iLaw ย้ำผู้สมัคร สว. แนะนำตัวได้อิสระขึ้น

หลัง กกต. ยืนยันไม่อุทธรณ์ คำสั่งเพิกถอนระเบียบการแนะนำตัวฯ พร้อมเผยเหตุผู้สมัครขาดคุณสมบัติ 2,021 คน ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง

ภายหลัง แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงว่า กกต. มีมติเอกฉันท์ไม่อุทธรณ์คดี และจะไม่แก้ไขระเบียบใด ๆ ทำให้ผู้สมัคร สว. สามารถแนะนำตัวได้อิสระมากขึ้น ภายใต้ข้อห้ามบางประการที่พึงระวัง

แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ล่าสุด โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) อัพเดทผ่านเว็บไซต์ว่า หลัง กกต. เปลี่ยนแปลงระเบียบการแนะนำตัว ผู้สมัคร สว. จึงแนะนำตัวแสดงจุดยืน-แนวคิดได้ ทำได้ทั้งการแจกเอกสาร-ช่องทางออนไลน์ จากเดิมระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ ข้อ 3 ให้นิยามความหมายไว้ว่า “การแนะนำตัว” การบอก ชี้แจง หรือแจกเอกสาร เพื่อให้ผู้สมัครอื่นรู้จัก แต่ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนระเบียบข้อดังกล่าวไปแล้ว

ดังนั้นการแนะนำตัวของผู้สมัคร สว. ไม่จำเป็นต้องทำเพื่อให้ “ผู้สมัครอื่นรู้จัก” อย่างเดียวก็ได้ แต่สามารถแนะนำตัวต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สมัครรู้จักหรือเพื่อให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่มีสิทธิเลือกก็ได้

สำหรับวิธีการแนะนำตัว เดิมใน ข้อ 7 และ ข้อ 8 ของระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ ทั้ง 2 ฉบับ กำหนดวิธีการแนะนำตัวของผู้สมัครไว้ 2 กรณี

  • กรณีแรก คือ การแนะนำตัวแบบใช้เอกสารกระดาษ

  • กรณีที่ 2 การแนะนำตัวผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การโพสต์ข้อความ อัพโหลดภาพหรือคลิปผ่านทางโซเชียลมีเดีย หรือเว็บไซต์ต่างๆ

โดยการแนะนำตัวทั้ง 2 วิธีนั้น เดิมกำหนดให้ผู้สมัคร สว. สามารถแนะนำตัวได้โดยระบุเนื้อหาดังต่อไปนี้ ไม่เกิน 2 หน้ากระดาษ A4

  • ข้อมูลส่วนตัว

  • รูปถ่าย

  • กลุ่มที่ลงสมัคร

  • หมายเลขของผู้สมัคร

  • ประวัติการศึกษา

  • ประวัติการทำงาน หรือประสบการณ์ในการทำงาน

แต่หลังจากศาลปกครองพิพากษาเพิกถอนระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ ข้อ 7 โดยให้เหตุผลว่า กระทบต่อเสรีภาพของผู้สมัครในการแนะนำตัว ผู้สมัครจึงสามารถแนะนำได้อย่างอิสระมากขึ้น โดยไม่มีข้อจำกัดในเชิงปริมาณจำนวนหน้าของเอกสารแนะนำตัว และผู้สมัครสามารถแสดงจุดยืน แนวความคิดในด้านต่าง ๆ ได้ เท่าที่จะไม่ขัดกับระเบียบข้ออื่น ๆ ที่ไม่ได้ถูกเพิกถอน

นอกจากนี้ ศาลปกครองยังเพิกถอนระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ ข้อ 11 (3) ที่กำหนดว่า ระหว่างวันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภามีผลบังคับใช้ (11 พ.ค. 67) จนถึงวันที่ กกต. ประกาศผลการเลือก ที่กำหนดห้ามแจกเอกสารเกี่ยวกับการแนะนำตัวโดยวิธีการวาง โปรยหรือติดประกาศในที่สาธารณะ หมายความว่าผู้สมัคร สว. สามารถติดเอกสารแนะนำตัวในที่สาธารณะได้ แต่ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย โดยใน พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ความสะอาดฯ) มาตรา 10 กำหนดว่า การโฆษณาด้วยการปิดประกาศในที่สาธารณะ จะทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อน

