ฟังความคิด 8 ผู้เข้าร่วม “Hack Thailand 2575”

ปรากฎการณ์ครั้งแรกของประเทศไทยที่คนหลากหลายวงการ กว่า 96 คน มาร่วมกันคิดนอกกรอบเพื่อหาคำตอบใหม่ ๆ สู่ “นวัตกรรมทางการเมือง”

อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อจากนี้ เวที “Hack Thailand 2575 : 48 ชั่วโมง พลิกโฉมประเทศไทย สู่ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง” กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ระหว่างวันที่ วันที่ 18-20  เมษายน 2566 ณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นครั้งแรกของการใช้เครื่องมือ “Policy Hackathon” มาออกแบบและนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาในมิติต่าง ๆ ของประเทศโดยประชาชน ใน 6 ประเด็นสำคัญ คือ การศึกษา, สาธารณสุข, รัฐและความมั่นคง, สิ่งแวดล้อม, เศรษฐกิจ และสังคม ภายใต้ 12 โจทย์ ที่มาจากเสียงของประชาชน ซึ่งได้รับความสนใจจากคนหลากหลายวงการ กว่า 96 คน ทั้งภาครัฐ เอกชน เยาวชน สตาร์ทอัพ และผู้สมัครจากพรรคการเมืองที่ก้าวข้ามความเป็นพรรค เข้าร่วมกันอย่างคับคั่ง เพื่อร่วมสร้างนโยบายในฝันของประชาชน และร่วมกันแก้ปัญหาโจทย์ใหญ่ของประเทศ

สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นตลาดนัดนโยบายที่ใหญ่มาก พรรคการเมืองมีนโยบายใหม่ ๆ  มันเป็นบรรยากาศที่ดีและทำให้เกิด Think Tank ที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมและการจัดการปัญหาเดิมด้วยวิธีการใหม่ ในขณะที่มูลนิธิกระจกเงาพยายามตีโจทย์เรื่องการจัดการขยะเพื่อให้ประโยชน์จากการจัดการขยะในมิติที่คนอื่นอาจจะยังไม่พูดถึง เช่น โครงการชรารีไซเคิล ที่เอาขยะมาเป็นตัวสร้างงานให้กับผู้สูงอายุ คนไร้บ้าน หรือคนจนเมือง สองคือการใช้ขยะสร้างชิ้นงานที่ตอบโจทย์ปัญหาใหญ่ ๆ เช่น สร้างบ้าน แก้ปัญหาปัจจัยสี่ได้

ผมคิดว่าการเข้าร่วม Hackathon ครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่ผมจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนคนอื่น ๆ รวมถึงเสนอไอเดียที่มูลนิธิฯ ได้กางความคิดไว้ มันน่าจะเป็นจุดที่ดีจุดหนึ่งที่จะได้เจอหลายคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง เวลาอธิบายกันมันจะพาเราไปได้ไกลกว่าเดิมHackathon ครั้งนี้จะทำให้เกิดการอภิปรายในจุดที่เป็น Pain point ที่พลิกหรือมีคำตอบที่ก้าวหน้ากว่ากลไกที่มีอยู่ ถ้านโยบายนี้ออกมาได้จะมีผู้เล่นรายใหญ่ ๆ อย่างรัฐลงมาเล่นด้วย Hackathon เรื่องขยะรอบนี้มันจึงมีราคา ถูกที่ถูกเวลา

ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา กล่าว

สมบัติ ยังกล่าวต่อว่า การขายนโยบายนี้จะต้องชูมากกว่าประเด็นสิ่งแวดล้อม อย่างที่มีการพูดถึงกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งคนเข้าใจแล้วแต่ Value มันไม่พอ แต่ต้องมีการจัดการอย่างมีคุณภาพและชี้ให้เห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นในหลากหลายมิติถึงจะสามารถทำให้ฝ่ายการเมืองและฝ่ายนโยบายเข้าใจและรับเรื่องนี้

