“หมอประเวศ” ชี้เลือกตั้ง 2566 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง

คนไทยค้นพบการเมืองทางสายกลาง เสนอความปลอดภัย และสุขภาวะที่สมบูรณ์ของคนทั้งแผ่นดินเป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาประเทศไทย แนะใช้องค์กรตระกูล ส. ทั้ง 8 แบบองค์รวม 

วานนี้ (15 มี.ค.​ 2566) ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ผู้ผลักดัน 8 องค์กรตระกูล ส. เจ้าของทฤษฎี สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาให้สัมภาษณ์ นักข่าว ที่งาน HA Forum ครั้งที่ 23 ว่า ปี 2566 จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คนไทยจะเข้าใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงการเมืองทางสายกลาง 

“ดูแนวโน้มสิ… บางทีนักข่าวยังไม่เห็นแต่ผมเห็น คือทางสายกลางต้อง ก้าวข้ามความขัดแย้ง ใช้ปัญญา ใช้ความร่วมกัน พรรคการเมืองเลือกตั้งอะไรไป แต่หลังเลือกตั้งแล้วให้รวมตัวกับประชาชนทั้งหมด แต่ถ้าไปอย่างเดิม มันติดขัดทำอะไรไม่ค่อยได้หรอก” 

นพ.ประเวศ​

เขา กล่าวต่อไปอีกว่า แม้แต่คุณทักษิณ เมื่อชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์ตอนนั้น ปี 2544 ก็ยังทำอะไรไม่ค่อยได้มาก เพราะมันมีข้อกฎหมาย กฎระเบียบควบคุมไว้แสนกว่าฉบับ มันติดหมด ตรงนี้ถ้าพรรคการเมืองร่วมกับประชาชนมันจะก้าวข้ามที่ติดขัดทั้งหมด อะไรก็แก้ไขได้ บ้านเมืองจะได้ไปต่อ 

“ผมคิดว่า 2566 จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง  คนไทยจะค้นพบการเมืองทางสายกลาง” 

นพ.ประเวศ

เมื่อ The Active ถามถึงนโยบายสาธารณสุข ที่แต่ละพรรคพูดออกมาตอนนี้ … นพ.ประเวศ ในวัย 91 ปี บอกว่า สุขภาพอะไรเนี่ย พูดไปเขาก็ทำไม่เป็นหรอก แต่เราช่วยเขา เราช่วยกันขับเคลื่อนตรงนี้ แล้วดึงมาร่วมด้วย ก็เป็นการช่วยมากกว่า ที่จะไปขอร้องให้เขาทำอะไร ถ้าเขาเข้าใจความเป็นองค์รวม เช่นร่างกายคนเราก็มีทั้งแขนซ้าย แขนขวา หรือว่าเครืองบินก็ต้องมีทั้งปีกซ้าย ปีกขวา จึงบินได้ แต่เรามันตีกัน แยกเป็นฝั่งซ้าย ฝั่งขวา มันไปไม่ได้

เสนอให้ความปลอดภัยและสุขภาวะ เป็นเป้าหมายสูงสุดในการพัฒนาประเทศไทย

นอกจากนี้ นพ.ประเวศ ยังได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “Synergy for Safety and Well-Being” ว่าความปลอดภัยและสุขภาวะที่สมบูรณ์ของคนทั้งแผ่นดินควรเป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีเป้าหมายสูงสุดร่วมกัน มีแต่เป้าหมายที่แยกส่วนแยกย่อย แต่ถ้าตั้งเป้าหมายแล้วทุกส่วน ทุกองค์กร ไปสู่เป้าหมายร่วมกัน ก็จะเกิดความเป็นองค์รวม

“หากดูคำจำกัดความเรื่องสุขภาพขององค์การอนามัยโลก คือ Health is complete well-being ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม ปัญญา ไม่เพียงแค่การไม่มีโรคเท่านั้น แต่เป็นการบูรณาการอยู่ในการพัฒนามนุษย์และสังคมทั้งหมด เราจึงพูดว่าเรื่องสุขภาพคือทั้งหมด เมื่อเป็นทั้งหมด จึงควรเป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนา”

