ซัดระบบ กกต. กีดกันประชาชนมีส่วนร่วม ปัญหาใหญ่ หลังปิดรับสมัคร สว. 67

แจง 5 วัน รับสมัคร สว. เจอแต่ความสับสน เจ้าหน้าที่ทำงานช้า ขาดการอำนวยความสะดวก ภาคประชาชน ย้ำ พิทักษ์สิทธิ์ผู้สมัคร ชวนจับตา ชี้เบาะแสทุจริตเลือก สว. เข้มข้น วัดใจ กกต.อุทธรณ์คำสั่งศาลฯ เพิกถอนระเบียบแนะนำตัวผู้สมัคร หรือไม่ ?

วันนี้ (25 พ.ค. 67) ที่ The Jim Thompson Art Center ปทุมวัน เครือข่ายภาคประชาชน 5 องค์กร แถลงสรุปปัญหาการรับสมัคร #สว67 และวิธีการมีส่วนร่วมของประชาชนหลังจากนี้ กฤต แสงสุรินทร์ เครือข่าย We Watch กล่าวสรุปปัญหาที่พบในวันรับสมัคร สว. 5 วัน พบว่า

  1. กลไกการสมัครล่าช้า สร้างภาระให้ประชาชน ซึ่งในการรับสมัครวันแรกพบว่าระบบล่มในหลายพื้นที่จนทำให้การรับสมัครล่าช้า นอกจากนั้นเมื่อระบบกลับมา โดยรวมยังพบว่า กระบวนการรับสมัครสำหรับผู้สมัครหนึ่งคนจะใช้เวลาประมาณ 40-60 นาที และในบางกรณีใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง โดย กกต. เลือกที่จะกำหนดวันรับสมัครไว้เพียง 5 วัน ทั้ง ๆ ที่กฎหมายให้เปิดรับสมัครได้ถึง 7 วัน และไม่ครอบคลุมวันหยุดเสาร์อาทิตย์

  2. เจ้าหน้าที่สับสน สะท้อนการเตรียมความพร้อมของ กกต. หนังสือรับรองการทำงานจากบริษัท ความเข้าใจคลาดเคลื่อนนี้กลายเป็นภาระให้ผู้สมัครต้องโต้แย้งกับเจ้าหน้าที่ด้วยตัวเอง หรือบางคนอาจต้องมีภาระหาเอกสารเพิ่มโดยไม่จำเป็น แสดงให้เห็นถึงการอบรมและการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ที่ยังคงมีปัญหา

  3. ขาดการอำนวยความสะดวกผู้สูงอายุและผู้พิการการ จัดสถานที่รับสมัครหลายแห่งไม่เอื้อต่อการเดินทางของผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข้นหลายพื้นที่มีบันไดและทางต่างระดับ รวมถึงจัดสถานที่รับสมัครไว้บนอาคารชั้น 2 ชั้น 3 ผู้พิการทางสายตายังไม่ได้รับการอำนวยความสะดวก เพราะไม่มีเอกสารที่เป็นอักษรเบรลล์

  4. อำเภอไหนมีผู้สมัครเพียงคนเดียวไม่สามารถไปต่อได้ เนื่องจากต้องมีผู้ลงคะแนนให้เท่านั้นถึงจะได้รับเลือก ในประเด็นนี้ กกต.ยังไม่มีการชี้แจงว่าแก้ปัญหานี้อย่างไร

นอกจากนั้นยังมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับการทุจริต และการซื้อเสียง ได้แก่

  1. เจ้าหน้าที่เสี่ยงเปิดเผยข้อมูลผู้สมัครก่อนพ้นเวลารับสมัคร พบว่า มีสื่อมวลชนเข้าไปทำข่าวในพื้นที่การรับสมัคร โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้ปกปิดรายชื่อผู้สมัครอย่างมิดชิด รวมถึงบางพื้นที่ยังให้ผู้สมัครเข้ากลุ่มไลน์เดียวกันก่อนวันปิดรับสมัคร อาจทำให้มีคนทราบล่วงหน้าได้ว่า ในอำเภอนั้น ๆ มีผู้สมัครแล้วกีคนและประเมินได้ว่ามีกลุ่มอาชีพละกี่คน

  2. พบรายงานความผิดปกติเกี่ยวกับการระดมคน การจ่ายเงินจ้างให้ลงสมัคร และการขนคนไปสมัครพร้อมกันในหลายพื้นที่ หลายกรณีมีการตั้งข้อสังเกตถึงความสัมพันธ์ของผู้ที่มาสมัคร กันเป็นกลุ่มใหญ่กับข้าราชการและนักการเมืองท้องถิ่น รวมถึงยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือก สว. ยังเป็นข้าราชการซึ่งมักมีความสัมพันธ์กับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

