัทธุจักร เจ้าหน้าที่วิเคราะห์กฎหมายโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) บอกว่า สามารถเข้าไปสังเกตหการณ์ได้ แต่ต้องมีการทำหนังสือหรือทำเอกสารยื่นต่อ กกต. จังหวัด เช่น จ.พระนครศรีอยุธยา ต้องนำไปยื่นสำนักงาน กกต. ประจำจังหวัด แต่ในบางพื้นที่ไม่สามารถเข้าไปสังเกตการณ์ในสถานที่เลือกได้
อย่างกรณีของกรุงเทพฯ เนื่องจากมีผู้สมัครเยอะต้องใช้หลายห้อง หลายชั้น และทาง กกต. ของ กรุงเทพฯ ก็แจ้งมาว่า ไม่ได้ให้ผู้สังเกตการณ์เข้าไป โดยเปิดประตูให้ดูจากข้างนอกห้อง ทำให้ผู้สังเกตการณ์ไม่เห็นความผิดปกติ หรือไม่สามารถเห็นเหตุการณ์ระหว่างการเลือก สว.ได้อย่างละเอียด
ส่วนการวิเคราะห์ของ iLaw ก่อนหน้าที่คาดการณ์ว่า สว.ชุดใหม่ จะเป็น สว. ที่มีเพื่อน มีอายุ มีเงิน ตัวแทน iLaw บอกว่า เนื่องจากระบบที่ออกแบบมานั้น อาจส่งผลให้การได้มาซึ่ง สว. ต้องออกมาเป็นลักษณะแบบนี้ได้ โดย “มีอายุ” ก็มาจากคุณสมบัติที่ต้องมีอายุ 40 ปีขึ้นไป และสามารถเข้าไปเลือกได้ นอกจากนี้ยังมีข้อข้ามว่าไม่ใช้ผู้ที่เป็นข้าราชการลงสมัครได้ ส่วนใหญ่ผู้ที่มาลงสมัครก็จะเป็นข้าราชการเกษียณ นอกจากนี้ยังต้องเสียค่าสมัคร 2,500 บาท ซึ่งในกรณีที่เกณฑ์กันมาสมัครก็ต้องจ่าย 2,500 บาทให้คนอื่น
“รัฐธรรมนูญออกมาให้เป็นการเลือกกันเอง และมีการเลือกไขว้ด้วย ฉะนั้น ก็จะมีคนรู้จัก แต่เป็นที่รู้จักในพื้นที่คงไม่เพียงพอ เพราะการเลือกมีหลายระดับ จึงต้องเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ต้องมีคนที่พร้อมโหวตคะแนนให้ด้วยวิธีไหนก็ตาม ส่วนในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะลงมติว่าการเลือก สว. ไม่ขัด พ.ร.ป. ก็ต้องเดินหน้าต่อ แต่สิ่งที่อยากฝากถึง กกต. คือ การอำนวยความสะดวกในการเลือกเพื่อไม่ให้ระยะเวลาล่าช้าเกินไป อย่างการเลือกระดับจังหวัดที่กรุงเทพฯ เลือกเสร็จล่าช้ามาก เพราะยิ่งช้ายิ่งอาจทำให้มีเรื่องปกติเกิดขึ้นได้ ถ้ากำหนดการเลือกให้แล้วเสร็จในเวลาที่เหมาะสมก็จะดีมาก”
บุญยนุช มัทธุจักร
บุญยนุช บอกด้วยว่า อีกเรื่องคืออยากขอให้ กกต. เปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าไปสังเกตการณ์การเลือกระดับประเทศให้มากขึ้น ถ้าเป็นไปได้ คือไม่ต้องทำหนังสือขอให้วุ่นวาย ในระดับประเทศเลือกในสถานที่ขนาดใหญ่อย่าง อิมแพค เมืองทองธานี ก็ควรเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าไป
“ระบบการเลือกไม่ได้เอื้อให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าไปเลือกเลยก็ควรเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าไปสังเกตการณ์”
บุญยนุช มัทธุจักร
แต่หากศาลวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ ก็มี 2 สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ อย่างแรกที่บอกว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่ศาลไม่ได้กำหนดคำบังคับ คำนิจฉัยจะมีผลในวันที่ลงมติเลย ทำให้มาตรา 42 ที่กำหนดการเลือกระดับประเทศก็จะไม่มีผลใช้บังคับ ก็ส่งผลให้เลือกระดับประเทศไม่ได้ และอีกสถานการณ์คือศาลกำหนดบังคับว่าให้คำวินิจฉัยมีผลไปในอนาคตข้างหน้า เช่น ใน 360 วัน หรือ 180 วัน การเลือกระดับประเทศก็เกิดขึ้นได้