โดม บูญญานุรักษ์  บริษัท GEPP SA-ARD กล่าวว่าการจัดการขยะหรือเรื่องสิ่งแวดล้อม ควรถูกผลักดันในระดับนโยบายถึงจะมีน้ำหนัก แต่ความยากคือ การผลักดันเรื่องนี้คือ หนึ่ง ในเชิงนโยบายมันเกิดการเปลี่ยนแปลงไม่บ่อยนัก และสองในเรื่องนโยบายการจัดการขยะหรือวัสดุเหลือทิ้งหรือเศรษฐกิจหมุนเวียน มันมีลักษณะเป็นวงจรห่วงโซ่ ซึ่งถ้าเลือกทำเพียงบางนโยบายก็จะไม่เกิด Impact แต่มันต้องทำไปพร้อมกันทั้ง Value chain ซึ่งตนคิดว่าจะใช้โอกาสในการ Hackathon ครั้งนี้ สร้างนโยบายและทดลองทำร่วมกับเครือข่ายทุกภาคส่วน

มณฑินี  ยงวิกุล ผู้อำนวยการสำนักพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่าปกติการทำนโยบายต่าง ๆ ของหน่วยงานราชการต่าง ๆ ก็จะมีการถกเถียงแปลกเปลี่ยนและบางงานอาจจะมีการประชาพิจารณ์ด้วย แต่ Hackathon ครั้งนี้เป็นเหมือน Platform ใหม่ ๆ ที่ทำให้คนที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความเห็น คิดทำบนวิธีการใหม่ ๆ ซึ่งน่าจะเป็นการดีที่หน่วยงานภาครัฐได้มีโอกาสเจอกับคนที่หลากหลาย ได้รับความคิดเห็นเพื่อนำไปใช้ในการทำงาน  ซึ่งหากกระบวนการนี้ได้นำไปใช้ในการกำหนดนโยบาย ก็อาจจะนำมาซึ่งนโยบายได้ดียิ่งขึ้นนอกเหนือจากการใช้ Data อย่างที่ทำกันมา และอาจจะเป็นโอกาสของการคลี่คลายกระบวนเพื่อให้ได้มาซึ่งนโยบายและสร้าง Connection เข้ามาทำงานร่วมกันในอนาคต

เนื่องจากเราอยู่ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ ถ้าเราได้ฟังคนหลาย ๆ กลุ่ม หลาย ๆ ความเห็นในแง่ของสถานการณ์ปัจจุบัน แนวความคิด การเคลื่อนไหว ทัศนคติของคนรุ่นใหม่ด้วยวิธีการเหล่านี้ก็น่าจะทำให้เราสามารถได้ความรู้ส่วนหนึ่งไปทำงานต่อ ประเด็นต่อมาคือบางคนเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เราก็อาจจะได้เครือข่ายไปทำงานต่อในอนาคต และประเด็นสุดท้าย ถ้านโยบายบางอย่างที่ถูกคิดออกมาใน Hackathon มันถูกเอาไปใช้ในกระบวนการหรือแคมเปญของการหาเสียงหรือรัฐบาลชุดใหม่นำไปปรับใช้ในอนาคตก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่

ผู้อำนวยการสำนักพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์

ด้านนักธุรกิจที่เข้าร่วมงานอย่าง นฤมล ทักษอุดม  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด กล่าวว่า การทำธุรกิจ ทำให้ต้องโฟกัสอยู่ในเรื่องราวของเศรษฐกิจ อาจจะมีบางโอกาสที่เขยิบธุรกิจของตัวเองเข้าหาสิ่งแวดล้อมบ้าง แต่มีบางอย่างที่รู้สึกว่าความสมบูรณ์ของธุรกิจมันเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเราไม่เคยทำวิจัยทางสังคม จึงคิดว่าสำคัญมากที่คนกำหนดนโยบายต้องฟังเสียงของประชาชน

จริง ๆ เราอยู่ภายใต้ภาวะแรงกดดันต่อเนื่องมานาน ก็อยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แม้เราจะทำธุรกิจก็จะต้องมีหน้าที่จะพาสังคมทั้งหมดเดินไปด้วยกัน ไม่ได้มองแค่ตัวกูของกูคนเดียว เราอาจจะเป็นนักธุรกิจที่มีมุมสังคมและตั้งคำถามตลอดเวลา ก็เลยมองว่าการร่วม Hackathon ครั้งนี้ อาจจะได้เห็นมุมของของผู้คนและรวบรวมออกมาได้เป็นเรื่องเป็นราว