ณัชปกร นามเมือง เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) ระบุถึงประเด็น ระบบไม่เอื้อ ทำให้ผู้สมัครมีจำนวนน้อย เนื่องจากจำนวนผู้สมัคร สว. รวมแล้วน้อยกว่าที่ กกต. เคยคาดหมายไว้หลายเท่า เป็นผลมาจากการขาดการประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง กระบวนการขั้นตอนที่ซับซ้อน การประกาศวันรับสมัครอย่างกระชั้นชิด รวมทั้งการตีความคุณสมบัติของผู้สมัครที่ขาดความชัดเจน ผลที่เกิดขึ้นวันนี้แสดงให้เห็นว่าการเลือก สว. ครั้งนี้เป็นระบบที่กีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง แต่ถึงจะมีอุปสรรคมากมายในการเข้าไปมีส่วนร่วม ก็ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการ

วอน กกต. สร้างความชัดเจนกระบวนการต่อจากนี้

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) กล่าวถึง ข้อเรียกร้องต่อ กกต. สำหรับกระบวนการต่อไป ประกอบด้วย

  1. กกต. ต้องประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสมัคร สว. โดยเร็ว ครบถ้วน และเข้าถึงง่าย ต้องให้ผู้สมัคร สว. และประชาชนทุกคนเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดได้ทางระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 29 พ.ค. 67

  2. กรณีที่ไม่รับสมัครบุคคลใด กกต. ต้องระบุเหตุผลที่ชัดเจนและเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน ต้องมีการซี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย เป็นลายลักษณ์อักษร และต้องอำนวยความสะดวกให้กับบุคคที่ต้องการยื่นคัดค้านผลการวินิจฉัย

  3. กกต. ต้องให้ความชัดเจนว่าจะเปิดเผยข้อมูลผู้สมัคร สว. เมื่อใด เปิดเผยช่องทางไหนบ้าง และจะอำนวยความสะดวกให้ผู้สมัครที่ไม่สามารถไปรับเอกสารตามวันเวลานัดหมายได้อย่างไร

  4. กกต. ต้องประกาศสถานที่เลือกในระดับอำเภอโดยเร็ว และต้องเป็นสถานที่ที่เป็นที่รู้จัก เดินทางไปได้โดยสะดวก ต้องให้ความชัดเจนเกี่ยวกับขั้นตอนและแนวปฏิบัติว่า การเลือกจะต้องทำอย่างไร ผู้สมัครต้องเตรียมอะไรไปบ้าง ใช้เวลาในการเลือกเท่าใด

  5. กกต. ต้องเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถสังเกตการณ์การเลือก สว. ได้ตลอดกระบวนการ ต้องเปิดให้ผู้สังเกตการณ์และผู้สมัคร สว. มีสิทธิทักท้างกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยสะดวกและรวดเร็ว

พิทักษ์สิทธิผู้สมัครในกระบวนการต่อไป

ลลิตา เพ็ชรพวง ActLab ชี้แจงว่า หลังการรับสมัครเสร็จสิ้น กกต. แจ้งว่าจะเผยแพร่บัญชีรายชื่อผู้สมัครทุกกลุ่มอาชีพทุกอำเภอในวันที่ 25 พ.ค.นี้ ตั้งแต่เวลา 22.00 น. เป็นต้นไปทางแอปพลิเคชั่น Smart Vote และภายใน 5 วัน ซึ่งตรงกับวันที่ 29 พ.ค. จะประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่ผ่านการตรวจสอบแล้วอีกครั้ง

สำหรับผู้สมัครที่ยื่นใบสมัครเรียบร้อยแต่ กกต. ไม่ประกาศรับรองรายชื่อและออกหนังสือแจ้งการไม่รับสมัคร ผู้สมัครนั้นสามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้ภายใน 3 วัน ซึ่งเราจะมีตัวอย่างแบบฟอร์มคำร้องเผยแพร่ทางเว็บไซต์ senate67.com และพร้อมให้คำแนะนำถึงขั้นตอนวิธีการที่จะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา ให้ดำเนินการได้ทันวันเลือกระดับอำเภอ

ส่วนผู้สมัครที่เข้าสู่กระบวนการในวันเลือก แล้วพบความผิดปกติ เช่น การปฏิบัติผิดขั้นตอนของเจ้าหน้าที่, การนับคะแนนผิด, การขานบัตรเสียผิด จะต้องทักท้วงให้เจ้าหน้าที่แก้ไข้ได้ทันที หากพบการกระทำที่ส่อความไม่สุจริต เช่น การมีบุคคลภายนอกเข้าแทรกแซงการเลือก ก็ต้องร้องเรียนและบันทึกเหตุการณ์ไว้ได้

“เครือข่ายภาคประชาชน 5 องค์กร มุ่งมั่นพิทักษ์สิทธิ์ของผู้สมัคร จึงได้จัดเตรียมแบบฟอร์มการทักท้วงการทำงานของเจ้าหน้าที่และการร้องเรียนความผิดปกติ ซึ่งจัดเตรียมไว้ที่เว็บไซต์ senate67.com”

ลลิตา เพ็ชรพวง

วัดใจ กกต. อุทธรณ์คำสั่งศาลฯ เพิกถอนระเบียบแนะนำตัวผู้สมัคร หรือไม่ ?

