สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับเครือข่ายฯ สำรวจความเห็นประชาชนทั่วประเทศ ถึงการเลือก สว.ที่กำลังจะเกิดขึ้น พบ 1 ใน 4 ไม่รู้ว่ามีเลือกตั้ง สว. มากกว่า 70% ไม่รู้วิธีการเลือก สวนทาง กกต. ยังคงเชื่อประชาชนตื่นตัว
เมื่อเร็ว ๆนี้ สถาบันพระปกเกล้า โดยสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับ สำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง และศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง 76 จังหวัด สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ “การรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือก สว. 2567” หลังสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้หมดวาระลงในวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา และกำลังจะมีการเลือกตั้ง สว. ชุดใหม่เร็ว ๆ นี้
จากการสัมภาษณ์ตามแบบสอบถามกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง (อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป) จำนวน 1,620 ตัวอย่าง ตั้งแต่วันที่ 7-18 พ.ค. 67 ในทุกจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร โดยสอบถามกลุ่มตัวอย่างด้วยคำถาม 2 ข้อ ดังนี้
- ท่านทราบหรือไม่ว่า กำลังจะมีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่เร็ว ๆ นี้
- ท่านทราบวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) หรือไม่
จากผลสำรวจ พบว่า คนไทยเกือบ 1 ใน 4 หรือ ร้อยละ 23.5 ยังไม่ทราบว่ากำลังจะมีการเลือก สว. ชุดใหม่ โดยทำการวิเคราะห์ผลการสำรวจลงไปในแต่ละกลุ่มประชากรจาก เพศ อายุ และระดับการศึกษา ปรากฏว่า
เพศ พบว่า เพศหญิงที่ระบุว่ายังไม่ทราบ มีสัดส่วนสูงกว่าเพศชาย
- เพศหญิง ระบุว่ายังไม่ทราบ ร้อยละ 27.2
- เพศชาย ระบุว่ายังไม่ทราบ ร้อยละ 19.5
อายุ พบว่า ผู้ตอบที่มีอายุ 36-45 ปี เป็นกลุ่มที่ระบุว่าทราบแล้วมากที่สุด และน้อยที่สุดคือ ผู้ตอบที่มีอายุ 18-25 ปี
- ผู้ตอบที่มีอายุ 36-45 ปี ร้อยละ 81.5
- ผู้ตอบที่มีอายุ 46-60 ปี ร้อยละ 79.4
- ผู้ตอบที่มีอายุตั้งแต่ 61 ปีขึ้นไป ร้อยละ 79.0
- ผู้ตอบที่มีอายุ 26-35 ปี ร้อยละ 72.3
- ผู้ตอบที่มีอายุ 18-25 ปี ร้อยละ 65.7
ระดับการศึกษา พบว่า ผู้ตอบที่มีระดับการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี เป็นกลุ่มที่ระบุว่าทราบแล้วมากที่สุด และน้อยที่สุดคือ ผู้ตอบที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษา
- ผู้ตอบที่มีระดับการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีร้อยละ 92.8
- ผู้ตอบที่มีการศึกษาระดับมัธยม ร้อยละ 79
- ผู้ตอบที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 74.9
- ผู้ตอบที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 64.1
นอกจากนี้ ยังพบว่า คนไทยกว่า 70% ยังไม่ทราบวิธีการเลือก สว. โดยมีรายละเอียดดังนี้
- ร้อยละ 28.3 ระบุได้ถูกต้องว่า “เป็นการเลือกกันเองของผู้สมัคร”
- ร้อยละ 21.5 เข้าใจว่า “คัดสรร สว. จากกลุ่มอาชีพ”
- ร้อยละ 15.5 เข้าใจว่าเป็นการเลือกตั้ง สว. โดยตรงของประชาชน
- ร้อยละ 34.7 ระบุว่า ยังไม่ทราบวิธีการได้มาซึ่ง สว. ชุดใหม่
เมื่อวิเคราะห์ผลการสำรวจลงไปในแต่ละกลุ่มประชากรจาก เพศ อายุ และระดับการศึกษา ปรากฏว่า
เพศ พบว่า เพศหญิงที่ระบุว่ายังไม่ทราบหรือยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิธีการเลือก สว. มีสัดส่วนสูงกว่าผู้ตอบเพศชาย
- เพศหญิงที่ระบุว่ายังไม่ทราบหรือยังเข้าใจผิด ร้อยละ 75.7
- เพศชายที่ระบุว่ายังไม่ทราบหรือยังเข้าใจผิด ร้อยละ 67.4
อายุ พบว่า ผู้ตอบที่มีอายุตั้งแต่ 61 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่ทราบวิธีการได้มาซึ่ง สว. ชุดใหม่ที่ถูกต้องแล้วมากที่สุด และน้อยที่สุดคือ ผู้ตอบที่มีอายุ 18-25 ปี
- ผู้ตอบที่มีอายุตั้งแต่ 61 ปีขึ้นไป ร้อยละ 30
- ผู้ตอบที่มีอายุ 46-60 ปี ร้อยละ 28.5
- ผู้ตอบที่มีอายุ 36-45 ปี ร้อยละ 28.4
- ผู้ตอบที่มีอายุ 26-35 ปี ร้อยละ 28
- ผู้ตอบที่มีอายุ 18-25 ปี ร้อยละ 26.1
ระดับการศึกษา พบว่า ผู้ตอบที่มีระดับการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีเป็นกลุ่มที่ทราบวิธีการได้มาซึ่ง สว. ชุดใหม่ที่ถูกต้องแล้วมากที่สุด และน้อยที่สุดคือ ผู้ตอบที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษา
- ผู้ตอบที่มีระดับการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีร้อยละ 35.4
- ผู้ตอบที่มีการศึกษาระดับมัธยม ร้อยละ 29.4
- ผู้ตอบที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 28.8
- ผู้ตอบที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 20.7
จากการสำรวจดังกล่าว จะเห็นว่า คนไทยเกือบ 1 ใน 4 หรือร้อยละ 23.5 ยังไม่ทราบว่ากำลังจะมีการเลือก สว. ชุดใหม่ และ มากกว่า 70% ยังไม่ทราบวิธีการเลือก สว. สวนทางกับความเห็นของ แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เชื่อว่า ประชาชนจะตื่นตัวกับการเลือก สว. ซึ่งต้องมาดูกันว่าเมื่อถึงวันเลือกตั้งวันแรกในวันที่ 9 มิ.ย 67 ประชาชนจะให้ความสนใจกับการเลือกตั้ง สว. ชุดใหม่นี้เพิ่มมากขึ้นหรือไม่