ภาคประชาชน – นักวิชาการ สะท้อนปัญหาระบบเลือก สว.67

พบหลายปัญหาในระบบเลือก สว.67 เรียกร้อง กกต.เร่งชี้แจง แก้ไข ก่อนถึงวันเลือกระดับอำเภอ 9 มิ.ย.นี้ ย้ำควรทำงานยึดโยงประชาชน

วันนี้ (4 มิ.ย. 2567) ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ We Watch และ iLaw จัดงานแถลงหัวข้อ “ปัญหาการเลือก สว. 2567 จะแก้ไขอย่างไร : ข้อเรียกร้องจากประชาชนถึง กกต.”

เพื่อแจกแจงปัญหากี่ยวกับระบบการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และมีข้อเรียกร้องไปถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในตัวระบบ ระเบียบ ให้เรียบร้อยก่อนการเลือกระดับอำเภอจะเกิดขึ้นในวันที่ 9 มิ.ย. 2567

โดยมี ผศ. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ. พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์  ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และ กฤต แสงสุรินทร์ เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (We Watch) ร่วมแลกเปลี่ยนในครั้งนี้

กฤต แสงสุรินทร์ (We Watch) ได้กล่าวถึงประเด็นปัญหาของระบบการเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567 ทั้ง การตัดสิทธิ์ผู้สมัคร ปัญหาการปกป้องสิทธิ์ของผู้สมัคร การอำนวยความให้กับผู้พิการ และการสังเกตการณ์ของสื่อและประชาชน

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ (iLaw) พูดถึงข้อกังวลและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ เรื่องแรกคือเห็นว่าผู้สมัครน้อยกว่าที่ กกต.คาดไว้กว่า 1 เท่า พร้อมพูดถึงปัญหาอื่นที่พบระหว่างการสมัคร สว. ว่าอาชีพที่ระบุในเอกสารข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัคร (สว. 3) ที่ต้องระบุอาชีพด้วย ระบุการรรับสมัครให้ระบุอาชีพได้อย่างจำกัด 

ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบอาชีพ พิธีกร ไม่มีตัวเลือกให้เลือกระบุได้ ต้องไประบุอาชีพสื่อมวลชน อาชีพกราฟิกดีไซเนอร์ ก็ไม่มีตัวเลือกนี้เช่นเดียวกัน ทำให้ต้องเลือกอาชีพ ช่างศิลป์ ระบบการกรอกเอกสารทำให้ผู้สมัครต้องไปเลือกระบุอาชีพอื่นที่ใกล้เคียงแทน ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง

นอกจากนี้ยังระบุว่าปัญหาของคนออกแบบระบบการเลือก คือไม่ได้ออกแบบทางแก้ไว้ เมื่อมีคนสมัครน้อย กติกาออกแบบให้อำเภอที่มีผู้สมัครกลุ่มเดียวตกรอบเลย

“พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 40 (12) กำหนดว่าผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดสามอันดับแรกของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ และในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนไม่ถึงสามคนให้เฉพาะผู้ซึ่งได้คะแนนเป็นผู้ได้รับเลือก ทำให้แม้ผู้สมัคร สว. จะผ่านด่านการเลือกกันเองมาแล้ว ต่อให้ผู้สมัครในกลุ่มนั้นจะมีจำนวนน้อยไม่ถึงห้าคนไม่ต้องเลือกกันเอง แต่ยังต้องได้รับคะแนนในรอบเลือกไขว้ด้วย ถึงจะผ่านด่านระดับอำเภอไปได้”

ดังนั้น เมื่อมีผู้สมัครเพียงกลุ่มเดียว ทำให้ไม่สามารถ “เลือกไขว้” ได้ กติกาที่ออกแบบมา และการทำงานของ กกต. ที่ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะให้คนมาสมัคร สว. จำนวนมาก ทำให้มีผู้สมัครบางส่วนต้องตกรอบไปเลยเพราะกติกา

“คนที่ไม่ได้เข้ารอบหรือไม่ได้ใช้สิทธิ์ เขาไม่ได้ทำผิดอะไร ซึ่งถ้าไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้ เขาก็จะไม่ได้รับความเป็นธรรม”

ด้าน ปริญญา เทวานฤมิตรกุล บอกว่า ปัญหามีอยู่ที่ตัวระบบ “ยิ่งขั้นตอนมาก ปัญหาก็ยิ่งมาก”

และตั้งคำถามว่า “กกต.ทำงานในระบบที่ยึดโยงกับประชาชนน้อยเกินไปหรือไม่”