“ถ้าศาลวินิจฉัยว่าไม่ขัดก็ดี แต่ถ้าจะวินิจฉัยว่าขัดก็ช่วยกำหนดเงื่อนไขเพื่อให้การเลือกระดับประเทศเกิดขึ้นได้ แต่ส่วนตัวมองว่าศาลจะวินิจฉัยว่าไม่ขัด เนื่องจากคนเขียนรัฐธรรมนูญกับคนที่เขียน พ.ร.ป. สว. เพื่อกำหนดมาเลือก สว. ก็เป็นคนเดียวกัน”
บุญยนุช มัทธุจักร
ขณะเดียวกัน รสนา ยังมองระบบการเลือก สว. ครั้งนี้ จากประสบการณ์ทั้ง 2 รอบที่ผ่านมา โดยยอมรับว่า การเลือก สว. ครั้งนี้ กกต. ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้หรือไม่ เพราะในบางจังหวัด ที่มีผู้เลือกตั้งแค่กลุ่มอาชีพเดียว และมีแค่คนเดียว ปรากฏว่า กกต. ให้ตกรอบ เพราะไม่มีคนเลือกไขว้ ต้องถามว่าสิ่งนี้ยุติธรรมอย่างไร เนื่องจากผู้สมัครย่อมไม่รู้ว่าจะมีผู้สมัครคนเดียว อีกทั้งยังเสียค่าสมัครไปแล้ว 2,500 บาท
“สำหรับการเลือก สว. ครั้งต่อไป ระบบนี้ไม่ควรใช้อีก ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้การเลือกสุจริต และเที่ยงธรรม ที่สำคัญกระบวนการการเลือกต้องได้มาซึ่ง สว. ที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย การเลือกคนกลุ่มน้อย จากมวลที่เยอะ คือตัวแทน แต่ถ้าเลือกกลุ่มน้อยในคนจำนวนแค่นี้ จะเป็นตัวแทนของคนกลุ่มมาก เป็นไปไม่ได้”
รสนา โตสิตระกูล
เช่นเดียวกับ วรกร ที่มองว่า หากพูดถึงการอำนวยของเจ้าหน้าที่ กกต. เนื่องจากบุคลากรที่จำนวนน้อย ทำให้การควบคุมดูแลผู้สมัครจึงไม่มี ทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงที่ใช้ห้องน้ำ เป็นห้องลับในการพูดคุย หรืออาจตกตลงเรื่องฮั้วกัน เพราะเจ้าหน้าที่ติดตามไม่พอ
“ระบบนี้เป็นการเลือกที่ไม่เหมือนใครในโลก ทุกคนมาเรียนรู้กันหมด แต่คนที่ตรงไปตรงมามีการตกลงพูดคุยกันว่าจะแลกแต้มกัน แต่ในขณะเดียวกันก็มีการแนะนำตัวโดยสุจริต กลายเป็นว่าด้วยระยะเวลาที่มีการกำหนดการเลือกตั้งเกิดขึ้น มีระยะเวลาสั้นมา สัปดาห์ต่อสัปดาห์ สิ่งเหล่านี้ กกต. ต้องมีการเก็บข้อมูลและคำนวณก่อน”
วรกร ไหลหรั่ง
วรกร ยังมองว่า การสอบตกรอบในระดับจังหวัดไม่ได้ทำให้คิดมาก แต่สำหรับคนทั่วไป อย่างกลุ่มแรงงาน หรือกลุ่มที่เขามีเป้าประสงค์ เมื่อผิดหวังกับการเลือก และมีจุดไหนที่ทำให้เสียเปรียบคิดว่าน่าจะมีการขุดคุ้ยให้เห็นว่าปัญหาคืออะไร ไม่จะเป็นจริยธรรมในตัวบุคคล หรือเรื่องอื่น ๆ และถ้ามองถึงการระบบการคัดเลือก สว. ครั้งต่อไป วรกร ก็ยังเห็นด้วยกับการแบ่งกลุ่มอาชีพก่อน แต่ควรให้ประชาชนคนทั่วไปร่วมเลือก จะได้มีกลุ่มคนหลากหลาย ไม่ใช่มีแค่คน 30 คน 100 คน
“น่าจะเป็นอะไรที่ปวงชนชาวไทยมีสิทธิ มีส่วนร่วมในการสร้างวุฒิสภาที่จะเข้าไปทำหน้าที่กรั่นกรองกฎหมาย ตรวจสอบฝ่ายบริหาร เพื่อให้ดำเนินการไปอย่างที่ควรจะเป็น”
วรกร ไหลหรั่ง