รำลึก 47 ปี 6 ตุลาฯ ‘กว่าจะเป็นประชาธิปไตย‘

‘ษัษฐรัมย์’ ปาฐกถาพิเศษ ย้ำ “เวลาของแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่เวลาของคนมีอำนาจไม่เคยเพียงพอ และการต่อสู้ยังไม่จบ” ด้าน iLaw รับรางวัลจารุพงษ์ฯ ชวนผูกริบบิ้นขาว ส่งกำลังใจผู้ต้องหาคดีการเมือง

วันนี้ (6 ต.ค. 2566) ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดงานรำลึกครบรอบ 47 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 เพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ โดยช่วงเช้ามีการวางดอกไม้และพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ โดยมี รศ.สุรัตน์ ทีรฆาภิบาล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์และวิเทศสัมพันธ์ กล่าวเปิดงาน

จากนั้น วัฒนา ชัยชนะสกุล จากชมรมโดมรวมใจ เป็นผู้กล่าวรายนามผู้วายชนม์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519

วัฒนา กล่าวว่า นอกจากวันนี้จะเป็นวันครบรอบ 47 ปี ของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ยังเป็นวันครบรอบ 27 ปี ประติมานุสรณ์ 6 ตุลาฯ อีกด้วย ซึ่งสร้างขึ้นด้วยความมุ่งหวังให้ได้ระลึกถึงวีรชน 6 ตุลาฯ โดยการอนุมัติจัดสร้างโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ส่วนการขานนามวีรชน 6 ตุลาฯ คือสัญลักษณ์เพื่อแสดงว่าเราไม่เคยลืมเพื่อนเรา และชื่อของพวกเขาจะได้รับการเอ่ยถึงเช่นนี้ต่อไปทุกปี

จากนั้นเป็นพิธีวางพวงมาลาจากตัวแทนประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งครอบครัวและญาติของผู้วายชนม์ ตัวแทนประธานรัฐสภา ตัวแทนพรรคการเมือง ตัวแทนกลุ่มการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่าง ๆ เช่น กลุ่มทะลุฟ้า รวมถึงองค์การนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ คณะประชาชน และมูลนิธิ

รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กล่าวปาฐกถาพิเศษรำลึก 47 ปี 6 ตุลาฯ 2519 ประจำปี 2566 หัวข้อ “แด่ทุกต้นกล้าความฝัน : ตื่นจากฝันร้ายของอำนาจนิยมและทุนผูกขาดสู่รัฐสวัสดิการ” 

โดยสรุปในตอนท้ายว่า ไม่จะเราจะจดจำ 6 ตุลาฯ แบบใด แต่สิ่งหนึ่งที่อยากตอกย้ำคือ คนเราต่างต้องการให้สังคมเท่ากันมากขึ้น เวลาของแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่เวลาของคนมีอำนาจไม่เคยเพียงพอ แต่สำหรับพวกเราต้องการเวลาแค่วินาทีเดียวที่จะได้สังคมที่เป็นประชาธิปไตยคืนมา เขาย้ำอีกว่า การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมยังไม่จบสิ้น

ส่วนการมอบรางวัล “จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย” ครั้งที่ 5 ได้แก่ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw กล่าวว่า ปีนี้ เป็นปีที่มีเรื่องสำคัญเกิดขึ้นมากมาย ถ้าสิ่งที่ทาง iLaw ทำนั้นเป็นประโยชน์ ก็อยากให้ทุกคนหันมาสนใจปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งในเดือนตุลาคมนี้ มีคดีทางการเมืองจำนวนสิบกว่าคดีที่มีการนัดหมายฟังคำพิพากษา ขอเชิญประชาชนทุกคนเดินทางไปฟังคำพิพากษาร่วมกัน เพื่อแสดงว่าพวกเขาไม่ได้โดดเดี่ยว หรือการผูกโบว์สีขาวที่ข้อมือเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และหวังว่าปีหน้าในวันที่ 6 ตุลาฯ จะได้รับชัยชนะ

และรางวัล “สิทธิมนุษยชนคนธรรมดา” ได้แก่ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ คู่ชีวิตของ ‘สุรชัย แซ่ด่าน‘ ที่พยายามเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับสามี และจิรภาส กอรัมย์ นักกิจกรรมกลุ่มทะลุแก๊ซ ซึ่งถูกดำเนินคดีทางการเมืองหลายข้อหาจากการทำกิจกรรมและเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีทางการเมืองคนอื่น ๆ จนปัจจุบันเขาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ

ปราณี กล่าวว่า ขอขอบคุณรางวัลที่มอบให้ และเป็นกำลังใจให้ตน ขอบคุณทุกองค์กรที่ช่วยกระจายข่าวสารที่ได้ร้องทุกข์ เพื่อให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ ตัวแทนคนเดือนตุลาฯ กล่าวรำลึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์และแสดงความอาลัยต่อวีรชน โดยกล่าวถึงผลพวงของ ม.112 ว่ามาจากเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นและหวังว่าจะมีการแก้ไขโทษให้เหมาะสม และเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ยังเป็นบทเรียนสำคัญของการเมืองไทย หวังผู้มีอำนาจทางการเมืองที่หลายคนก็เคยอยู่ในเหตุการณ์เดียวกันมาก่อนจะมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active