อภิวัฒน์สยาม 2475 สู่ บทเรียนการปกป้องชัยชนะประชาชน

รศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ ฝากถึงว่าที่รัฐบาลใหม่อย่าแข่งกันเองจนแตกแยก เปิดทางการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ด้วยเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่นักวิชาการและนักการเมืองสะท้อนปัญหารัฐธรรมนูญ 60 ผ่านเวทีเสวนา ” 91 ปีประชาธิปไตยกับก้าวต่อไปหลังการเลือกตั้ง” แนะแก้รัฐธรรมนูญที่ยึดโยงกับประชาชนและตอบโจทย์ประเทศ

วันนี้ (24 มิ.ย.2566) สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดงานเสวนาวิชาการ PridiTalk ครั้งที่ 21 “เราจะรักษาชัยชนะก้าวแรกของประชาชน (และก้าวต่อๆไป) ไว้ได้อย่างไร” เนื่องในโอกาสครบรอบ 91 ปีอภิวัฒน์ประชาธิปไตยสยาม 24 มิถุนายนพ.ศ. 2475 เพราะบทเรียนของการต่อสู้เหล่านี้สำคัญต่อปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะชัยชนะก้าวแรกของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.66 ครั้งล่าสุดของสังคมไทย ประชาชนคาดหวังการเปลี่ยนผ่านไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

แต่จนถึงวันนี้กติกาที่ไม่แน่นอนในทางการเมือง กลับสั่นคลอนความเชื่อมั่น และความไม่แน่นอนของหน้าตารัฐบาลบทเรียนในอดีตจะช่วยปกป้อง อำนาจประชาชนผ่าน “บัตรเลือกตั้ง” ได้แค่ไหนจึงยังคงเป็นคำถามสำคัญจนถึงปัจจุบัน และหากบัตรเลือกตั้ง หรือเสียงของประชาชน ไม่ถูกให้ความสำคัญ หรือได้รับการปกป้อง นั่นอาจหมายถึงความรุนแรง ขัดแย้ง เห็นต่างที่อาจจะวกกลับมาไม่จบสิ้นในสังคมไทย

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจากอดีต – จุดเปลี่ยนอนาคตประเทศ

รศ. อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดีพนมยงค์และกรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุ การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา บางประเทศประสบความสำเร็จ บางประเทศไม่ราบรื่น บางประเทศล้มเหลว และเมื่อหันมองมาที่ประเทศไทย ตอนนี้ก็ถือว่าเป็น ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ จุดเปลี่ยนอนาคตประเทศ จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยึดมั่นในกลไกรัฐสภา และแนวทางสันติวิธี

บทเรียนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคณะราษฎร ของขบวนการคนเดือนตุลา ขบวนการประชาธิปไตยในเหตุการณ์พฤษภา 35 และ 53 ของขบวนการปฏิรูปประชาธิปไตยของเยาวชนปี 63 เป็นบทเรียนที่สำคัญต่ออนาคตประชาธิปไตย และชะตากรรมของประชาชน จนมาถึงวันนี้ประเทศไทยมีชัยชนะก้าวแรกจากผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด (14 พ.ค.66) ประชาชนคาดหวังถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สะท้อนผ่านการเทคะแนนเลือกพรรคการเมืองขั้วตรงข้ามพรรคการเมืองเดิม ขณะที่พรรคก้าวไกล ที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ยังเป็นพรรคการเมืองที่เลือกชูนโยบายที่แตกต่าง เน้นการเสนอความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ให้กับสังคมไทย และเน้นการพูดถึงแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยใหม่ ที่ไม่มีพรรคการเมืองใดเคยพูดถึง รศ.อนุสรณ์ ตั้งคำถามกับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า จะทำอย่างไรให้สามารถปกป้องประชาธิปไตย และรอดพ้นจาก “ขบวนการจารีตอนุรักษ์นิยมขวาจัดสุดโต่ง”

“ชัยชนะก้าวแรกของประชาชน จากผลการเลือกตั้ง 14 พ.ค.

