แนะทางออกการเมืองไทย ใครควรนั่งเก้าอี้ “ประธานสภา”

ครป. จัดเวทีวิเคราะห์การเมือง คาด กระแสเรื่องประธานสภายังไม่จบ นักวิชาการ แนะ พรรคฝั่งร่วมจัดตั้งรัฐบาลทำการเมืองแบบใหม่ เพื่อไม่ให้การเมืองแบบเกมอำนาจเข้ามาแทรก ยึดหลักธรรมาภิบาล ตรงไปตรงมา และชัดเจน

1 ก.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และภาคประชาชน จัดเวทีวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทยและข้อเสนอต่อทุกฝ่าย ใน “ศึกชิงประธานสภาและนายกรัฐมนตรี” หลังเข้าสู่เดือนที่ 3 นับจากวันเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยตั้งประเด็นว่าการเมืองไทยยังคงไร้จุดมั่นคง ว่าใครจะได้ตำแหน่งประธานสภาและตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้เหมือนว่าพรรคก้าวไกลจะมีคะแนนเสียงที่สูงเป็นอันดับหนึ่ง แต่ก็มีกระแสสืบเนื่องจากการให้อำนาจ ส.ว. ออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อกระแส ส.ว. เบาลง ก็มีกระแสข่าวท่าทีของพรรคการเมืองที่ได้คะแนนอันดับสองอย่างเพื่อไทยออกมาเคลื่อนไหวเพื่อชิงตำแหน่งประธานสภา 

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต อดีตกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน คนที่เสพข่าวจะต้องรู้จักวิเคราะห์ข่าว คาดว่าเรื่องประธานสภายังไม่จบ แต่สิ่งที่ประชาชนควรจะได้เห็นคือการร่วมกันโดยการยึดหลักการปรึกษาหารือในการทำงานร่วมกันให้เกิดความสำเร็จ 

“เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นที่เราอยากจะเห็นคือการคุยกันของทั้งสองพรรค ไม่ใช่เรื่องการไปสร้างความชอบธรรมจากภายนอก เพื่อบีบบังคับให้เกิดการยอมจากภายใน สิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือการประชุมพูดคุยกันเพื่อให้ได้คำตอบให้ได้ ว่าใครจะเป็นประธานสภาโดยการเห็นพ้องของทั้งสองฝ่าย”

รศ.สมชัย กล่าวอีกว่า ทั้งสองพรรคมีงานใหญ่ร่วมกันอยู่สองงาน คือ ทำให้เกิดการโหวตประธานสภาที่มาจากความเห็นชอบร่วมกัน และการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคนที่ได้รับการยอมรับ กระบวนการแบบนี้เป็นกระบวนการที่เราพอรับได้ เป็นการจับมือกันในฝั่งประชาธิปไตยเป็นหลัก และถ้ามีการเพิ่มพรรคเข้ามา อยากให้เป็นความเห็นชอบร่วมกันของทั้ง 8 พรรค

ด้าน ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยเปลี่ยนไป ต่อไปนี้อำนาจรัฐจะต้องมาจากประชาชน และต้องไม่ปล่อยให้สำนึกเก่า ๆ วัฒนธรรมเก่า วิธีคิดแบบเก่า มาครอบงำประเทศไทย เราต้องให้ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดสำนึกใหม่กับประเทศไทย และขยายไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน การเมืองสำนึกใหม่จะต้องมาจากอำนาจประชาชนไม่ใช่เงินตรา  

“เราต้องมาคิดว่าทำอย่างไรจะได้รัฐมนตรีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับกระทรวงนี้ ไม่ใช่เพราะฉันอยู่เพื่อไทยหรือก้าวไกล ฉันถึงจะได้ เราต้องการเห็นคนที่ดีที่สุดมาทำงานให้ประเทศ ถ้าเราได้คนที่มีฝีมือดีที่สุดก็จะเป็นประโยชน์โดยรวมต่อประเทศ และเป็นประโยชน์ต่อพรรคด้วย อย่าตกอยู่ในวังวนของมิจฉาทิฏฐิ ถ้าทำได้จะเป็นกุศลธรรมอันยิ่งใหญ่ของประเทศชาติ กุศลธรรมต่อคนรุ่นหลัง”

ขณะที่ รศ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ประชาชนได้แสดงให้เห็นแล้วว่าต้องการการเมืองแบบใหม่ที่มีธรรมาภิบาลเพราะพรรคที่ไม่ได้ซื้อเสียงชนะเป็นอันดับหนึ่งเหนือพรรคทั้งปวง นี่คือสัญญาณการเปลี่ยนแปลงว่าประชาชนจำนวนมากในประเทศต้องการการเปลี่ยนแปลง การขยายตัวของวิถีการเมืองแบบธรรมาภิบาล ที่แสดงให้เห็นผ่านการเลือกตั้ง เข้ามารุกคืบการเมืองเกมอำนาจให้ถดถอยไป พร้อมแนะ พรรคฝั่งรัฐบาลทำการเมืองแบบใหม่เพื่อไม่ให้การเมืองแบบเกมอำนาจเข้ามาแทรก การจัดตั้งรัฐบาลและการแย่งชิงตำแหน่งไม่ได้เกิดขึ้นภายใต้สูญญากาศ แต่เกิดจากการกดดันจากขั้วอำนาจเก่าที่พยายามทำให้การจัดตั้งรัฐบาลจากเพื่อไทยและก้าวไกลให้จับมือกันไม่ได้ ด้วยการสร้างความจูงใจให้เพื่อไทยแยกออกจากก้าวไกล  ฉะนั้น ควรยุติการเล่นเกมการเมืองแบบเกมอำนาจควรยึดการเมืองแบบธรรมาภิบาล ประกาศกับสาธารณะอย่างตรงไปตรงมาและชัดเจน โดยยึดหลักเคารพเสียงมติมหาชน

“ผมเชื่อว่าการเมืองแบบธรรมภิบาลที่ได้รับการสนับสนุนของประชาชน ได้แสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนแล้วในปัจจุบัน จะพิชิตการเมืองเกมอำนาจให้ได้”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active