นฤมล กล่าว

โชติพงษ์  สุขเกษม เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุมชนอาสา พอช. กล่าวว่า ชุดประสบการณ์ที่ทำงานกับชุมชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจนหรือคนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นภาคเมืองและภาคชนบท น่าจะเป็นต้นทุนที่สามารถแลกเปลี่ยนและร่วมสร้างนโยบายได้ แม้ว่าในเวลา 3 วัน ของกระบวนการ Hackathon อาจจะไม่เพียงพอที่จะทำให้ได้นโยบายครบหรือชัดเสียทีเดียว แต่น่าจะเป็นการเปิดสถานการณ์ปัญหาและสร้างกรอบนโยบายที่พรรคการเมืองนำไปใช้งานต่อได้ รวมทั้งน่าจะเป็นพลังในการผลักดันบางนโยบายที่มองตรงกันกับพรรคการเมือง โดยการชวนกันมองปัญหาและแลกเปลี่ยนเชิงปฏิบัติการที่ทำได้จริง

วรินธร เอื้อวศินธร CEO บริษัท เลิร์นโอเวท จำกัด หรือ ที่ลูกศิษย์ต่างเรียกเธอว่า “ครูพี่แอน” กล่าวว่า Agenda ของ Hackathon ครั้งนี้เหมือนเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงระบบหลาย ๆ อย่างให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาและภาษาอังกฤษที่ตนเกี่ยวข้องโดยตรง แม้สังคมอาจจะเห็นว่าทุกวันนี้อินเตอร์เน็ตเข้าถึงเด็กส่วนใหญ่ แต่นักเรียนในต่างจังหวัดอีกหลายโรงเรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงสื่อการสอนที่มีคุณภาพได้ นั่นสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งส่งผลให้โอกาสในการใช้ชีวิตของคนยิ่งเหลื่อมล้ำไปด้วย รวมถึงปัญหาด้านบุคลากร ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่เด็กพูดภาษาอังกฤษกันไม่ได้ เนื่องจากครูสอนภาษาอังกฤษบางท่าน ยังสื่อสารกับฝรั่งไม่ได้เลยด้วยซ้ำ จึงเป็นสองประเด็นที่อยากสะท้อนใน  Hackathon  ครั้งนี้ เพื่อให้ไปถึงคนที่มีอำนาจมองเห็นว่าปัญหามันยังมีอยู่และเป็นปัญหาสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

สังเกตไหมว่าทำไมคนสิงคโปร์ทำงานแบบ Worldwide ได้ หลัก ๆ เลยก็คือเขาได้ภาษา เพราะฉะนั้นเขาจะคุยกับใครบนโลกนี้ก็ได้  แต่อย่างคนไทย ภาษาอังกฤษของเรายังอยู่ในระดับรั้งท้าย เวลาเราจะไปทำงานแข่งขันระดับโลก สมองเราได้ แต่เรื่องภาษาเราสู้เขาไม่ได้ มันกลายเป็นว่าเราไม่สามารถแสดงความสามารถได้อย่างเต็มที่

ครูพี่แอน กล่าว

ศมพร มีเกิดมูล ประธานกลุ่มอาสาวิชาการ รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มองว่า การเลือกตั้งเป็นโอกาสในไม่กี่ครั้งที่ประชาชนจะได้แสดงสัญลักษณ์และอำนาจในระบอบประชาธิปไตยอย่างเด่นชัด และการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่การเลือกตั้งในเหตุการณ์ธรรมดา แต่เป็นการเลือกตั้งที่ผู้คนคาดหวังว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และเป็นโอกาสที่ผู้คนได้สะสางและเคลียร์ใจว่า 8 ปีที่ผ่านมา มันเกิดอะไรขึ้นและเป็นผู้คนตัดสินว่าประเทศไทยจะไปทิศทางไหนต่อ Hackathon ครั้งนี้จึงเป็นพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนมาเคาะและขัดเกลาข้อเสนอให้เป็นรูปเป็นร่าง และทำให้สามารถสานฝันที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลง พัฒนา และอยากจะเห็นประเทศไปในทางที่ดีขึ้นเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ผมคิดว่า Hackathon ครั้งนี้อาจจะเป็นหมุดหมายปลายทางเริ่มต้นที่สำคัญก่อนการเลือกตั้งครั้งใหญ่ระดับชาติที่จะมาถึง เพราะมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้สังคมประชาคมภายนอกได้รับรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ  ผมคิดว่าข้อเสนอทุกอย่างที่ถูกพูดถึงและถูกนำเสนอในที่นี้มันจะช่วยสร้างความตระหนักให้กับสังคมภายนอกและให้ผู้คนต่างตระหนักและรับรู้ถึงความเป็นไปได้และโอกาสในการพัฒนาประเทศชาติในทิศทางที่ควรจะเป็นและจะมีส่วนสำคัญในการที่ผู้คนที่ประชาชนจะตัดสินใจว่าเขาจะลงคะแนนให้ใคร ให้พรรคไหน เพื่อให้ทำอะไรต่อไปเพื่อประเทศ