พร้อมชี้ว่าเรื่องนี้เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน เมื่อเขาเสียค่าสมัครมา แล้ว กกต.ไปตัดสิทธิ์เขา กกต.พลาดที่ไม่ได้เขียนระบุไว้ว่าถ้ามีคนมาสมัครระดับอำเภอน้อย หรือมี 1 คนจะต้องแก้อย่างไร

ถ้า กกต.มีความกังวลใจในเรื่องนี้ ว่าไม่มีคะแนนจะเข้ารอบจังหวัดได้อย่างไร ก็ขอให้ กกต.แจ้งว่าทำอย่างไรก่อนวันที่ 9 มิ.ย.นี้ ว่าอำเภอใดบ้างมีปัญหา 

อีกทั้งเรื่องการแนะนำตัว กกต.ต้องมีวิธีการที่ทำได้มากกว่านี้ ให้ประชาชนทั้งระดับอำเภอ จังหวัด และตอนเลือกไขว้ ต้องเร่งด่วนทำ ส่งสัญญาณให้ผู้อำนวยการเลือกแต่ละระดับ ว่าการสังเกตการณ์ในการเลือก ทั้งประชาชน และสื่อมวลชนทำอะไรได้บ้าง

ด้าน พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต มองภาพรวมว่า สิ่งที่ต้องจับตาดูตอนนี้ คือ กระบวนการการเคลื่อนไหวเพื่อทำให้การเลือก ส.ว. เกิดขึ้น และบรรลุไปได้ ประกาศผลให้ได้ภายในวันที่ 2 ก.ค. 2567 ตามที่ กกต.สัญญา เพื่อให้กระบวนการประชาธิปไตยเคลื่อนต่อไปได้ หากขับเคลื่อนต่อไม่ได้ ส.ว. 250 คนก็จะได้นั่งเก้าอี้ต่อไปอีก

นอกจากนี้ยังระบุว่าการทำงานของ กกต. สะท้อนให้เห็นปัญหาตอนนี้ทั้งการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และปรากฏการณ์ 1 คน 1 อำเภอคงไม่เกิดขึ้น แต่เพราะ กกต. ทำงานเฉื่อยชา ไร้ประสิทธิภาพ

และในประเด็นการมีกลุ่มจัดตั้งจริงทั้งกลุ่มข้าราชการ ทหาร อสม. ซึ่งประชาชนรับรู้ และรู้ว่าควรจะทำอย่างไร การจัดตั้งนั้นส่งผลในการผ่านเข้ารอบระดับอำเภอ แต่ระดับจังหวัด ระดับประเทศ ก็จะยากขึ้น ในกระบวนการเลือกไขว้ 

ในช่วงท้ายมีการแถลงของ เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (We Watch) และ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ขอชี้แจงปัญหาและข้อเสนอเกี่ยวกับการดำเนินของคณะกรรมการเลือกตั้งที่กระทบต่อสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง ความยุติธรรม การมีส่วนร่วม และความโปร่งใสในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาของประชาชน ดังนี้

1. เกิดปัญหาการตัดสิทธิ์ผู้สมัคร เกิดกรณี การตัดสิทธิ์ผู้สมัครจำนวน 10 คนในอำเภอที่มีผู้สมัครกลุ่มเดียว ในกรณีนี้ กกต. ซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิของประชาชนกลับกระทำการที่ขัดต่อหลักการอย่างร้ายแรง การตัดสิทธิ์ผู้สมัครใน ลักษณะนี้เป็นเพียงการปัดปัญหาออกจากตัว ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมและขัดต่อเจตนารมณ์ของการส่งเสริมประชาธิปไตย

รวมถึงกรณีตัดสิทธิ์ผู้สมัครจำนวนกว่า 2,000 คน ถือได้ว่าการตรวจสอบของ กกต. ขาดความรัดกุม ตั้งแต่ขั้นตอนรับสมัคร ทำให้ผู้สมัครบางรายที่อาจยื่นเอกสารครบถ้วนแล้วกลับถูกตัดสิทธิ์

2. ปัญหาการปกป้องสิทธิของผู้สมัคร กกต. มีอำนาจตัดสิทธิ์ผู้สมัครในขั้นตอนการรับสมัคร การประกาศรายชื่อผู้สมัคร การลบชื่อออกจาก บัญชีรายชื่อผู้สมัคร รวมถึงการตัดสิทธิ์ผู้สมัครเป็นการชั่วคราวไม่เกิน 1 ปี กรณีที่ กกต. มีหลักฐานอัน “เชื่อ”ได้ว่ามีการทุจริต ซึ่งเป็นการใช้อำนาจบนดุลยพินิจของ กกต. โดยไม่ได้มีการเปิดให้ประชาชนตรวจสอบ และกฎหมายยังออกแบบให้ กกต. ใช้อำนาจนี้ได้โดยไร้ความรับผิดชอบและไม่ต้องรับผิด ในขณะเดียวกันผู้สมัครที่ถูกตัดสิทธิ์และประสงค์จะพิทักษ์สิทธิ์ของตน กลับต้องยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายใน 3 วัน ซึ่งเป็นวิธีการที่ยากลำบากและมีกำหนดระยะเวลาที่สั้นเกินไปจนไม่อาจปกป้องสิทธิของตนเองได้จริง

