‘ไบโอไทย’ ชวนตั้งคำถาม สารตกค้างในข้าวเก่า ได้สุ่มตรวจบ้างหรือไม่ ขณะที่ ‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ ชี้ความเสี่ยง เรียกร้องนำข้อมูลวิชาการมายืนยัน ข้าวเก่ายังกินได้จริง ปลอดภัย ?
จากกรณีที่ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่ตรวจสอบสต๊อกข้าวสารที่ จ.สุรินทร์ โดยนำข้าวเก่า 10 ปีที่เก็บไว้ในช่วงโครงการรับจำนำข้าว ตั้งแต่สมัย รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มากินโชว์สื่อ พร้อมทั้งจะนำข้าวดังกล่าวมาประมูลขาย จนเกิดคำถามว่า ข้าวดังกล่าวกินได้จริงหรือจะเป็นอันตรายหรือไม่
สำหรับกรณีดังกล่าว วันนี้ (7 พ.ค. 67) เพจ ไบโอไทย BIOTHAI โพสต์ตั้งคำถาม “ก่อนขายข้าวสารอายุ 10 ปี ต้องตอบคำถาม 1. รมสารเคมี 6-12 ครั้ง/ปีตกค้างขนาดไหน 2. สารอาหารลดลงเหลือเท่าไหร่ 3. ความเสี่ยงจากท็อกซิน
จากนั้นทางไบโอไทย ได้แสดงความเห็นภายในโพสต์ดังกล่าว โดยระบุว่า มีสื่อทั้งไทยและต่างประเทศ ติดต่อสอบถามประเด็นคุณภาพข้าวเข้ามา แต่ไม่อยากตอบเอง พร้อมแนะนำให้ตั้งคำถามกับรัฐบาลดังนี้
- ปริมาณข้าวที่เอกชนประมูลเพื่อการบริโภคมีปริมาณเท่าไร ? จำหน่ายในประเทศเท่าไร ? ส่งออกเท่าไร ? บริษัทไหนบ้าง ?
- คุณภาพของข้าวใน 3 มิติ คือ สารรมควันพิษที่แจ้งว่ามีการรมปีละ 6-12 ครั้ง คือสารอะไร ? มีการตกค้างหรือไม่ ? เพราะในกรณีเมทิลโปรไมด์เมื่อตกค้างในข้าวสารแล้วการล้างหลายครั้ง หรือการหุงก็ทำให้ลดลงได้เพียง 40-50% เท่านั้น, คุณค่าของสารอาหาร เช่น คาร์โบไฮเดรท โปรตีน และแร่ธาตุอื่น ๆ ที่พึงได้จากข้าวสารลดลงมากน้อยแค่ไหน, ความเสี่ยงจากท็อกซิน ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเก็บมีมากน้อยแค่ไหน มีการสุ่มตรวจเพียงใด ?
- จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในประเทศ ต่างประเทศ และจะมีผลต่อภาพลักษณ์ข้าวไทยอย่างไร ?
ขณะที่ นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยกับ The Active โดยตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่า ข้าวที่นำออกมาประมูลเป็นข้าวที่อยู่ในกระสอบ ไม่ได้บรรจุในถุงสุญญากาศ ที่มีวันผลิตและวันหมดอายุชัดเจนตามมาตรฐาน โดยทั่วไปแล้ว แม้จะเห็นข้าวบรรจุกระสอบถูกแบ่งขายตามท้องตลาดมากมาย แต่ข้าวดังกล่าวมีอายุสั้น เนื่องการหีบห่อที่ไม่มิดชิด ทำให้มีปัจจัยเรื่องอากาศ ความชื้น มลภาวะ และแมลงมาทำลายคุณภาพของข้าว ซึ่งมีอายุการบริโภคได้ไม่เกิน 1 ปี
แต่สำหรับข้าวบรรจุกระสอบที่มีอายุถึง 10 ปี ซึ่งเกินระยะการบริโภคไปมาก หากจะนำมาขายให้ประชาชนจริง แต่ยังไม่เห็นการยืนยันข้อพิสูจน์ทางวิชาการใด ๆ ว่าข้าวดังกล่าวยังนำมาบริโภคได้จริง
“ท่านรัฐมนตรีมากินข้าวโชว์ กินไปแค่จานเล็ก ๆ แต่ประชาชนเขาซื้อไป นั่นหมายความว่า เขาและครอบครัวต้องกินกันทุกวัน และกินทั้งเดือน หากเกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในระยะยาว รัฐจะรับผิดชอบอย่างไร ?”
นฤมล เมฆบริสุทธิ์
รอง ผอ.ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยังมองว่า รัฐจำเป็นต้องมีหน่วยงานทางวิชาการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ เพื่อยืนยันคุณภาพ ทั้งในด้านความปลอดภัยของสารเคมีตกค้าง สารอาหารของข้าว และความปลอดภัยในระยะยาวของผู้บริโภค ไม่เช่นนั้นประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าข้าวนี้ปลอดภัย และคุ้มค่าราคาที่เสียไปจริง