คณะสังคมวิทยาฯ จัดงานเสวนา “อ่าน ‘จินตนาการทางสังคมวิทยา” ชี้ รัฐและแหล่งทุนควบคุมงานวิจัยทางสังคม เสนอการใช้เครื่องมือเทคนิคต้องควบคู่ไปกับทักษะวิจัยทางสังคมแบบดั้งเดิม พร้อมทำให้มหาวิทยาลัยเป็นชุมชนปลอดภัยผลักดันประเด็นทางสังคม
เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 67 สำนักพิมพ์ bookscape ร่วมกับ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกันจัดงานเสวนา “อ่าน ‘จินตนาการทางสังคมวิทยา’ | ถก ‘คำมั่นสัญญา’ ของนักสังคมศาสตร์” ร่วมถกแนวคิด “จินตนาการทางสังคมวิทยา” และวิพากษ์วงวิชาการสังคมศาสตร์ที่ป่วยไข้ ผ่านหนังสือ The Sociological Imagination หนังสือคลาสสิกที่ทรงอิทธิพลที่สุดในศตวรรษที่ 20 เขียนโดย ซี. ไรต์ มิลส์ (C. Wright Mills) ศาสตราจารย์สังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
ในหนังสือกล่าวว่า ทิศทางของการศึกษาด้านสังคมวิทยาหลุดลอยออกไปจากความเป็นจริงของสังคมเข้าไปทุกที นักสังคมวิทยาเอาแต่ลุ่มหลงกับทฤษฎีที่ดูยิ่งใหญ่ แต่กลับไร้ความหมายหรือจับต้องได้
รวมถึงการศึกษาวิจัยด้วยเครื่องมือเชิงสถิติที่ดูสวยหรู แต่กลับละเลยมิติทางสังคมที่แวดล้อม ขณะที่เส้นทางการเติบโตของผู้คนในแวดวงสังคมศาสตร์ที่ทำงานวิจัยตามแหล่งทุน (ตามใบสั่ง) แต่ไม่ได้ผลิตงานที่ตอบปัญหาที่แท้จริงในสังคม หรือเปิดพื้นที่ขอบฟ้าความรู้ใหม่ ๆ ให้มากไปกว่าที่มีอยู่ได้เลย ซึ่งสอดคล้องกับสภาพปัจจุบันของไทย
รศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของการศึกษาสังคมวิทยาในอเมริกาช่วงปี 1959 ว่า เป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับยุค 60s ในเวลานั้นเองที่อเมริกามีความเคลื่อนไหวต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสงครามเวียดนาม สิทธิสตรี คนผิวสี ฯลฯ ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในสังคมที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลง
แต่ในขณะนั้น นักสังคมศาสตร์เองกลับไม่ตื่นตัว ทำตัวย้อนแย้ง และคิดว่าตัวเองเป็นนักเทคนิคเท่านั้น โดยไม่สนใจบริบทสิ่งแวดล้อม
“มิลส์บอกว่า ความรู้ทางสังคมศาสตร์เป็นกลาง บริสุทธิ์ ปราศจากอคติ และเมื่อเชื่อกันเช่นนี้ ความรู้เหล่านี้เลยถูกนำไปกำหนดนโยบายของรัฐ สิ่งนี่แหละที่เป็นการเมืองโดยตัวมันเองและเป็นอคติที่อันตรายมาก”
ด้าน ผศ.จันทนี เจริญศรี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้แปล เสริมว่า ในสังคมไทย สังคมศาสตร์เกิดขึ้นมาพร้อมรัฐราชการที่ยังเป็นอนุรักษนิยมอยู่ แทบไม่มีอิสระในการทำงานเพื่อสังคมหรือสิ่งที่ตัวเองสนใจจริง ๆ เลย
