กป.อพช.บุกทำเนียบฯ มี.ค.นี้ ขอทบทวนมติเห็นชอบรายงานศึกษาแลนด์บริดจ์

ชี้ในรายงาน “ความเสียหายผลกระทบ วิถีชีวิต อาชีพ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม” ไม่ถูกรวมเข้าไปพิจารณา พร้อมตั้งข้อสังเกตช่วงพักโทษอดีตนายกฯทักษิณ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายเรื่องของรัฐบาล รวมทั้งการผลักดันแลนด์บริดจ์ ที่ริเริ่มมาตั้งแต่ต้น

วันนี้ ( 18 ก.พ.67 ) สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ กป.อพช. เปิดเผยกับ The Active ถึงกรณีสภาผู้แทนราษฏรมีมติ 269 ต่อ 147 เสียง เห็นชอบรายงานผลการพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้(แลนด์บริดจ์) เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามันเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่า จากสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ในห้วงเวลาที่อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ได้รับการพักโทษ ซึ่งถ้าย้อนไปจริงๆโครงการแลนด์บริดจ์ เดิมเป็นนโยบายของนายทักษิณตอนเป็นนายกฯ ได้ผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ จ.สงขลา-สตูล ซึ่งถามว่าการพิจารณาโครงการนี้ของสภาฯ ในห้วงเวลานี้ เชื่อมโยงกับการออกมาของนายกฯทักษิณหรือไม่ ส่วนตัวเชื่อและมองว่าการที่ถ้าอดีตนายกฯทักษิณออกมา ไม่น่าจะอยู่นิ่งๆ น่าจะเข้าไปมีบทบาทอะไรสำคัญๆหลายเรื่องในรัฐบาลเศรษฐา 

“ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้นะว่าก่อนหน้านี้ ก็มีบทบาทอยู่แล้ว แต่เข้าใจว่าถ้าเขามีอิสระเยอะขึ้น มีความชอบธรรมเยอะขึ้น การเข้าไปอาจจะเยอะกว่านี้ และอาจรวมถึงท่วงทำนองการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องแลนด์บริดจ์ด้วย ก็น่าจะมีผลอยู่พอสมควร อันนี้น่าจะต้องติดตามกันต่อไปว่า บทบาทที่มันแฝงอยู่กับรัฐบาลปัจจุบันโดยอดีตนายกท่านนี้ มันอาจจะมีเยอะกว่าที่เราเห็นแน่นอน “ 

สมบูรณ์ คำแหง กล่าว

ทั้งนี้ ในเมื่อผลการพิจารณาของสภาฯเรื่องแลนด์บริดจ์ออกมาเช่นนี้ ก็แน่นอนว่า จะกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่รัฐบาลก็จะนำไปใช้อ้างอิงว่า ได้ผ่านกระบวนการรัฐสภาแล้ว และรัฐสภาก็เห็นด้วยกับโครงการนี้ ก็เป็นการสร้างความชอบธรรมให้การขับเคลื่อนโครงการนี้ให้กับรัฐบาลต่อไป แต่สิ่งที่เราต้องมองให้เห็นคือเบื้องลึกเบื้องหลังเพราะเข้าใจว่า กรรมาธิการส่วนใหญ่ก็เป็นรัฐบาล ซึ่งเขาก็ต้องเห็นด้วยกับโครงการนี้อยู่แล้ว ก็ต้องทำหน้าที่ให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการพวกนี้ต่อได้ 

แต่หากดูในรายละเอียด ก็ชัดเจนว่ารายงานการศึกษาของกรรมาธิการชุดนี้ ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่เอามาจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งมีอยู่ 2 เรื่องสำคัญ คือ กรรมาธิการอาจจะเรียกและก็ไปรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มคนที่หลากหลาย ซึ่งอันนี้พอรับได้ เพราะเท่าที่รู้คือพยายามให้นักวิชาการ เรียกภาคธุรกิจ ซึ่ง 2 กลุ่มนี้น่าสนใจ  โดยเฉพาะนักวิชาการ ที่เขาอ้างงานวิจัยของจุฬาฯ อันนี้ก็ชัดเจนแล้วว่ามันมีความเห็นต่างกับรัฐบาลอยู่แล้ว เพราะว่างานศึกษา บ่งบอกว่าอาจไม่คุ้มค่าคุ้มทุน ทั้งเรื่องของเวลา ทั้งเรื่องค่าใช้จ่าย อันนี้ชัดอยู่แล้ว  

ในส่วนของภาคธุรกิจ ซึ่งเขาก็เอาจากประสบการณ์ตรงในการดำเนินธุรกิจในเรื่องพวกนี้ ซึ่งเขาก็มีความเห็นค่อนข้างสอดคล้องกับงานวิจัยของจุฬาฯ คือไปในทางเดียวกัน แต่ว่าการรับฟังตรงนี้ แทบไม่เอาข้อมูลเหล่านี้มาใส่ในรายงานเลย 

