ชาวชุมพร-ระนอง ทวงคำสัญญา นายกฯ ทบทวน “แลนด์บริดจ์” 

เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ-รักษ์ระนอง รวมตัวเข้า กทม. ยื่นหนังสือทวงถามถึงนายกฯ หลังรับปากตอน ครม.สัญจร ทั้งเรื่องผลกระทบแลนด์บริดจ์และให้สัญชาติคนไทยพลัดถิ่นไปพิจารณา แต่ยังไร้ความคืบหน้า หวัง คำพูดนายกฯ จะไม่เป็นเพียงวาจาเลื่อนลอย

วันนี้ (5 มี.ค. 2567) ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ เครือข่ายรักษ์ระนอง เดินทางเข้ายื่นหนังสือเพื่อทวงถามความคืบหน้า ข้อร้องเรียนของประชาชนในโครงการแลนด์บริดจ์จาก เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

สมโชค จุงจาตุรันต์ ตัวแทนเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ กล่าวว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้เพื่อทวงถามความคืบหน้ากรณีผลกระทบจากโครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร – ระนอง และกรณีคนไทยพลัดถิ่นในพื้นที่ จ.ระนอง เมื่อครั้งคณะรัฐมนตรีเดินทางไปประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.ระนอง เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งมีรายละเอียดสำคัญ คือ

1. ขอตรวจสอบและสั่งทบทวนกระบวนการศึกษาโครงการที่ผ่านมาแล้วทั้งหมด โดยการสร้างมาตรฐานทางวิชาการและมาตรฐานของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เกิดขึ้นจริง ทั่วถึง เป็นธรรม โดยต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

2. ยกระดับกระบวนการศึกษาภาพรวมของโครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง – ชุมพร ทั้งในมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคมวัฒนธรรม และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ โดยให้มีกลไกและกระบวนการศึกษาที่จะทำเกิดการประมวลผลการศึกษาภาพรวมโครงการทั้งหมด อันจะทำให้ท่านได้เห็นภาพและข้อมูลผลกระทบและผลสัมฤทธิ์อย่างแม่นยำในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของโครงการ

3. ควรศึกษาทางเลือกในการพัฒนาจังหวัดระนอง ชุมพร และภาคใต้ในมิติอื่น ๆ ด้วย อันรวมถึงการศึกษาศักยภาพที่แท้จริงของภาคใต้ในมิติการท่องเที่ยว การประมง การเกษตร ซึ่งรวมถึงมิติทางด้านสังคมวัฒนธรรม โดยการใช้นโยบายตามแนวคิด ซอฟต์พาวเวอร์ ทำการยกระดับการพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าแต่ละมิติให้เกิดประโยชน์สูงสุด

4. เพื่อให้ข้อเสนอดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ขอเสนอให้ตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด ที่มีองค์ประกอบของหลายภาคส่วน เช่น นักการเมือง ข้าราชการ ท้องถิ่น ท้องที่ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เป็นกลไกในการดำเนินงานตามข้อเสนอทั้งหมดให้เป็นที่ประจักษ์ อันจะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความไม่เข้าใจที่ไม่ตรงกันของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ และเพื่อช่วยค้นหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงได้ร่วมออกแบบการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของท่านและรัฐบาลตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา

“ผมขอนำเรียนว่า สิ่งที่รัฐบาลพูด และทำ โดย นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ผมเชื่อว่าเขารับฟัง แต่จะรับฟังแล้วผ่านพ้นไปหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่ในมุมมองผม ผมว่ามันย้อนแย้ง ในเมื่อท่านบอกว่าอยู่ระหว่างการศึกษา หลายโครงการภายใต้โครงการแลนด์บริดจ์ เช่น มอเตอร์เวย์ ไม่มีการสำรวจ หรือเปิดรับฟังความคิดเห็นเลย แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลกลับปักธงว่าจะเอาโครงการนี้ให้ได้ ด้วยการเดินสายโรดโชว์ มองว่ารัฐบาลขาดความจริงใจอย่างรุนแรง ทำให้ประชาชนในพื้นที่ขาดความเชื่อถือ หากรัฐบาลจริงจัง จริงใจ ปัญหา 4 ข้อที่เสนอ มันไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรง พวกเราไม่ได้ขวางการพัฒนา เรายินดีที่จะพัฒนาที่ต้องสอดคล้องกับศักยภาพพื้นที่”

สมโชค จุงจาตุรันต์

ขณะที่ รสิตา ซุ่ยยัง ตัวแทนคนไทยพลัดถิ่น จ.ระนอง ได้กล่าวถึงข้อเสนอที่เคยมอบให้นายกฯ ว่ากรณีปัญหาคนไทยพลัดถิ่นในจังหวัดระนอง มีข้อเสนอดังนี้

  1. ขอให้นำนโยบายการรับรองสัญชาติให้กับคนไทยพลัดถิ่นที่ยังตกหล่นในพื้นที่ จ.ระนองเพิ่มเติม โดยนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อดำเนินการสำรวจและรับรองสัญชาติให้กับคนไทยพลัดถิ่นในประเทศที่ยังตกหล่นจากทะเบียนบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน
  2. ขอให้สั่งการเป็นนโยบายให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดการทำงานภายใต้ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555 และกรณีแก้ไขรายการ
  3. ขอให้จัดตั้งกองทุนตรวจรหัสพันธุ์กรรม หรือ ดีเอ็นเอ เพื่อสนับสนุนให้คนไทยพลัดถิ่นได้เข้าถึงสิทธิ์ในการเป็นพลเมืองไทยได้ง่ายขึ้น