“ทั้ง ๆ ที่การทำงานทางสังคมศาสตร์เป็นงานแบบ ‘ช่างฝีมือ’ แต่แนวคิดแบบเสรีนิยมต่าง ๆ แปลงให้กลายเป็น ‘ผู้ประกอบการใหม่’ เพราะเอาแต่ทำงานเสิร์ฟรัฐ จนไม่รู้ว่านี่เราทำงานเพื่อสาธารณชนจริงไหม หรือทำงานตามใบสั่งกันแน่”
และตอนนี้ ปัญหาทางสังคมวิทยาคือการวางตัวเองเป็น “นักเทคนิค” กล่าวคือ ใช้เครื่องมือเชิงสถิติที่สวยหรูในการทำวิจัย “นักสังคมศาสตร์คิดว่าตัวเองไม่มีเกียรติเหมือนนักวิทยาศาสตร์ การใช้เครื่องมือเหล่านี้อาจทำให้รู้สึกว่าดูมีเกียรติมากขึ้น” อย่างไรก็ตาม การศึกษาแบบนี้ขาดมิติในเชิงบริบทแวดล้อมที่เกี่ยวพันกับปัญหานั้น ๆ เพราะการจะเข้าใจมนุษย์ได้นั้น ต้องเข้าใจว่าเขาอยู่ในสังคมแบบไหน ต้องเข้าใจที่มาที่ไปหรือมิติทางประวัติศาสตร์ก่อน
สอคล้องกับ รศ.ประจักษ์ หยิบยกความคิดเห็นของมิลส์มาเสริมว่า นักสังคมวิทยาลดทอนตัวเองให้กลายเป็นนักเทคนิค การใช้เครื่องมือทางสถิติและความสัมพันธ์ของค่าตัวแปรต่าง ๆ และอภิทฤษฎี (Grand Theory) ทำให้คำอธิบายสังคมซับซ้อนจนเกินจำเป็น
“ความลุ่มหลงใน Grand Theory ที่แข็งทื่อตายตัว ที่เชื่อว่ามันอธิบายได้ทุกสิ่งทุกอย่างข้ามกาลเวลา และการใช้สถิติต่าง ๆ ในการศึกษา เป็นการมองมนุษย์ให้เป็นปัจเจกล่องลอยออกจากสังคม
“หากเป็นสายรัฐศาสตร์ อาจารย์โบราณ ๆ ก็จะเขียนตำรา แล้วกลายเป็นหนังสือพื้นฐานที่นักเรียนอ่านเพื่อสอบเข้าแต่อาจารย์ในสาย critical ก็จะไม่ได้เขียนตำรา กลายเป็นว่านักศึกษาที่เข้ามาเรียนก็จะติดอยู่กับสิ่งที่เขียนในตำรา กลายเป็นอุตสาหกรรมทำตำราหรือวิทยานิพนธ์”
และเมื่อมองงานเขียนของมิลส์ เรียกได้ว่าเป็นงานที่ท้าทายและกล้าวิพากษ์วิจารณ์ระบบสังคมวิทยาอย่างเผ็ดร้อน ที่อาจนิยามได้ว่าเป็น “angry young man” แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ลักษณะเช่นนี้แทบไม่พบในหนุ่มสาวยุคนี้แล้ว
รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปรียบเทียบว่าความเห็นของมิลส์คือการวิพากษ์วิจารณ์ที่มีพลังและน่าชื่นชม
“มิลส์ก็ไม่ต่างกับ เควนติน แทแรนติโน (ผู้กำกับภาพยนตร์) เขาคือพลังคนหนุ่มที่ทลายจารีตทั้งหมด คนที่กล้าท้าทายความคิดแล้วลุกขึ้นมาเขียนหนังสือตอบโต้ขาใหญ่ในวงการสังคมวิทยา”
เช่นเดียวกับที่ ผศ.จันทนี ชี้ว่า ลักษณะของมิลส์เช่นนี้ พบได้มากในยุคสมัยหนึ่งอันเป็นผลมาจากบริบททางสังคม แต่กลับแทบหาไม่ได้แล้วในปัจจุบัน