ขณะที่ นันทวัฒน์ ศักดิ์สกุลคุณากร คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญประชาชน (ครช.) ระบุถึงกรณีศาลปกครองสั่งเพิกถอนระเบียบ กกต. แต่ต้องรอคดีถึงที่สุด โดย กกต. เคยออกระเบียบว่าด้วยการแนะนำตัวของผู้สมัคร สว. โดยใจความหลัก คือ การแนะนำตัวกันจะเกิดขึ้นได้เฉพาะระหว่างผู้สมัครด้วยกันเท่านั้นคือ ข้อมูลส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน และประสบการณ์การทำงานในกลุ่มอาชีพเท่านั้น ทั้งหมดต้องรวมไว้ในกระดาษ A4 ไม่เกิน 2 แผ่น ซึ่งเมื่อวานนี้ (24 พ.ค. 67) ศาลปกครองกลางก็มีคำพิพากษาให้เพิกถอนระเบียบ กกต. 5 ข้อ ทำให้การแนะนำตัวจะไม่มีข้อจำกัดทั้งในแง่ของรูปแบบ เนื้อหาผู้สมัครสามารถแนะนำตัวกันได้อย่างอิสระ ยกเว้นการให้สัมภาษณ์สื่อ ทำให้การเลือก สว. ครั้งนี้เปิดกว้างมากขึ้น ผู้สมัครไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับเงื่อนไขของการแนะนำตัวอีกต่อไป

อย่างไรก็ดี ผลของคำพิพากษาศาลปกครองยังไม่เกิดขึ้นทั้นที เพราะ กกต. ยังมีสิทธิ์ที่จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางภายใน 30 วัน ดังนั้น จึงเรียกร้องไปยัง กกต. ดังนี้

  1. กกต. ต้องไม่อุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าว และแถลงยืนยันอย่างเป็นทางการและเป็นลายลักษณ์อักษรโดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดความชัดเจน

  2. หาก กกต. เลือกที่จะออกระเบียบในการแนะนำตัวใหม่ ระเบียบที่ออกมาจะต้องไม่ขัดกับแนวทางที่ศาลปกครองวางไว้ ไม่จำกัดการรับรู้หรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้สมัคร สว. และ ต้องคำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ

ชวนประชาชนมีส่วนร่วม จับตากระบวนการเลือก สว. เข้มข้น

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw ย้ำว่า ผู้สมัครต้องทำการบ้านก่อนเลือก และศึกษาข้อมูลให้พร้อม เพื่อเลือกคนที่จะเป็นตัวแทนจริง ๆ อีกทั้งทางเครือข่ายภาคประชาชนมองว่ากระบวนการเลือก สว. ไม่น่าจะล่ม แต่อาจมีการประวิงเวลาเพื่อให้กานเลือกเป็นไปอย่างล่าช้าโดยภายในวันที่ 29 พ.ค.นี้ กกต. จะต้องประกาศรายชื่อผู้สมัคร สว. ทั้งหมดที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติแล้วทางระบบออนไลน์

“เราจึงขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกคน จับตาโดยการเข้าไปดูรายชื่อของผู้สมัครและร่วมกันแสดงความคิดเห็นถึงคนที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม หรือชี้เบาะแสหากทราบว่ามีผู้สมัครที่ไม่มีคุณสมบัติที่จะสมัคร สว. ได้ เพื่อเป็นการช่วยผู้สมัครคนอื่น ๆ ทำการบ้าน ก่อนวันเลือกจริง ในวันที่ 9 มิ.ย. 67 จะเกิดการเลือกระดับอำเภอขึ้น ขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกคน ร่วมกัน จับตา โดยการส่งหนังสือขออนุญาตเข้าสังเกตการณ์ไปยัง กกต. หรือผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ หรือติดตามการถ่ายทอดสดซึ่งอาจจะมีขึ้นเฉพาะอำเภอที่พร้อม หรือ ติดตามดูบันทึกวิดีโอการเลือกจากกล้องวงจรปิด และรายงานความผิดปกติหรือรายงานผลการ สังเกตการณ์มาทางเว็บไซต์ senate67.com”

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

สำหรับข้อมูลผู้สมัครบนเว็บไซต์ senate67.com จะเปิดเผยทั้งหมด ทั้งชื่อ นามสกุล ข้อมูลส่วนตัว และจุดยืนวิสัยทัศน์ของผู้สมัครทันทีที่มีความชัดเจนว่า กกต. จะไม่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครอง โดยผู้สมัครทุกคนสามารถให้ข้อมูลเพิ่มได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และสามารถแก้ไขข้อมูลที่เคยให้ไว้แล้วได้ทางอีเมล senate2567@gmail.com

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active