รสิตา ระบุอีกว่า หลังจากยื่นหนังสือในนายกฯ ครั้งนั้น นายกฯ ได้รับปากกับชาวบ้านและให้สัมภาษณ์ว่า พร้อมรับฟังความทุกข์ร้อนของพี่น้องประชาชน และเห็นเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการให้มีการแก้ไขปัญหา และได้แจ้งไว้อย่างชัดเจนว่า อยากให้มีการนำข้อเรียกร้องเหล่านี้ไปพิจารณาและดำเนินการให้มีความคืบหน้าบ้าง ภายในเวลา 1 เดือน และหากยังไม่มีความคืบหน้าก็จะขอมาทวงถามโดยตรงที่ทำเนียบรัฐบาล

การเดินทางมาครั้งนี้ต้องการแสดงให้เห็นถึงความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นและหวังว่าการรับปากของนายกฯ จะไม่ใช่เป็นเพียงกล่าววาจาเลื่อนลอยเพียงให้ผ่านไปทีเท่านั้น พร้อมกับยังหวังว่าท่านและคณะรัฐมนตรีทั้งหลายจะไม่เพิกเฉยและละเลยต่อความเดือดร้อนของประชาชน ที่จะเกิดขึ้นภายใต้นโยบายการพัฒนาที่พวกท่านพยายามผลักดันในเวลานี้ ด้วยการเร่งดำเนินการตามข้อเรียกร้องทั้งหมดในเร็ววันนี้ และหากยังไม่มีการดำเนินการอื่นใดจากนี้ไป พวกเราจะเดินทางมาทวงถามในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมีความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวต่อไป”

รสิตา ซุ่ยยัง

สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง เป็นผู้รับเรื่อง กล่าวว่า เรื่องเกี่ยวกับการศึกษาข้อมูล และเพิ่มเติมข้อมูลที่จะศึกษา ได้ประสานกับ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ซึ่งความจริงตั้งใจจะมารับเรื่องเองเพื่ออธิบายแต่ติดภารกิจอื่น แต่ยืนยันว่ากำลังมีการทำรายละเอียด ส่วนเรื่องคนไทยพลัดถิ่น ตอนนี้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการอยู่แต่ยังไม่แจ้งความคืบหน้า โดยหลังจากรับเรื่องวันนี้จะนำไปเสนอเรื่องด่วนถึงนายกฯ คาดว่าจะถึงรักษาการที่ทำหน้าที่แทนนายกในวันถัดไป และนายกฯ กลับจากต่างประเทศวันที่ 15 มี.ค. จะได้ดูอีกครั้ง 

“อย่างไรก็แล้วแต่ เรื่องการเรียกร้อง ความคิดเห็นที่แตกต่าง ผมยืนยันว่าเราฟังทุกเสียงอยู่แล้ว เรื่องการศึกษาข้อมูล จริง ๆ ผมเห็นด้วยนะ ที่จะทำอะไรแล้วอยู่ ๆ ผ่านไปเลยไม่ได้ อย่างพะโต๊ะรายละเอียดผมก็มีเยอะอยู่ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการสวนทุเรียน สวนมังคุดต่าง ๆ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ทำอย่างไรให้มาคุยกันให้รู้เรื่องทุกกลุ่มก่อนที่จะดำเนินการ เรื่องนี้ยังยืนยันเหมือนเดิมว่ารัฐบาลจะคุยทุกกลุ่มให้เข้าใจกัน”

สมคิด เชื้อคง

สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติ (กป.อพช.) กล่าวว่า หนังสือที่ยื่นครั้งนี้เป็นข้อเรียกร้องเดียวกันกับที่เคยยื่นก่อนหน้า แต่ไม่มั่นใจว่าครั้งก่อนที่ยื่นนายกฯ ได้อ่านหรือไม่ ในข้อเรียกร้องมีความชัดเจนว่า เขาไม่มั่นใจในกระบวนการศึกษาของ สนข. คือ อยากให้รัฐบาลตรวจสอบการสำรวจรับฟังความเห็นของ สนข. เป็นไปตามระเบียบหรือไม่ เพราะหลายคนไม่ได้ถูกเชิญเข้าร่วมประชุมแต่ที่ดินกลับถูกเวนคืน

“ถ้ารัฐบาลจะเดินหน้าโครงการนี้ให้ได้ ก็ว่าไป แต่กระบวนการตรงนี้ต้องชอบธรรม ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่รัฐบาลจะต้องถอยกลับมาทบทวน ส่วนไทยพลัดถิ่น โครงการนี้กระทบกับเขา และเขาเองก็ออกมานอกพื้นที่ไม่ได้ สถานะทางสัญชาติก็ไม่ถูกรับรอง ทั้ง ๆ ที่กฎหมายออกมาแล้ว ตอนนี้ตกหล่นจำนวนนับหมื่นคน และในจำนวนนั้นก็อยู่ในโครงการที่จะสร้าง แล้วเขาจะไปอยู่ที่ไหน”

สมบูรณ์ คำแหง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active