จะเปลี่ยนผ่านไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของประชาชนได้อย่างไร  

จะปฏิรูปประเทศที่มีความเป็นธรรมกว่าเดิม จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีสันติสุขกว่าเดิม ได้อย่างไร

สำคัญ คือ จะปกป้องประชาธิปไตย ให้รอดพ้นจากการบ่อนทำลาย การสกัดกั้น จาก ขบวนการจารีตอนุรักษ์นิยมขวาจัดสุดโต่ง ได้อย่างไร “


รศ. อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดีพนมยงค์ 

อภิวัฒน์สยาม 2475 ถึงว่าที่รัฐบาลใหม่ “บทเรียนของการปกป้องชัยชนะ เพื่อรักษาประชาธิปไตย และผลประโยชน์ประชาชน”

รศ.อนุสรณ์ ย้ำ พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยต้องมีเอกภาพ ไม่ว่าการเลือกประธานรัฐสภา หรือ นายกรัฐมนตรี ต้องอย่าแข่งขันกันเอง หากแตกแยกกัน โอกาสการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยด้วยเสียงของ ส.ว. จะเกิดขึ้นทันที เพราะมีการออกแบบรัฐธรรมนูญปิดประตูไม่ให้พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับ คสช. ชนะการเลือกตั้ง แต่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยก็สามารถเอาชนะได้ในครั้งนี้จากมวลชนผู้มุ่งมั่นต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ

ครั้งนี้แน่นอนว่าจะมีการใช้ การยุบพรรคการเมือง การฟ้องคดีเพื่อตัดสิทธิทางการเมือง เป็นเครื่องมือในการสกัดกั้นพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย จะมีการใช้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ (ที่ไม่อิสระภายใต้รัฐธรรมนูญ)ในการปฏิบัติการต่อคู่แข่งขันทางการเมืองอย่างไม่เป็นธรรมของระบอบสืบทอดอำนาจจาก คสช. เหมือนกับเผด็จการทหารเผด็จการพม่าดำเนินการต่อ “อองซาน ซูจี” และ “พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย”  

ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เคยให้ข้อเสนอแนะไว้ว่า การต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ และซากแห่งพลังโต้อภิวัฒน์ชนิดต่าง ๆ ที่ยังมีอยู่ ว่า …ไม่อาจหวังพึ่งบุคคลใดคนเดียว หรือคณะใดคณะเดียวเท่านั้น นอกจากพึ่งพลังของประชาชน ซึ่งเป็นพลังอันแท้จริง…”

รศ. อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดีพนมยงค์

รศ. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า อาจารย์ปรีดีเคยให้สัมภาษณ์ กับ แอนโทนี พอล แห่งเอเชียวีค ว่า “ข้าพเจ้าอายุ 32 ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ” ได้สะท้อนความผิดพลาดของคณะราษฎรที่สำคัญ คือ ไม่สามารถรักษาชัยชนะก้าวแรกไว้ได้ กล่าวคือ เมื่อชนะแล้วก็ต้องรักษาชัยชนะไว้ด้วย เมื่อรักษาชัยชนะไว้ไม่ได้ก็ไม่อาจพัฒนาประชาธิปไตยได้ ไม่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน และ ประเทศชาติตามอุดมคติได้  ไม่มีโอกาสในการแก้ปัญหาต่างๆ และสร้างความเจริญก้าวหน้าด้วยอำนาจการเมืองได้ สมาชิกคณะราษฎรบางส่วนขาดความจัดเจนทางการเมือง และ เกิดความขัดแย้งแตกแยกกันในขบวนการ และไม่ได้ระวังป้องกันการโต้อภิวัฒน์ ทำให้พลังตกค้างแห่งระบอบเก่า สามารถฟื้นกลับมามีอำนาจและทำลายล้างประชาธิปไตยได้ในที่สุด  

