WeVis ร่วมกับ FNF Thailand และเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาฯ เปิดวงสนทนา ‘เกม’ การเมืองและการเลือกตั้ง ผ่านเกม “Democracy Timeline Card Game และ SIM Democracy” ผู้สร้างเกม ย้ำ จุดเด่นเกมคือมีข้อมูลต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยโดยประชาชน
3 พ.ค. 2566 WeVis ร่วมกับ FNF Thailand และเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาฯ จับมือเปิดตัวเกมการเมือง ชวนประชาชนที่สนใจมาลองเล่นเกม “Democracy Timeline Card Game และ SIM Democracy” ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายในงานมีวงสนทนาเพื่อมองการเลือกตั้งรอบนี้ และประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน ที่ส่งผลต่อการเมืองการปกครองและประชาธิปไตย โดยคาดหวังว่า เกมการเมืองจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้คนจดจำประวัติศาสตร์ได้รวดเร็ว หรือเป็นทางลัดในการเรียนรู้ และเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นหาข้อมูลประวัติศาสตร์การเมืองต่อด้วยตัวเอง เพื่อขยายบทสนทนาประชาธิปไตยในสังคมในวงกว้างมากขึ้น
รศ.นวลน้อย ตรีรัตน์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุ ไทยไม่เคยบันทึกประวัติศาสตร์การต่อสู้ของภาคประชาชน มีเพียงการบันทึกไว้ของกลุ่มชนชั้นนำ แม้จะเพิ่งมาเริ่มมีในช่วงการต่อสู้ครั้งใหญ่หลังความสูญเสียจากเหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา แต่ก็ยังไม่ได้ถูกพัฒนาเป็นแบบเรียนอย่างชัดเจน และยังเต็มไปด้วยข้อถกเถียงเพราะไม่มีใครอยากเป็นฝ่ายผิดในหน้าประวัติศาสตร์ การเล่นเกมประวัติศาสตร์การเมืองจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้เล่นได้ค้นหา ได้เปิดข้อมูล และต่อยอดเป็นบทสนาใหม่ ๆ ในสังคมไทย
ถ้าย้อนไปช่วงการยึดอำนาจ 2549 ไม่มีใครคาดคิดว่า ไทยจะเกิดรัฐประหารขึ้นอีก แต่สุดท้ายไทยก็เกิดรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การกระจายอำนาจของไทยก็ยังอ่อนแอหากเทียบกับหลายประเทศ โดยความเห็นส่วนตัวของ รศ.นวลน้อย มองว่าการกระจายอำนาจ ยังคงเป็นรากฐานสำคัญของประชาธิปไตย
ด้าน รักษิต ปัญญาเลิศลักขณา อาจารย์พิเศษ Game Design, CommDe คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ผู้เคยสร้างเกมเกี่ยวกับการรัฐประหาร ระบุว่า ไทยมีการทำรัฐประหาร 13 ครั้ง แต่ละครั้งมีบริบท มีประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน คนที่ทำรัฐประหารเองก็มีเหตุผลต่างกัน เช่นเดียวกับความคิดเห็นฝั่งประชาชนที่แตกต่างกัน การย่อยข้อมูลให้เข้าใจง่าย การสร้างเกมเหล่านี้ ก็จะช่วยให้เด็กเยาวชนเกิดการเรียนรู้ และตัดสินในสิ่งที่เกิดขึ้นได้ด้วยเอง โดยเกมให้เพียงข้อมูล ไม่ได้ใส่ความคิดเห็นลงไปในเกม
พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิ ฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย (FNF Thailand) ระบุว่า แต่ละประเทศมีประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับไทยที่ต้องมีเส้นทางประชาธิปไตยในแบบของตัวเองที่จะต้องฟันฝ่าให้ได้มา เพราะแต่ละประเทศที่วันนี้มีประชาธิปไตยก็ต้องผ่านวิกฤต โดยย้ำว่าการเล่นเกมแต่ละครั้งจะได้บทสรุปไม่เหมือนกัน จากการลงพื้นที่ของฟรีดริช เนามัน ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย ได้ผลตอบรับจากเยาวชนแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เกมสร้างให้เกิดการเรียนรู้ก็คือ ประชาธิปไตยไม่ได้เกิดขึ้นง่าย และคนที่จะช่วยทำให้เกิดขึ้นจริงก็คือภาคประชาชน