อาจจะรวมถึงการลงพื้นที่ในช่วงท้ายๆ ก่อนจะหมดอายุของคณะทำงานที่ลงมาภาคใต้ ซึ่งไปจัดเวทีรับฟังความเห็น 3 เวที ที่ อ.หลังสวน อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร และก็ที่อำเภอเมืองระนอง  ซึ่งใน 3 เวทีนี้ อาจจะ เป็นคำอธิบายในทางสาธารณะได้ว่า ลงมาฟังประชาชนในพื้นที่แล้ว แต่ก็มีนัยยะที่เห็นชัดว่า 1 ใน 2 เวทีที่หลังสวน และระนอง เห็นการจัดตั้งของกลุ่มคนที่เขาเชิญมาค่อนข้างชัดเจน ว่าเป็นกลุ่มที่หนุนเป็นหลัก คือคนที่พูดส่วนใหญ่ก็คือเห็นด้วย อาจจะมีที่พะโต๊ะที่เห็นต่างไปเลย ซึ่งที่พะโต๊ะก็ถูกกล่าวหาว่ามีพวก NGO อยู่เบื้องหลัง ซึ่งในการลงพื้นที่นอกเหนือจากการสนับสนุน แต่ว่าข้อมูลที่ชาวบ้านที่เขากังวลความเดือดร้อนในพื้นที่ การสูญเสียที่ทำกินอาชีพ  พื้นที่การเกษตร การทำประมง ท่องเที่ยว เรื่องทรัพยากร ซึ่งถึงแม้จะมีคนเห็นด้วยในเวทีระนอง หรือหลังสวนก็แล้วแต่ ใน 2 เวทีนี้ ก็มีคนพูดประเด็นนี้อยู่พอสมควร  แต่พอไปดูในรายงานแทบไม่มีเลย

นั่นหมายความว่า ถึงคุณจะไปรับฟังกลุ่มที่เห็นต่าง กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มผู้ประกอบการ แต่ในรายงานกลับไม่ปรากฎเลย ซึ่งอันนี้แหละ เรามองว่ามันก็จะไปโยงกับประเด็นคำถามของพรรคก้าวไกล ที่เขาบอกว่า เหตุผลนึงที่เขาลาออกจากกรรมาธิการก็เพราะว่า เขามีคำถามมากมาย แต่ว่าไม่สามารถที่จะมีคำตอบได้ โดยเฉพาะกับ สนข. 

ดังนั้นตนเข้าใจว่าหลายคำถามที่ สนข.เลี่ยงที่จะไม่ตอบ เพราะว่ามันเป็นคำตอบที่คงจะตอบยาก เลยกลายเป็นว่ารายงานฉบับนี้ ส่วนใหญ่ก็จะเอาข้อมูลที่เขาได้  เป็นข้อมูลมือสองที่เขาได้จากหน่วยงานที่เขาเชิญมา หมายถึงว่าเอามาเรียบเรียงกัน คือภาษาก้าวไกลก็บอกว่าตัดแปะ  มันก็เลยเป็นลักษณะของรายงานที่คุณก็แค่เอาข้อมูลของแต่ละส่วนที่เขามารายงานที่เขามาชี้แจงเอามารวบรวม กลายเป็นรายงานฉบับนี้ แต่คุณไม่ได้เอาความคิดความเห็นที่มันมีชีวิต มันเป็นข้อมูลมือหนึ่ง หยิบเข้าไปใส่ในรายงานเลย 

“ ซึ่งอันนี้แหละ  ผมคิดว่าที่จริงถ้ารัฐสภาเขาฟังอย่างมีเหตุมีผล โดยไม่ได้ไปใช้ว่าเป็นอยู่การเมืองฝ่ายไหนแล้วก็ไปยกมือเห็นด้วยกับรายงานฉบับนี้ อันนี้ก็น่าเสียดาย ที่จริงสภาฯ ควรมีข้อสังเกต บอกกับคณะทำงานว่าไปปรับปรุงรายงานมาใหม่ เอาข้อเท็จจริงใส่เข้ามา เพื่อที่จะได้เป็นข้อสังเกตใหญ่ๆ  กมธ.ควรจะทำหน้าที่ให้รัฐบาล เอาไปพิจารณาขบคิดมากขึ้น ซึ่งอันนี้กลับไม่มี “ 

สมบูรณ์ คำแหง กล่าว

ดังนั้นจากกรณีที่เกิดขึ้น กลุ่มภาคประชาชนที่มีความกังวลต่อผลกระทบและไม่เห็นด้วยกับรายงานการศึกษาดังกล่าว เตรียมเคลื่อนไหวต้นเดือนมีนาคมนี้ โดยจะไปทวงถามนายกฯเศรษฐา ตามข้อเรียกร้องที่ได้ยื่นให้ทบทวนไปก่อนหน้านี้ รวมทั้งสภาฯ ในประเด็นการเห็นชอบด้วย เพื่อบอกให้ทบทวนชี้ให้เห็นว่ารายงานฉบับนี้มันมีข้อบกพร่องอย่างไรบ้าง 

ขาวบ้านซึ่งคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี 22 ม.ค.2567

นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายที่จะไปสื่อสารกับสถานทูตประเทศต่างๆ ที่นายกฯเศรษฐาได้ไปนำเสนอโครงการนี้ เพื่อจะบอกว่าภายใต้โครงการนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับคนในพื้นที่ อาจจะมีซักเวทีหนึ่งสื่อสารต่อคนกรุงเทพฯ คนในพื้นที่ได้ไปพูดไปเล่าให้ฟังว่าทำไมคนพะโต๊ะ ระนอง ชุมพร อีกจำนวนหนึ่งเขากังวลต่อโครงการนี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active