ปัญหาสำคัญอยู่ที่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่ชนะการเลือกตั้งจะสามารถจัดการแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในให้ลดน้อยลงและจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคได้อย่างไรและสามารถรักษาอุดมการณ์และสัญญาประชาคมได้หรือไม่กรณีคณะราษฎรได้ให้บทเรียนกับเราแล้ว

รศ.อนุสรณ์ แนะ 5 ก้าว เพื่อรักษาชัยชนะประชาชน

  • ก้าวแรก จัดตั้งรัฐบาลพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยให้ได้ เพื่อยุติระบอบสืบทอดอำนาจจาก คสช. และ สถาปนา “ประชาธิปไตยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ให้หยั่งรากลึกในสังคมไทย สร้างค่านิยมและวัฒนธรรมประชาธิปไตยกลายเป็นกระแสหลักในสังคมไทย  
  • ก้าวที่สอง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน ทำให้ประเทศไทยปกครองโดยกฎหมาย ไม่ใช่ปกครองโดยคนหรือคณะบุคคล ทบทวนยุทธศาสตร์ชาติให้เป็นยุทธศาสตร์แบบมีส่วนร่วมและอยู่บนหลักการประชาธิปไตย 
  • ก้าวที่สาม รัฐบาลใหม่ต้องบริหารประเทศด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใสปลอดทุจริต
  • ก้าวที่สี่ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ลดการผูกขาด เพิ่มการแข่งขัน  
  • ก้าวที่ห้า สร้างความปรองดองสมานฉันท์ ร่วมกันสร้างสังคมสันติธรรม 

ขณะที่ “เวทีเสวนา 91 ปีประชาธิปไตยกับก้าวต่อไปหลังการเลือกตั้ง” ที่จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เปิดพื้นที่ให้นักวิชาการและนักการเมือง แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับสังคมไทย ในโอกาสครบรอบวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 โดยมีการหยิบยกถึงปัญหาที่เกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2560

รศ.โภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย ชี้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้ออกแบบ เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง แต่เอื้อต่อผู้มีอำนาจในขณะนั้น คือ คสช. และแม่น้ำ 5 สาย ดังนั้นหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้เร็ว ต้องแก้ไขกับดักในรัฐธรรมนูญปี 2560 เช่น กติกาเกี่ยวกับอำนาจ ส.ว.

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 ให้เป็นกติกาที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ตอบโจทย์ประเทศ หัวใจสำคัญคือรัฐธรรมนูญต้องกำหนดเรื่องหลักที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับประชาชน และต้องมีการระบุถึงการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจรัฐ

รศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาฯ คณะก้าวหน้า ระบุว่า ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ทำได้เรื่องเดียวคือการแก้ระบบเลือกตั้ง ส่วนเรื่องอื่นๆ ตกหมด โดยมองว่า หัวใจสำคัญในการแก้รัฐธรรมนูญ อยู่ในหมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้แก้ไขได้ยากมาก

โดยหวังว่า พรรคก้าวไกล และเพื่อไทย จะจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เพราะหากรวมคะแนนเลือกตั้ง 2 พรรคการเมือง เป็นการสะท้อนเจตจำนงของประชาชนที่อยากให้ 2 พรรคได้เป็นรัฐบาล และขอให้วาระแรกๆ คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมมองว่ารัฐธรรมนูญที่ดีต้องยึดโยงกับประชาชน และให้ความสำคัญกับเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย

ขณะที่ รศ.เจษฎ์ โทณวณิก นักกฎหมายที่ได้เสนอรูปแบบแก้ไข-เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยแนะว่า การทำประชามติต้องรอบด้าน และไม่ควรไปเร่งรัด กำหนดเงื่อนเวลาจนเกินไป ขอให้ใช้ระยะเวลา 4 ปีในสภาฯ แก้ไขให้ได้รัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active