ชัวร์ก่อนแชร์! ‘โคแฟค’ แนะ เท่าทันข่าวลวง เลือกตั้ง 66

ชู นวัตกรรมดึงการมีส่วนร่วม รับมือข้อมูลเท็จ ตามทันเกมการเมือง ท่ามกลางสงครามข่าวสาร

วันนี้ (2 เม.ย.65) เนื่องใน วันตรวจสอบข่าวลวงโลก (International Fact-Checking Day 2023) หลายภาคส่วนร่วมกัน จัดสัมมนาออนไลน์ เรื่อง “ความท้าทายในการรับมือข้อมูลลวงช่วงการเลือกตั้งของไทย” 

เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า วันตรวจสอบข่าวลวงโลก (International Fact-Checking Day) ปีนี้ อยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่จะเลือกตั้งในเดือน พ.ค.66  สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย เดินหน้าสร้างระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ ทำให้ประชาชนทุกคนเป็นพลเมืองรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล สามารถวิเคราะห์ข้อเท็จจริง ความน่าเชื่อถือ ประกอบการตัดสินใจ รับข่าวสารรูปแบบต่าง ๆ เพื่อป้องกันข่าวลวงหรือข้อมูลบิดเบือนจากความจริง ทำให้ทุกคนมีความรู้นำไปใช้ในสิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเองได้อย่างมีสุขภาวะ 

ที่ผ่านมาได้ส่งเสริมให้เกิดการเป็นพลเมืองที่มีความพร้อมสู่สังคมประชาธิปไตย 3 รูปแบบ 1. พลเมืองที่มีความรับผิดชอบ เคารพกฎหมาย และกติกาสังคม 2. พลเมืองที่มีส่วนร่วม วางระบบโครงสร้างสังคมให้มีสุขภาวะ 3. พลเมืองที่มุ่งเน้นความเป็นธรรมในสังคม ผลักดันกลไกป้องกันความไม่เป็นธรรม ที่สำคัญคือการเป็นส่วนหนึ่งที่ขยายผลการเฝ้าระวังตรวจสอบสื่อในฐานะพลเมืองดิจิทัลสู่ชุมชนและสถานศึกษาให้เกิดเป็นชุมชนโคแฟค ที่ทุกคนมีบทบาทเป็นผู้ตรวจสอบข่าวลวง (Fact Checker) เฝ้าระวัง และสกัดกั้น ป้องกัน และรับมือกับปัญหาข่าวลวงระดับประเทศได้

“ฤดูกาลเลือกตั้ง ชวนทุกคนช่วยกันตรวจสอบข่าวลวง ที่อาจนำไปสู่การเข้าใจผิด ความเกลียดชังสร้างความขัดแย้งในสังคม เพื่อให้เกิดพลเมืองรู้เท่าทันสื่ออย่างมีสุขภาวะ โดยสามารถพิมพ์ข้อความที่ต้องการตรวจสอบได้ที่ https://blog.cofact.org/ เลือกหมวดหมู่เลือกตั้ง  ส่งลิงค์ข่าว คลิปวิดีโอที่ต้องการตรวจสอบความถูกต้องเกี่ยวกับประเด็นข่าวทางการเมือง หรือประเด็นอื่น ๆ เพื่อสร้างสังคมแห่งการมีประชาธิปไตยไปด้วยกัน”

เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ก่อตั้งโคแฟค ประเทศไทย กล่าวว่า เริ่มโครงการตรวจสอบความจริงระหว่าง FactCollabTH สสส. ภาคีเครือข่าย และสื่อมวลชน เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เน้นตรวจสอบข้อมูลเท็จหรือที่บิดเบือนทางการเมืองช่วงการเลือกตั้ง มีวัตถุประสงค์สร้างพื้นที่สื่อสารทางการเมืองใช้การอ้างอิงบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง เคารพความเห็นต่าง ไม่ส่งเสริมความรุนแรงหรือสร้างความแตกแยก เพื่อปูทางสู่การบรรลุข้อตกลงทางการเมืองโดยสันติ โดยมีวิธีเช็กและเฝ้าระวังข่าวลวง 7 ข้อให้ทุกคนเป็นพลเมืองรู้เท่าทันสื่อ 

1.การเสียดสีหรือตลกรูปแบบการล้อเลียน (Satire/Parody) 

2.การเชื่อมโยงประเด็นที่ไม่เกี่ยวกันแบบจับแพะชนแกะ (false connection) 

