ส่งเสียงถึง กกต. ทบทวนเลือก สว.ให้ยึดโยงประชาชนแก้ระเบียบให้ผู้สมัครแนะนำตัวได้

ตัวแทนนักวิชาการ ฝ่ายการเมือง ชี้การเลือกสว. รอบนี้ อาจเป็นการเลือกที่เงียบที่สุด อาจนำไปสู่การจัดตั้ง หรือการช้อนซื้อเพื่อกุมอำนาจในภายหลัง   เชื่อ สว.ใหม่ จะดีกว่ายุคแต่งตั้งโดย คสช.  หวังให้เข้ามาทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจ เดินหน้าแก้​ รธน. โดยนึกถึงประโยชน์ประชาชนมากกว่าอำนาจส่วนตน 

วันนี้ (11 พ.ค.67) ​เวทีเสวนาวิชาการ วันปรีดี พนมยงค์ 2567 PRIDI Talks #25   ในหัวข้อ เก่าไปใหม่มา:  สว.ชุดใหม่ อนาคตประชาธิปไตย อนาคตประเทศ ที่จัดขึ้นที่ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย จตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี, ศาสตราจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ  อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รองศาสตราจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯสภาผู้แทนราษฎร, และ ศาสตราจารย์สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ในเวทีได้เริ่มต้นเปิดประเด็นประเมินผลงานของวุฒิสภาชุดคสช. ที่ได้หมดวาระ 5 ปี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา  โดยผู้ร่วมเสวนาต่างเห็นพ้องในทิศทางเดียวกันว่า เป็นสว.ที่ทำให้ประชาชนเกิดการตั้งคำถามว่า จะมีสว.ไว้ทำไม ต้องใช้งบประมาณมากมายเกือบ 4,000 ล้าน แต่เนื้องานพิจารณากฎหมายสำคัญได้ไม่กี่ฉบับ ที่สำคัญเลือกนายกรัฐมนตรี 2 คน ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง คือมานอกรัฐธรรมนูญ บล็อกไม่ให้เป็นนายกฯ ฝืนความชอบธรรม ความต้องการของประชาชน หากให้คะแนนแบบตัดเกรดคือติด F 

นอกจากนี้ ยังปัดตกขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขบทบาท สว.ปฏิเสธการปิดสวิตซ์ตัวเอง ปฏิเสธให้ความเห็นชอบตั้งประธานศาล หรือการรับรอง ปปช. หลายท่าน เป็นการใช้อำนาจให้ไฟแดงกับองค์กรอิสระที่ไม่สอดคล้องกับตนเอง ผลงานที่ชัดเจน คือการสืบทอดอำนาจหรือรักษาพินัยกรรมของ คสช.

อีกทั้ง หน้าที่การปฏิรูปประเทศ ไม่เห็นการปฏิรูปผลิดอกออกผล​ แต่เป็นการสืบทอดอำนาจ คสช. ทั้งหมดทั้งปวง ที่ต้องขอบคุณ สว. คือการทำให้เห็นภาพว่า การรัฐประหารและตั้ง สว.รัฐประหารล้มเหลวอย่างไร และ สว.ที่มีที่มา เช่นนี้ ควรต้องเดินหน้าแก้รธน. เพื่อแก้ไขต่อไป ​

“ให้คะแนนเต็ม 10 ในแง่พิทักษ์รักษาอำนาจเดิมของ คสช.  คือใครตั้งเขามาก็ทำหน้าที่ตอบสนอง  สว.ชุดที่ผ่านมาจึงเป็นลูกจ้างที่ซื้อสัตย์มาก ถ้าเรามองรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นพินัยกรรม ที่ไม่ให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่เขาวางไว้ สว.ก็พิทักษ์อันนี้ แต่มองในแง่การส่งเสริมประชาธิปไตย ตรวจสอบถ่วงดุล อันนี้ให้ 0 คะแนน สว.ชุดนี้จึง เป็น สว.ที่มีบทบาทขัดขวางกร่อนเซาะประชาธิปไตยมากที่สุดในประวัติศาสตร์“ 

ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ภาพจาก : Facebook Live / สถาบันปรีดี พนมยงค์ Pridi Banomyong Instiute

ในเวทียังเห็นในทิศทางเดียวกัน ฝากถึง สว.ที่หมดวาระแล้วว่า อย่าทวนเข็มนาฬิกา  อย่าตีรวนให้การประกาศรับรอง สว.ใหม่ล่าช้า และไม่ควรเข้ามาทำหน้าที่ในการตัดสินใจเรื่องสำคัญต่ออนาคตประเทศในช่วงรักษาการให้เป็นหน้าที่ของ สว.ชุดใหม่ 

ส่วนในประเด็นเกี่ยวกับระบบวุฒิสภา ทั้งอดีตของวุฒิสภาไทยและในต่างประเทศ ศาสตราจารย์สิริพรรณ ระบุว่า วุฒิสภาเป็นสภาพี่เลี้ยงของสภาผู้แทนราษฎร เดิม​ปรีดี พนมยงค์ เคยออกแบบให้ยึดโยงกับประชาชนผ่านการเลือกตั้ง แต่เมื่อเปลี่ยนให้มาจากการแต่งตั้งกลายเป็นเครื่องมืองค้ำจุนอำนาจรัฐ  และในเวลาต่อมาวุฒิสภายังมีข้อครหาสภาผัวเมีย จึงเป็นข้อถกเถียงในการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กล่าวถึงระเบียบการได้มาซึ่ง สว.ทำให้ผู้สมัครกังวลในการดำเนินการจนมีการยื่นร้องศาลปกครอง พร้อมเสนอแนะให้ กกต.ผ่อนปรน ออกระเบียบอะลุ่มอล่วยให้ประชาชนร่วมสังเกตการณ์เลือกได้  และสิ่งที่น่ากลัวกว่าไม่ใช่แค่กระบวนการเลือกตั้งที่เงียบไม่ยึดโยงกับประชาชน แต่อาจเป็นการเปิดให้มีการช้อนซื้อ สว. เพื่อกุมอำนาจในภายหลัง 