อย่างไรก็ดี เงื่อนไขอื่น ๆ เกี่ยวกับการแนะนำตัว ที่ยังไม่ถูกเพิกถอนก็ยังคงมีอยู่ หากผู้สมัคร สว. จะมีผู้ที่ช่วยเหลือในการแนะนำตัว รวมถึงบุคคลอื่นที่อยากจะช่วยเหลือผู้สมัครแนะนำตัว ก็ต้องดำเนินการตามกระบวนการในระเบียบ กกต. ก่อน ข้อ 9 กำหนดว่า “ก่อนจะดำเนินการแนะนำตัว ผู้สมัคร สว. ต้องแจ้งชื่อ คนอื่นที่ผู้สมัครยินยอมให้ช่วยเหลือแนะนำตัว หรือเรียกว่า ผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร ต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดด้วย และหากจะเปลี่ยนแปลงชื่อก็ต้องแจ้งด้วยเช่นกัน แต่ถ้าเป็นกรณีที่ผู้สมัครให้ สามี ภรรยา หรือบุตร เป็นผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร ไม่จำเป็นต้องแจ้งชื่อ”

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 67 มีความเคลื่อนไหวของ กกต. เกี่ยวกับยอดผู้สมัคร สว. โดยแจ้ง รายงานการรับสมัครและการตรวจสอบคุณสมบัติการเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567 ดังนี้

จำนวนผู้สมัครทั้งหมด 48,226 คนเป็นชาย 27,839 คน หญิง 20,387 คน แต่มีจำนวนผู้สมัครที่คุณสมบัติผ่าน จำนวน 48,117 คน เป็นชาย 27,779 คน และหญิง 20,338 คน 

ส่วนจำนวนผู้สมัคร ที่คุณสมบัติผ่าน (ข้อมูลในวันที่ 29 พ.ค. 67) แจ้งว่ามี จำนวน 46,206 คน โดยเป็นชาย  26,727 คน และหญิง  19,479 คน  

จากการเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 20-24 พ.ค.ที่ผ่านมา มีผู้สมัครผู้ขาดคุณสมบัติ จำนวนทั้งสิ้น 2,020 คน โดยเป็นชาย  1,112 คน และเป็นหญิง  908  คน 

ทั้งนี้ผู้สมัครที่ไม่มีชื่อในประกาศ บัญชีรายชื่อผู้สมัคร (สว.อ.13) มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา (มอบอำนาจให้ศาลจังหวัด) ภายในวันที่ 1 ม.ย. 67 หรือ ภายใน 3 วัน นับแต่วันประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัคร โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล

กกต. ยังเผยว่า จากจำนวนผู้สมัคร สว. ทั้งหมด ผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม จำนวน 2,021 คน พบว่าส่วนมากเป็นสมาชิกพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรค และไม่ไปใช้สิทธิ์ถูกจำกัดสิทธิ์ตามที่กฎหมายกำหนด 

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความพูดว่า "M ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุณส ที่ไม่มีซื่อในประกาศ บัญชีรายชื่อผู้สมัคร (สว.อ.13) มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาล (บอบอำนาจให้ศาลจังหวัด) ภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2567 ภายใน 3 วัน นับแต่วันประกาศบัญชีรายชื่อผู้มั ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล f สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง www.ect.go.th ECT Thailand "การเลือกตั้งดี สำนวนดี พลเมืองดี พรรคการเมืองดี" สายด่วน 1444 ect.thailand จัดทำโดย สำนักประ สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกั้"

นอกจากนี้ในเว็บไซต์ของ iLaw ยังตั้งข้อสังเกตว่า ผู้สมัคร สว. หลายคนที่ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองก่อนยื่นใบแต่ก็ยังโดน กกต. ตัดสิทธิ การเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเป็นลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร สว. ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) ทั้งนี้ ประชาชนยังสามารถสมัคร สว. ได้หากดำเนินการลาออกก่อนการยื่นใบสมัครโดยไม่ต้องมีระยะเวลาเว้นวรรค 

“ปัญหาของผู้สมัครถูกตัดสิทธิทั้งที่ลาออกจากพรรคการเมืองก่อนแล้ว อาจจะเป็นได้หลายเหตุผล อาจจะเป็นเพราะระบบของ กกต. อับเดตข้อมูลการลาออกไม่ทัน หรือนายทะเบียนของพรรคการเมืองใช้เวลานานในการรายงานการลาออกกับ กกต. (ระยะเวลาสูงสุดคือเจ็ดวัน) หรือการตรวจสอบตกหล่น”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active