3.การจงใจนำเสนอให้เกิดความเข้าใจผิด (misleading) 

4. การนำเรื่องในอีกบริบทหนึ่งมาทำให้เข้าใจผิด (false context)  

5.การมโนที่มาจงใจให้เข้าใจผิด (imposter) 

6.การตัดต่อภาพ บิดเบือน ตกแต่งข้อความหรือภาพให้คนหลงเชื่อ (manipulated) 

7. ปั้นแต่งเรื่องราวขึ้นมาเพื่อหลอกลวงเป็นการเฉพาะ (fabricated) ซึ่งสื่อมวลชนควรตรวจสอบก่อนนำเสนอ และ ประชาชนควรเช็กให้ชัวร์ก่อนที่จะแชร์ โดยสามารถตรวจสอบได้ที่เว็บโคแฟค ซึ่งเราจะเน้นการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระ เป็นกลาง และ เป็นธรรมให้มากที่สุด  

ขณะนี้ ทางโคแฟค ประเทศไทย มีฐานข้อมูลข่าว 7,032 ประเด็น และมีจำนวน 6,333 ประเด็น ที่ทางโคแฟคสามารถตรวจสอบข้อมูลแล้ว ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมตรวจสอบข่าวลวง ที่ทุกคน ทุกพื้นที่สามารถแชร์ประสบการณ์ ช่วยกันตรวจสอบได้บนเว็บไซต์ cofact.org และ ไลน์ @cofact ปัจจุบันมีคนเข้าชมเว็บไซด์กว่า 554,014 ครั้ง และ ไลน์ @cofact 7,530 ผู้ติดตาม

รศ.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว ผู้ช่วยอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า การเลือกตั้งคือการแข่งขันทางการเมือง จึงต้องมีการทำสงครามข่าวสาร และข้อมูลลวงก็คือการชวนเชื่อผ่านการสื่อสารและการโฆษณา และผลที่ได้นำไปสู่ทิศทางที่แตกต่างกันของมุมมองระหว่างผู้แพ้กับผู้ชนะ และแม้สหรัฐฯ กับไทยจะแตกต่างกันในหลายเรื่อง แต่อย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือต้องการให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อประกอบการตัดสินใจลงคะแนน หากเป็นข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ผ่านสื่อดั้งเดิม หมายถึงสำนักข่าวที่มีความเป็นองค์กรวิชาชีพชัดเจน แม้จะมีประเด็นน่ากังวลแต่ก็ยังอยู่ในระดับปานกลาง แต่หากเริ่มแปรสภาพเป็นข้อมูลที่คนส่งต่อกันเองในวงกว้าง ความน่ากังวลก็อาจเพิ่มเป็นระดับมาก 

แต่การเลือกตั้งของไทยที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค.นี้ ก็อาจเป็นโอกาสเพราะประชาชนตื่นตัว โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งมีสิทธิ์เลือกตั้ง หรืออาจหมายความรวมถึงประชาชนตั้งแต่กลุ่ม Gen X-Gen Z (อายุ 18 ปีขึ้นไปจนถึงราว 50 ปีเศษ) ขณะที่ผู้อาวุโสมีสัดส่วนน้อย การรับรู้ข้อมูลข่าวสารจึงมากเป็นพิเศษ โดยหากย้อนกลับไปในการเลือกตั้งปี 2554 เวลานั้นเพิ่งเริ่มมีแอปพลิเคชั่นไลน์ให้ใช้ ต่อมา ต่อมาในการเลือกตั้งในปี 2562 พบการใช้ทวิตเตอร์กันมาก แต่ล่าสุดในปี 2566 มีทั้งไลน์ ทวิตเตอร์ TikTok พื้นที่สื่อสารจึงเปิดกว้างมาก และคนรุ่นใหม่ก็จะมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

“กลุ่มคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ทั้งพรรคการเมือง ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง กกต. หรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเหล่านี้ อยากให้ยึดถือประโยชน์ส่วนรวม ยึดถือจรรยาบรรณของการเป็นผู้สมัครแข่งขันที่ดี พรรคการเมืองที่ดี ถ้ามองในแง่นี้ทุกคนคงไม่อยากถูกตราหน้าหรือประณามจากสังคมดังนั้นก็ต้องทำในสิ่งที่เหมาะสมและที่ถูกที่ควร” 

รศ.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active