“มิลส์มีคุณลักษณะแบบ ‘angry young man’ ที่พบได้มากในยุค 60s ที่เห็นผ่านทั้งในงานเขียนหรือภาพยนตร์ แต่ปัจจุบัน ยุคสมัยทำให้คนแบบนี้หายไป เราเจอแต่คนหนุ่มสาวที่ burn out อ่อนเปลี้ย เอาแต่วิ่งไล่ตามเทรนด์เพราะกลัวจะไม่ woke ต้องระวังตัวไปหมด ทำให้การวิพากษ์แบบนี้หาได้ยาก”
ด้าน รศ.ประจักษ์ เห็นสอดคล้องว่า เมื่อหนุ่มสาวในลักษณะนี้หายไป การวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมาไม่เกิดขึ้น จึงทำให้ขอบฟ้าของความคิดที่จะนำพาสังคมไปข้างหน้าถูกจำกัดลง ไม่เพียงแต่เกิดจากการควบคุมของรัฐหรือสังคมเท่านั้น แต่เกิดจากแหล่งทุนที่ต้องการได้งานวิชาการที่ปลอดภัยและตอบโจทย์ผู้ทำนโยบายด้วย
“นักวิชาการที่สร้างชื่อเสียงมาจุดหนี่งแล้วจะมีเครดิตในการเสนองานวิจัยที่แปลก ๆ ได้บ้าง ไม่จำเป็นต้องทำตามโจทย์วิจัยเสมอไป แต่นักวิชาการรุ่นใหม่น่าเห็นใจ เพราะในช่วงเริ่มต้นที่ยังไม่มีเครดิตก็มักต้องทำงานวิจัยในโจทย์ที่ไม่อยากทำ”
“งานบางชิ้น ตีพิมพ์ในต่างประเทศได้ แต่พอมาเผยแพร่ที่ไทยกลับถูกตั้งข้อหา โดนฟ้อง สังคมการเมืองแบบนี้มันจำกัดขอบฟ้าความคิดของคน มันมาตัดสินว่างานแบบไหนคืออาชญากรรม ซึ่งมันคือสังคมที่เถื่อนและล้าหลังมาก
“ระบบนิเวศวงวิชาการในไทยขีดเส้นไว้ว่างานวิชาการที่ผลิตออกมาควรปลอดภัย และตอบโจทย์ผู้ทำนโยบาย ทำให้นักสังคมศาสตร์คิดนอกกรอบไม่ได้ และนี่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย”
“เพราะเรามีการเมืองแบบราชการ ชนชั้นนำมีอิทธิพลมาก ชนชั้นกลางกลายเป็นผู้รับใช้ทุนนิยมและทำงานวิชาการในฐานะผู้เป็นส่วนหนี่งของระบบ และผลิตงานตอบสนองแหล่งทุน และนี่คือ ระบบราชการ (bureaucratize) ที่คืบคลานเข้ามาในวงวิชาการ”
ท้ายที่สุดแล้ว รศ.ประจักษ์ เชื่อว่า สิ่งเหล่านี้จะทำลายโอกาสและแรงขับเคลื่อนของคนรุ่นใหม่ งานทางสังคมศาสตร์ควรมีทั้งส่วนที่เป็น craft หรือช่างฝีมือผู้มีทักษะ และ methodหรือเครื่องมือทางสถิติต่าง ๆ ร่วมกัน และการสอนให้นักศึกษามีจินตนาการหรือวิธีการศึกษาทางสังคมที่กว้างขวางไปกว่าที่เป็นอยู่นี้ จะนำไปสู่การเปลี่ยนวิธีคิดของแหล่งให้ทุน ไม่ใช่แค่การผลิตงานวิชาการออกมาตามโจทย์
เช่นเดียวกับที่ รศ.สมชาย เห็นว่า การจะทำเช่นนั้นได้ การมีมหาวิทยาลัยที่เป็นชุมชนที่ปลอดภัยมั่นคงสำคัญมาก และการผลักดันประเด็นต่าง ๆ ไม่ควรทำในนามปัจเจกเท่านั้น เพราะการทำให้ทุกคนมองเห็นอารมณ์ ความรู้สึก ความทุกข์ร้อนร่วมกัน จะทำให้ผู้คนมองเห็นถึงปัญหาอื่น ๆ ในสังคม นอกเหนือไปจากตัวเอง