เช่นเดียวกับ รองศาสตร์จารย์ประจักษ์ กล่าวถึงรูปแบบการเลือก สว.ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่เคยมีประเทศใดในโลกมีระบบนี้ มองเป็นระบบที่ไม่ชอบธรรม และไม่ยึดโยงประชาชน ชี้เป็นความพิสดารและสร้างความสับสนโดยตั้งใจ เปรียบเป็นระบบครึ่งบกครึ่งน้ำ และไม่ได้ตอบโจทย์การเป็นตัวแทนประชาชน แต่เป็นระบบการเลือกเหมือนกล่องสุ่ม มอง สว.ที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนทำให้ฝ่ายการเมืองมาช้อนซื้อด้วยกล้วยหรือล็อบบี้ภายหลังได้ง่าย เชื่อเป็นเกมส์ที่ผู้นำได้ออกแบบมา และสิ่งที่ประชาชนทำได้คือประชาชนต้องไปสมัครเพื่อสกัดการจัดตั้ง 

ด้าน จตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี  มองว่าสิ่งที่น่ากลัวในการเลือก สว.ครั้งนี้คือการจัดตั้ง 

“ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งโดยฝ่ายการเมืองหรือจากนายทุน และ กกต.กำลังทำให้ประชาชนไม่มีส่วนร่วม จากระเบียบที่ออกมาจำกัดสิทธิเสรีภาพ เสนอให้แก้ระเบียบแนะนำตัว ให้ประชาชนแสดงความเห็นและให้ผู้สมัครให้สัมภาษณ์ออกสื่อได้“ 

จตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี 
ภาพจาก : Facebook Live / สถาบันปรีดี พนมยงค์ Pridi Banomyong Instiute

ในช่วงท้าย ผู้ร่วมเสวนาได้ฝากถึงสว.ชุดใหม่ที่กำลังเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ศาสตราจารย์สิริพรรณ เน้นย้ำว่าสิ่งแรก สว.ใหม่ คือเจอภารกิจสำคัญพิจารณา พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติและการแก้รัฐธรรมนูญ  หวังสว. ใหม่มีคุณภาพ ลบคำสบประมาทเรื่องการซื้อเสียง สว. และฝากถึงรัฐบาลทำให้มีบรรยากาศแก้รัฐธรรมนูญมากกว่านี้  

ส่วนรองศาสตราจารย์ประจักษ์ฝาก สว.ใหม่ ว่ามีเดิมพันถึงโอกาสที่จะทำให้ประชาธิปไตยไทยเข้มแข็งเปลี่ยน สว.ที่เป็นตัวแทนชนชั้นนำเป็นตัวแทนประชาชนเปลี่ยนบทบาทแช่แข็งผลักดันเกิดความเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้า เปิดหน้าต่างโอกาสให้กระบวนการประชาธิปไตยกลับมา 

ขณะที่ ​จาตุรนต์คาดหวัง สว.ชุดหน้ามีความเชื่อมโยงกับประชาชน พร้อมทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และหวังให้สว.อย่างน้อย 67 คนร่วมสนับสนุนยกมือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  

ด้าน​ พริษฐ์  ฝากถึง สว. 200 คน ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ให้ตระหนักถึงอำนาจอย่างรับผิดชอบ เพื่อปกป้องประชาธิปไตย ร่วมแก้รัฐธรรมนูญ ใช้ดุลพินิจในการแต่งตั้งบุคคลในองค์กรอิสระ และตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น ซึ่งเชื่อประชาชนจะสนับสนุนการทำงานของ สว.ใหม่อย่างแน่นอน

พริษฐ์ยังขอฝากเรื่องสภาเดี่ยวทิ้งท้าย แม้บางส่วนมองว่าอาจยังไม่จำเป็นที่รณรงค์ช่วงนี้ แต่คิดว่าเรื่องนี้มีเหตุผลสำคัญที่มองเป็นประโยชน์ประเทศมากกว่า เช่นใช้งบประมาณน้อยกว่า รวดเร็วกว่า อย่างการพิจารณากฎหมายอันนี้ชัดรวดเร็วกว่ามาก เพราะหากผ่านสว.ก็ล่าช้าไปอีกกว่า 15 %  ประเด็นเรื่องความเชี่ยวชาญ อันนี้มองว่าหลักการย้อนแย้ง เพราะหากต้องอาศัยความเชี่ยวชาญทำไมต้องให้พิจารณาในด่านสุดท้ายกระบวนการพิจารณาขั้นต้นตรงนั้นสำคัญควรตั้งผู้เชี่ยวชาญมาในขั้นตอนนั้นมากกว่า  และเหตุผลของประชาชนไม่เหมือนอดีต ไม่ได้มองว่าสว.ต้องเป็นตัวอทนจากจังหวัดของตนเอง สิ่งที่เขาหวัง คือการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นได้เข้าถึงมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ของเขามากกว่า 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active