นพ.ประเวศ

นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า ความเป็นองค์รวมสำคัญและมีพลังมาก ยกตัวอย่างร่างกายของคนเราที่มีความเป็นองค์รวม อวัยวะทุกอวัยวะ เซลล์ทุกเซลล์ มีเป้าหมายร่วมกัน ขณะที่เซลล์มะเร็งคือตัวอย่างของเซลล์ที่ทำตัวแยกเป็นเอกเทศ ไม่คำนึงถึงองค์รวม ทำให้ระบบทั้งหมดเสียสมดุล ป่วยและไม่ยั่งยืน ถ้าประเทศไทยสามารถพัฒนาได้แบบองค์รวม มีเป้าหมายสูงสุดแล้วทุกองค์ประกอบของประเทศ มุ่งสู่เป้าหมายสูงสุดเดียวกัน ประเทศจะลงตัวมีบูรณาภาพและดุลยภาพ

เราสามารถออกแบบระบบและโครงสร้างของประเทศมันจะเกิดเป็นองค์รวมที่มีคุณสมบัติใหม่ที่มหัศจรรย์ เหมือนเครื่องบินที่มีส่วนประกอบหลายหมื่นชิ้น โดยตัวส่วนประกอบไม่สามารถบินได้ แต่เมื่อประกอบครบเป็นองค์รวม เครื่องบินมีคุณสมบัติใหม่คือบินได้ ระบบและโครงสร้างของสุขภาวะที่สมบูรณ์ คือต้องเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งและต้องพัฒนาอย่างบูรณาการ ไม่ใช่พัฒนาแบบแยกส่วน” นพ.ประเวศ กล่าว

นพ.ประเวศ ขยายความว่าการออกแบบระบบและโครงสร้างนี้ เหมือนการสร้างบ้าน ถ้าต้องการสร้างบ้านประเทศไทยใหม่ที่น่าอยู่ จะมีโครงสร้าง 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ 1. พื้นล่าง ต้องแข็งแรง 2. ผนังบ้าน คือ ระบบต่าง ๆ 8 ระบบ และ 3. หลังคา คือระบบภูมิคุ้มกัน ที่เชื่อมโยงทั้งหมดกับทุกระบบ ในส่วนของพื้นล่าง ก็คือพื้นที่ประเทศทั้งประเทศที่มีการพัฒนาอย่างบูรณาการใน 8 มิติ คือ เรื่องเศรษฐกิจจิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สุขภาพ การศึกษา ประชาธิปไตย

ขณะที่ในส่วนของผนังมี 8 ด้าน ก็คือ 8 ระบบ ประกอบด้วย ระบบสุขภาพ ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา ระบบศาสนา ประชาสังคม ระบบรัฐ ระบบการเมือง และระบบสื่อสาร ทั้งหมดนี้ เมื่อผนึกกำลังประกอบเป็นตัวบ้าน จะมีทรัพยากรเพื่อการพัฒนามหาศาล

หวัง 8 องค์กรตระกูล ส. ประชุมกันต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนสังคม 

นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า ในส่วนของระบบสุขภาพ เป็นระบบที่มีความพร้อมที่สุดกุญแจสำคัญคือการผนึกกำลังองค์กรตระกูล ส. ทั้ง 8 คือ กระทรวงสาธารณสุข สปสช.  สวรส.  สช. สสส. สรพ. สพฉ. มสช. หรืออาจจะเรียกเล่น ๆ ว่าคณะมนตรีสุขภาพ ตนขอเสนอให้มีการประชุมทุกสัปดาห์ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดเรื่องดี ๆ รวมทั้งมีคณะทำงานประสานพลัง 8 คณะ เพื่อเชื่อมโยงกับระบบทั้ง 8 ในการขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างบูรณาการ เช่น อาจมีคณะทำงานประสานพลังภาคเศรษกิจ ภาคการศึกษา ภาคการเมือง ฯลฯ เชื่อมไปทุกภาค

นพ.ประเวศ กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าประกอบทุกอย่างเป็นแบบนี้ ทุกอย่างจะลงตัว นี่คือการ Synergy สิ่งที่สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาลหรือ สรพ. เสนอประเด็นในการประชุมครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ เป็น Grand Synergy พลังประเทศไทย โดยมีเป้าหมายคือความปลอดภัยและสุขภาวะที่สมบูรณ์ของคนไทยทั้งประเทศ และตนเชื่อว่าคนไทยมีลักษณะพิเศษ และถ้าผนึกกำลังกันได้ ก็สามารถเป็นชาติแรกที่ทำเรื่องความปลอดภัยและสุขภาวะที่สมบูรณ์ของคนทั้งแผ่นดิน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active