ไผ่-รุ้ง​-​มายด์​ จี้รัฐบาล เคลียร์ปมบุ้ง ขอคืนสิทธิประกันตัว-นิรโทษกรรมทุกฝ่าย

เตรียมเดินหน้าทวงคำตอบอีกครั้ง 21 พ.ค.นี้ ขณะที่ตัวแทนรัฐบาล เผย กรณีบุ้ง เกินกว่าคำว่าเสียใจ ยอมรับเพื่อไทย ออกตัวแรง นิรโทษกรรม​ ไม่ได้​ ​เหตุอาจถูกมองเอี่ยว ทักษิณ​- ยิ่งลักษณ์​ ยัน​ ศึกษาร่างฯ​ นิรโทษกรรม เสร็จก่อนเปิดประชุมสภาฯ

วันนี้ (16 พ.ค. 67) ที่ศูนย์​รับเรื่องราว​ร้องทุกข์​ทำเนียบ​รัฐบาล​ 1111 ผู้สื่อข่าว Thai PBS รายงานว่า ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พร้อมด้วย ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล​ หรือ มายด์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง​ และ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน​ แกนนำทะลุฟ้า​ ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐบาล​ เรียกร้องให้มีนโยบายคืนสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องขังคดีทางการเมือง ภายหลังจากที่​ บุ้ง เนติพร นักเคลื่อนไหวจากกลุ่มทะลุวัง เสียชีวิตระหว่างคุมขัง โดยมี สมคิด​ เชื้อคง​ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี​ฝ่ายการเมือง​ เป็นผู้รับหนังสือ

พร้อมกันนี้ได้นำโปสเตอร์ นโยบายของพรรคเพื่อไทยที่หาเสียงไว้ เกี่ยวกับสิทธิการประกันตัวของผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง โดยให้ใช้รัฐสภาเป็นกลไกคืนความเป็นธรรมให้เหยื่อคดีทางการเมือง รวมถึงมีการเปิดภาพบันทึกเทปโทรทัศน์​ ของ ทักษิณ​ ชิน​วัตร​ อดีต​นายก​รัฐมนตรี​ และ แพทองธาร​ ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่พูดถึงนโยบายการปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีทางการเมือง

รุ้ง ปนัสยา​ ยอมรับรู้สึกกังวล ว่า โรงพยาบาลราชทัณฑ์​ จะไม่เปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิด​ ขณะนำตัวบุ้งไปรักษายังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เนื่องจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ระบุไว้ว่าจะเก็บภาพในกล้องวงจรปิดไว้เพียง 3 วันเท่านั้น​  พร้อมกับตั้งคำถามถึงขั้นตอนกู้ชีพ​ของบุ้ง และยังรู้สึก​เสียใจที่การสูญเสียของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเกิดขึ้นในรัฐบาล เศรษฐา​ ทวี​สิน

ทั้งนี้ได้มีการอ่านแถลงการณ์​ ยื่นข้อเสนอ​ 4 ข้อ ประกอบด้วย

  1. เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบการเสียชีวิตของ บุ้ง เนติพร ให้เกิดความโปร่งใส และชัดเจนโดยเร็ว

  2. ให้ผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุด​ ได้รับสิทธิ์ในการประกันตัว

  3. ชะลอการดำเนินคดีการจับคุมขังบุคคลในคดีการเมืองจนกว่าจะผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม​ รวมถึงสั่งไม่ฟ้อง ไม่ยื่นคำร้อง​ไม่ยื่นอุทธรณ์  ไม่ฎีกา​ ถอนคำร้อง​ถอนอุทธรณ์ และถอนฎีกา​ ในคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

  4. เร่งรัดออกกฎหมายนิรโทษกรรม​ประชาชนทุกฝ่าย​ ทุกข้อหา​ ที่มีมูลเหตุ มาจากคดีทางการเมือง ซึ่งขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ได้ อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แล้วหวังว่าจะไม่มีบุคคลใด​ จะต้องเสียชีวิต​ และทุก ๆ คนจะได้รับสิทธิ​การประกันตัว และสิทธิ​ในการแสดงออกทางการเมือง