3. การแก้ไขบัตรเลือกไขว้ การแก้ไขบัตรเลือกไขว้ในช่วงเวลานี้ มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความสับสนและกังวลในหมู่เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการอบรมไปแล้ว และต่อผู้สมัครรับเลือก สว. ที่ได้ศึกษารูปบัตรแบบเดิมไว้แล้วก่อนหน้านี้ อาจส่งผล ต่อประสิทธิภาพของการจัดการและการลงคะแนนเสียงอย่างถูกต้อง

4. ปัญหาความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่จากการสังเกตการณ์พบว่าในช่วงกระบวนการรับสมัครเกิดปัญหามากมายเกี่ยวกับความผิดพลาดที่เกิดจากความไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งสะท้อนถึงการเตรียมการอบรมของ กกต. นำไปสู่ข้อกังวลในการ จัดการของวันเลือกจริง ซึ่งมีกลไกที่ซับซ้อนกว่ามาก

5. การสังเกตการณ์ของประชาชน เรารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ กกต. เปิดให้ประชาชนเข้าไปสังเกตการณ์ได้โดยมีหนังสือไปถึงผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทุกจังหวัด อย่างไรก็ดีจากบทเรียนที่ผ่านมา เห็นควรว่ายังคงต้องเพิ่มการอำนวยความสะดวกบางประการ เพื่อลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชน

จากประเด็นสำคัญทั้ง 5 ประการ เราขอเรียกร้องให้ กกต.ทบทวนบทเรียนจากประเด็นปัญหาข้างต้นและปรับปรุงตามแนวทางดังนี้

  1. กกต. ต้องมีช่องทางอำนวยความสะดวกในการยื่นคำร้องและสนับสนุนให้ประชาชนปกป้องและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน
  2. กกต. ต้องเผยแพร่รายงานการประชุมและเหตุผลประกอบการใช้ดุลยพินิจตัดสิทธิ์ผู้สมัคร โดยเปิดให้ประชาชนตรวจสอบได้บนช่องทางออนไลน์
  3. เพื่อให้การจัดการเลือก สว. มีความโปร่งใสมากขึ้น มีข้อเสนอดังนี้
    3.1 เพื่อความสะดวกของ กกต. ในการเตรียมงานดูแลอำนวยความสะดวกประชาชน ควรเปิดให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนสังเกตการณ์แบบออนไลน์ได้
    3.2 กกต. ต้องยืนยันว่าประชาชนที่ไม่ลงทะเบียนก็มีสิทธิ์ที่จะไปสังเกตการณ์ได้
    3.3 กกต. ต้องเผยแพร่เอกสารสำคัญของทุกกลุ่มอาชีพในทุกอำเภอบนช่องทางออนไลน์ให้ประชาชนตรวจสอบได้ ประกอบด้วย
  4. รายงานผลการนับคะแนนรายกลุ่ม (แบบ สว.อ.28)
  5. รายงานผลการนับคะแนนการเลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน (แบบ สว.อ.45)
  6. ในกรณีบัตรเลือกไขว้ กกต. ควรชี้แจงเหตุผลในการแก้ไขให้ชัดเจนพร้อมกับทำการทดสอบความเข้าใจของเจ้าหน้าที่และผู้สมัครก่อนจัดให้มีการเลือก
  7. ในส่วนของการลดข้อผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ เราเสนอให้ กกต. มีการอบรมมาตรการเลือก สว. อย่าง มีคุณภาพ โดยเปิดให้ประชาชนร่วมรับชมได้ในช่องทางออนไลน์ และเปิดให้มีรับฟังความคิดเห็นเพื่อ พัฒนาต่อไป

เพื่อให้ข้อเสนอเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง เราขอความร่วมมือจากประชาชนทุกท่านในการสนับสนุนและเผยแพร่ข้อเรียกร้องนี้ เพื่อร่วมกันรักษาสิทธิ์ ความยุติธรรม การมีส่วนร่วมและความโปร่งใสในการเลือก สว.ของประชาชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active