‘สิทธิการประกันตัว’ ยังไงต่อ ?

เสียงสะท้อนนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว ย้ำข้อเรียกร้อง ‘สิทธิการประกันตัว’ ต้องเดินหน้าต่อ หลังการสูญเสียบุ้ง เนติพร จี้รัฐบาลทำตามสัญญาก่อนเลือกตั้ง คืนสิทธิ อิสรภาพให้ผู้ต้องหาคดีการเมือง

เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 67 พิธีฌาปนกิจ บุ้ง – เนติพร เสน่ห์สังคม ที่วัดสุทธาโภชน์ มีครอบครัว ญาติ เพื่อนนักกิจกรรมจากกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ รวมไปถึงนักการเมือง เข้าร่วมไว้อาลัยบุ้งเป็นครั้งสุดท้าย 

สาเหตุการตาย และความไม่ชัดเจนต่อคำแถลงของ กรมราชทัณฑ์ กลายเป็นคำถามที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับประเด็นข้อเรียกร้องในกระบวนการยุติธรรม อย่าง สิทธิการประกันตัว ผู้ต้องหาคดีการเมือง ก็เป็นอีกเสียงสะท้อนจากผู้คนที่มาร่วมงาน

The Active พูดคุยกับนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคน ถึงข้อเรียกร้องสิทธิประกันตัว พวกเขา ต่างเห็นว่า ผู้ต้องหา ผู้ถูกคุมขังเนื่องจากคดีการเมือง ควรจะได้รับสิทธิดังกล่าวซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกกล่าวหา จึงอยากเห็นรัฐบาลออกมาแสดงท่าทีบางอย่างต่อกรณีนี้ เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก

ธนพัฒน์ กาเพ็ง นักกิจกรรมกลุ่มทะฟ้า ย้ำว่า การจากไปของบุ้ง ก็ยิ่งทำให้การเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมคนอื่น ๆ ยังต้องดำเนินต่อไป เพราะเรื่องนี้พรรคเพื่อไทยเคยสัญกับประชาชน ว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาล จะให้สิทธิการประกันตัว จะมีแนวทางพูดคุยกับทางตุลาการให้คืนสิทธิการประกันให้กับผู้ที่มีความคิดเห็นต่างกัน ซึ่งในวันที่ 21 พ.ค.นี้ ทางกลุ่มฯ จะเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามเรื่องนี้ จากที่เคยยื่นไว้ในวันแรกที่บุ้งเสียชีวิต ว่านโยบายที่เคยสัญญาให้กับประชาชน รวมถึงเอกสารการเสียชีวิตของบุ้งจะเปิดได้อย่างโปร่งใสเมื่อไร

ธนพัฒน์ กาเพ็ง นักกิจกรรมกลุ่มทะฟ้า

“การที่ประชาชนมีปัญหาในระบบการเมืองมาโดยตลอด และไม่มีพื้นที่พูดคุย เราควรจะหาพื้นที่พูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ ไม่ใช่เอาคนที่คิดต่างไปไว้ในเรือนจำ แล้วทำให้เขาหายไป โดยที่สังคมก็ยังตั้งคำถามก็ยังตั้งคำถามอยู่ว่า ใครจะรับผิดชอบกับชีวิตของบุ้งที่เสียไป”

ธนพัฒน์ กาเพ็ง

เงินตา คำแสน นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางการเมือง บอกว่า จากกรณีบุ้งมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1. ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติ ธรรม ไม่ควรมีใครติดคุกเพราะเห็นต่าง และประเทศไทยไม่ควรเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยหวังว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เลวร้ายแบบนี้อีก ขอให้บุ้งเป็นคนสุดท้ายของความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น

เงินตา คำแสน นักกิจกรรม-นักเคลื่อนไหวทางการเมือง

“การเรียกร้องสิทธิการประกันตัวก็คงต้องมีต่อไปเรื่อย ๆ เพราะว่านักโทษ 30 คนยังอยู่ในระหว่างการฝากขัง ยังไม่ได้มีการตัดสินเด็ดขาด ทุกคนควรมีสิทธิในการได้รับการประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าเป็นคดีอะไรก็ตาม”

เงินตา คำแสน

ขณะที่ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการ นักวิเคราะห์การเมือง และคอลัมนิสต์ มองว่า สำหรับนักกิจกรรมคนอื่น ๆ ที่ถูกดำเนินคดีคล้ายกับบุ้ง การลดเพดานการเคลื่อนไหวไม่น่าจะเกิดขึ้นอีกแล้ว อาจทำให้คนรู้สึกว่าสังคมเดินหน้าสู่จุดที่ไม่อาจหวนกลับ ในกรณีที่เกิดขึ้นกับบุ้ง ตอนนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นการสูญเสียที่มีเงื่อนงำ ทางราชทัณฑ์ไม่ยอมเปิดเผยหลักฐานต่าง ๆ ประเด็นการสอดท่อช่วยหายใจก็เป็นสิ่งที่หลายคนตั้งคำถามว่าเกิดความผิดพลาดได้อย่างไร 

“พอเป็นการเสียชีวิตที่มีเงื่อนงำ จะทำให้คนจำนวนมากรู้สึกว่าอาจจะต้องแน่วแน่ในเส้นทางที่เลือกมากขึ้น เพราะสังคมไทยหรืออำนาจรัฐ ไม่ได้แสดงท่าทีที่จะประนีประนอมต่อพวกเขาเลย”

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการ-นักวิเคราะห์การเมือง และคอลัมนิสต์

ศิโรตม์ ยอมรับว่า ไม่แน่ใจการเรียกร้องสิทธิประกันตัว จะยกระดับได้กว่าที่ผ่านมาหรือไม่ ด้วยกลไกต่าง ๆ ที่ภาคประชาชนมี คิดว่าเขาทำได้อย่างเต็มที่แล้ว แต่คิดว่ากรณีของบุ้ง จะทำให้แรงกระเพื่อมของการพูดเรื่อง ม.112 และสิทธิการประกันตัวกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

“ต้องย้ำว่าเป็นหนึ่งในนโยบายของพรรคเพื่อไทยตอนหาเสียงเลือกตั้ง ว่าจะทำให้เกิดการยุติการดำเนินคดีทางการเมือง เมื่อมีการเสียชีวิตแบบนี้ แล้วรัฐไม่มี Action ผมคิดว่า คำถามต่อรัฐบาลมันจะดังขึ้นกว่าที่ผ่านมาแน่นอน”

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active