เล่นเกมการเมือง – มองการเลือกตั้ง 66
ธนิสรา เรืองเดช ผู้ก่อตั้ง WeVis ตั้งคำถามถึงการเมืองปัจจุบัน โดยเฉพาะช่วยการเลือกตั้งว่า ประชาชนยังคงเลือกพรรคการเมือง จากนโยบายหรือไม่ โดยวิทยากรตอบคำถามว่า ครั้งนี้ทุกพรรคมีนโยบายหาเสียงเยอะมากและมีความคล้ายกัน ในมุมดีสังคมเห็นความต้องการสร้างสังคมสวัสดิการมากขึ้น แต่ก็มาพร้อมกับคำถามการใช้งบประมาณที่เพียงพอกับการทำสวัสดิการหรือไม่ ดังนั้นคำถามสำคัญกว่าคือ นโยบายที่เกิดขึ้นสามารถทำได้ยั่งยืนแค่ไหน
ส่วนการเล่นเกมการเมือง จากการเก็บข้อมูลพบว่า ผู้เล่นส่วนใหญ่ มักจะคิดว่าการเสนอนโยบายสวัสดิการ การแจก ประชานิยม มักจะชนะการเลือกตั้ง และในเกมยังสามารถกู้เงิน และผลักภาระหนี้สินที่ก่อขึ้นมาให้รัฐบาลชุดถัดไปรับผิดชอบต่อได้ และสุดท้ายรัฐบาลและประเทศล้มละลาย สะท้อนการฉุกคิดการวางแผนอย่างครอบคลุมก่อนสร้างนโยบาย
แต่พอมองจากเกม ออกมาสู่สนามการเมืองจริง ๆ พรรคการเมืองจะขายนโยบายและความเชื่อเป็นหลัก ถ้าจะถามว่านโยบายที่ขายไว้ทำได้จริงหรือไม่ ต้องดูว่าแต่ละนโยบายมีผลกระทบต่อประชาชนแค่ไหน และทำได้สำเร็จบ้างหรือไม่ในช่วงที่มีบทบาทเป็นรัฐบาล แต่ถ้าพรรคการเมืองไหนไม่ได้ขายนโยบายเป็นรูปธรรม ก็จะเลือกขายความเชื่อใจเป็นหลัก หากทำไม่ได้จริงก็จะเป็นต้นทุนที่น้อยลงในสายตาประชาชน ดังนั้น การเลือกตั้งจึงเท่ากับการยกความไว้ใจให้กับพรรคการเมือง ก่อนการเลือกตั้งนี้ ประชาชนก็สามารถตรวจสอบได้ว่าแต่ละพรรคการเมืองได้ทำตามสัญญาที่ไว้หรือไม่ผ่านเครื่องมือ PROMISE TRACKER
เกม Democracy Timeline Card Game และ SIM Democracy
สำหรับ เกมเมืองประชาธิปไตย ถูกพัฒนาจนเกิดเป็นรูปแบบภาษาอังกฤษ เผยแพร่ความรู้สู่สากลตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายน 2556 จนถึงวันนี้ประชาชนก็ยังสามารถเล่นเกมประชาธิปไตยได้หลากหลายช่องทางมากขึ้น
เกม SIM Democracy หรือ “เมืองประชาธิปไตย” เป็นชุดเกมที่สร้างความเข้าใจเบื้องต้นเพื่อรับรู้ความหมายของประชาธิปไตย การบริหารประเทศ การจัดสรรงบประมาณภาษี โดยหลังการวางแผนผู้เล่นก็สามารถเอานโยบายไปหาเสียงเลือกตั้ง พัฒนาแก้ปัญหา และเห็นการเติบโต เปลี่ยนแปลงของรัฐบาลแต่ละชุดผ่านการเล่นเกม
ขณะที่อีกเกมที่เพิ่งเปิดตัวไปคือ Democracy Timeline Card Game เป็นเกมที่ช่วยให้ประชาชนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมืองทางลัด สนุกและเพิ่มโอกาสในการค้นคว้าข้อมูลประวัติศาสตร์ไทย
พิมพ์รภัช จากฟรีดริชเนามัน ยังบอกว่า เกมการเมืองประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย ทำมา 2 รุ่น รุ่นแรก คือ ในปี 2562 โดยเกมจบลงที่เนื้อหาขอประวัติศาสตร์การเมืองในปี 2562 แต่จุดเด่นของเกมรุ่นที่ 2 นอกจากจะมีการอัปเดตข้อมูลประวัติศาสตร์ให้ทันยุคทันสมัยมากขึ้น ยังเพิ่มประวัติศาสตร์ภาคประชาชนของไทยไว้ด้วย โดยใช้กลไกเปิดที่ประชาชนทั่วไปสามารถดาวน์โหลด และนำไปใช้เล่นต่อได้เอง และประชาชนสามารถเล่นเกม Democracy Timeline Card Game ผ่านทางออนไลน์
สุดท้าย สนุกกับเกม อย่าลืมย้อนดูความจริง เพราะความคาดหวังจากผู้สร้างเกมคือ การปลุกให้ผู้เล่นค้นหาประวัติศาสตร์การเมืองที่สนใจใคร่รู้ด้วยตัวเองและลุกขึ้นมาเป็นพลเมืองตื่นรู้ร่วมสร้างสรรค์ประชาธิปไตยในแบบที่ตัวเองอยากจะเห็น…