ศมพร กล่าว

ศมพร กล่าวต่อว่า ภาพอนาคตประเทศไทยที่อยากให้เห็นคือ สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำลดน้อยลง โครงสร้างทางสังคมถูกลดหย่อนลงมาใกล้เคียงกันมากขึ้น ไม่ควรมีคนทนอนอยู่ข้างถนน ไร้การดูแล ไร้การจัดสรร ไร้ซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดี ในขณะที่มีคนเพียงไม่กี่กลุ่ม ที่ได้ใช้ชีวิตอย่างสุขสบายโดยไม่คำนึงถึงเพื่อนมนุษย์ และเป็นสังคมที่ความเหลื่อมล้ำในการบังคับใช้กฎหมายน้อยลง จะต้องไม่มีผู้คนที่ถูกปฏิบัติด้วยสองมาตรฐาน กฎหมายถูกบังคับใช้ต่อผู้คนอย่างเท่าเทียมกัน

นาดา ไชยจิตต์ ประธานยุทธศาสตร์ความเสมอภาค พรรคเสมอภาค  กล่าวว่า “Hackathon ครั้งนี้มีความสำคัญ เพราะส่วนตัวอยากใช้ประสบการณ์เมื่อครั้งไม่สามารถผลักสมรสเท่าเทียมผ่านในสภาได้มาเป็นบทเรียน เพียงเพราะพรรคการเมืองขาดความรู้ความเข้าใจที่ตรงกัน ยังมีความเกลียดชัง และความกลัว จึงทำให้นโยบายที่ต้องการผลักดันไปไม่ถึงฝั่งฝัน ซึ่งยังรวมถึงปัญหาอื่น ๆ ของประเทศด้วย จึงมองว่าการเข้าร่วมHackathon ในครั้งนี้จะช่วยให้พรรคการเมืองมองเห็นอุดมการณ์ หรือ Political view และมีเจตจำนงค์ทางการเมืองร่วมกัน

การที่เราเข้ามาร่วมกิจกรมนี้ มันทำให้เราเห็นมุมมองและได้ความรู้เพิ่มเติมด้วย ทำให้เวลาที่เราออกแบบนโยบายเราต้องเท้าติดดิน มองความเป็นจริง ไม่ใช่เอาแค่คะแนนเสียง ประชานิยมอย่างเดียว และส่วนตัวมองว่าเป็นประโยชน์ต่อพรรคเสมอภาคเองด้วย เพราะนี่คือการที่เราได้ต้นทุนทางความคิดมาพัฒนานโยบาย นโยบายพรรคการเมืองมันไม่ควรหยุดนิ่งอยู่แล้ว ไม่ควรจะแข็งตัว ไม่ว่าจะเป็นนโยบายไหน จาก 12 หัวข้อที่มันเป็นประโยชน์ พรรคก็พร้อมยินดีที่จะช่วยผลักดันต่อ

นาดา กล่าว

“Hack Thailand 2575: 48 ชั่วโมง พลิกโฉมประเทศไทย สู่ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง” ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Post-Election : ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง” ซึ่ง Thai PBS ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เข้ามาผนึกกำลังสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้แก่ สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว), สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.), สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA), มูลนิธิ ฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย (FNF) , สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Youth In Charge Leadership Academy, UNDP, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน​(องค์การมหาชน) และ สถาบันอานาคตไทยศึกษา เพื่อให้ได้ “ภาพอนาคต หลังเลือกตั้ง” ที่มุ่งแก้ปัญหาชาติได้จริงและส่งต่อให้รัฐบาลใหม่ต่อไป

สามารถติดตามการถ่ายทอดสดได้ทาง Facebook@ThaiPBS และ The Active และติดตามชมรายการ Hack Thailand 2575 กับ 48 ชั่วโมงพลิกโฉมประเทศไทย ในวันที่ 29 และ 30 เม.ย. 66 เวลา 22.05 น. ทางไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 หรือชมสดผ่านเว็บไซต์ www.thaipbs.or.th/live  และชมย้อนหลังได้ที่ www.thaipbs.or.th/HackThailand2575

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active