โดยทางกลุ่มฯ จะมาติดตามข้อเรียกร้องอีกครั้งในวันที่ 21 พ.ค.นี้  

ขณะที่ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี​ฝ่ายการเมือง​ บอกว่า ในฐานะที่เป็นตัวแทนของรัฐบาล เสียใจ​ และเกินกว่าคำว่าเสียใจ ยืนยันว่า รัฐบาล ไม่ได้ก้าวล่วง​ฝ่ายตุลาการ ส่วนรายละเอียดทราบอยู่ว่ากรณีที่ถูกถอนประกัน เพราะอะไร สิ่งเหล่านี้ ผู้ใหญ่ในรัฐบาลก็คุยกันว่าไม่สบายใจ​ ส่วนที่ตั้งคำถามว่าการศึกษา พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ถูกขยายออกไปเรื่อย ๆ​ เมื่อไรจะเสร็จ ในฐานะที่ตนเป็นโฆษกกรรมการชุดนี้ บ่ายวันนี้ก็จะประชุม​ และยืนยันว่าไม่ได้มีความล่าช้า แต่ขณะนี้อยู่ในการปิดสมัยประชุมสภาฯ

ส่วนที่ระบุว่าการนิรโทษกรรมไม่รวมผู้ต้องหาในคดี ม.112 และ ม.​110 นั้น สมคิด ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียด โดยมีกรรมาธิการฯ ส่วนหนึ่ง​ซึ่งเป็นความคิดของบุคคล ไม่บอกว่าพรรคใดคัดค้าน​ ที่จะเอาฐานคดีใน ม.​112 มาด้วย แต่ยังไม่มีการพูดคุยในรายละเอียด ในแนวทาง ตนเป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทย

“เหตุผลที่พรรคเพื่อไทยไม่พูดถึง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเลย เพราะพรรคเพื่อไทยมีบาดแผลจาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม​ ที่เจ็บปวดมาแล้ว ถ้าบอกว่าเห็นด้วยกับ ม.112 ฝ่ายที่ไม่ชอบก็จะบอกว่า เห็นไหมทำเพื่อนายทักษิณ และนางสาวยิ่งลักษณ์ เราพูดไม่ได้​ เพราะจุดนี้​ แต่เสียงว่าอย่างไร​ เราเอาด้วย​ เราไม่คัดค้าน เอาเสียงส่วนมากว่าอย่างไร​ เราก็เอาด้วย​ วันนี้พรรคเพื่อไทยเสนอให้ศึกษา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม​ เพื่อให้ทุกฝ่ายตกผลึกให้เร็วขึ้น​ ถ้าหากปล่อยแต่ละฝ่ายไป​ ก็จะไม่จบ วันนี้เราเชิญทุกฝ่ายมา​ แต่จะจบแน่นอนก่อนสภาฯ เปิด”  

สมคิด​ เชื้อคง

ส่วนรายละเอียดที่ทางกลุ่มฯ เรียกร้อง​นั้น สมคิด ยืนยันว่าได้ตกลงกับแกนนำแล้ว​ วันอังคารหน้า (21 พ.ค. 67) ขอให้มาทวงถามในรายละเอียดได้​ ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร​

“เกินกว่าที่จะบอกว่าเสียใจ​ ที่คนเสียชีวิต​ พูดไม่ออก​ มันจุกอก​ เรื่องนี้รัฐบาลไม่ได้มีความสบายใจ​ และก็จะเดินเรื่องนี้ต่อ ผมพึ่งวางโทรศัพท์จากผู้ใหญ่ว่า​ หากรับเรื่องแล้วให้แจ้งว่าจะเอาอย่างไรต่อซึ่ง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม อยากให้เสร็จภายในปีนี้ด้วยความตั้งใจจริง ไม่ได้ต่อเวลาเพราะอะไร และขณะนี้ อ.ยุทธพร อิสระชัย กำลังเคลียร์คดี ฐานความผิด เพราะฉะนั้นเราจะเอาไปทั้งหมด​ ส่วนรายละเอียดเรื่อง ม.112 ยังไม่ได้คุย​ ยืนยันว่าถ้าคุยก็ยังไม่จบ ต้องเอาคดีฐานใหญ่ ๆ ออกไปก่อนผิด พ.ร.บ.ชุมนุม จะต้องได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมด จึงอยากเรียนทุกคนที่มาว่าผู้แทนรัฐบาล เราตั้งใจที่จะทำเรื่องนี้”

สมคิด​ เชื้อคง

ข้อมูลจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า มีผู้ถูกดำเนินคดี ทางการเมือง ตั้งแต่ 18 ​กรกฎาคม​ 2563 ถึง 30 เมษายน 2567 จากการแสดงความคิดเห็นในคดีทางการเมือง 1,954 คน​ จาก​ 1,295 คดี​ โดยมีคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินมากที่สุด​ 1,466 คน​ และ อันดับที่ 2 เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับ ม. 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย​ 272 คน​

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active