เวที ‘เสียงประชาชนเลือกอนาคตประเทศไทย’ ขอนแก่น หวัง 10 ปีข้างหน้า อีสานดีกว่านี้แน่ ภาคประชาชนเข้มแข็ง ขับเคลื่อนการพัฒนาไม่รอรัฐ
วันนี้ (12 มี.ค. 2566) องค์กรภาคีเครือข่าย ภาคอีสาน ร่วมกันค้นหาฉากทัศน์ของประเทศ (Scenario Thailand) ผ่านเวทีสาธารณะเสียงประชาชนเลือกอนาคตประเทศไทย (Post-Election) ณ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อร่วมกันเสนอนโยบายสาธารณะการพัฒนาท้องถิ่น รับการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง
ภาษีของเราควรใช้ไปกับเรื่องอะไร? เพื่อให้ขอนแก่นในฝันเกิดขึ้นจริง
ภายในบริเวณงานมีกิจกรรม “Where’s My Tax?” ชวนผู้ร่วมกิจกรรมหย่อนลูกบอลเพื่อเลือกประเด็นการแก้ปัญหาเชิงนโยบายที่ตัวเองคิดว่าคุ้มค่าต่อการใช้ภาษีและเป็นวาระเร่งด่วนที่สุด โดย จงกล พารา ผู้ร่วมก่อตั้งตลาดเขียว ขอนแก่น กล่าวว่า เธอเลือก 3 เรื่องหลัก คือ 1) การเข้าถึงทรัพยากรและการจัดการสิ่งแวดล้อม 2) เศรษฐกิจทั่วถึงและเป็นธรรม และ 3) ระบบสุขภาพยั่งยืน เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยมองว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า จ.ขอนแก่น และหลายพื้นที่ในภาคอีสาน น่าจะเผชิญกับการเติบโตของความเป็นเมือง จากการขยายตัวของเศรษฐกิจ และหมู่บ้านจัดสรร รวมถึงการรุดหน้าของระบบเกษตรอุตสาหกรรม เกิดการแย่งชิงทรัพยากรทางธรรมชาติ ที่ดินขาดแคลน และช่องว่างของความเหลื่อมล้ำกว้างมากขึ้น ส่วนภาพฝันของเธอคือ สิ่งแวดล้อมดี คนมีความเป็นอยู่ที่ดี และเข้าถึงทรัพยากร
“ตอนนี้ก็เริ่มมองเห็นแล้วว่าคนจนเริ่มไม่มีที่ดินทำกิน ความห่างของช่องว่างทางสังคมเยอะมากขึ้น คนรวยอาจจะมีเพิ่มนิดหน่อย แต่คนจนน่าจะเยอะขึ้นมาก แต่ถ้าจินตนาการสิ่งที่เราอยากให้เป็นคืออยากให้มีความเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากร เราพบว่ามีเกษตรกรรุ่นใหม่ที่อยากทำการเกษตร แต่ไม่มีพื้นที่ เข้าไม่ถึงพื้นที่ทำการเกษตร จึงคิดว่าควรมีการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือเกษตรกรที่อยากทำเกษตรอินทรีย์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ทุกวันนี้มีคนทำเกษตรอินทรีย์ไม่ถึง 5% ของประเทศ เราก็อยากฝันว่าให้มีเพิ่มขึ้นถึง 10% ขึ้นไป เพราะจะส่งผลให้คนมีสุขภาพที่ดี และสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย ถ้าเรามีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น มันก็จะดีในภาพรวม เราไม่ต้องตื่นมาแล้วแสบจมูกเพราะฝุ่นเยอะเหมือนทุกวันนี้”
ณัฐวุฒิ กรมภักดี ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อนฅนไร้บ้านขอนแก่น ร่วมมองอนาคตขอนแก่น 10 ปีข้างหน้า เขาคิดว่าน่าจะมีความเจริญทั้งด้านระบบขนส่งสาธารณะ รถไฟความเร็วสูง ระบบรางเกิดขึ้นอย่างแน่นอน มีนักลงทุนเข้ามามากขึ้น การขยายตัวของเมืองนำพาผู้คนที่แตกต่างเข้ามาอยู่รวมกัน ทั้งมาอยู่อาศัย ทำงาน แสวงโชค ซึ่งการพัฒนาเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว หากทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น มีช่องทางของงานและอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น แต่การเติบโตที่จะพาไปสู่สิ่งนั้นต้องพิจารณาว่าครอบคลุมกับคนทุกกลุ่มไหม การเข้าถึงสิทธิอย่างเท่าเทียมหรือไม่ ไม่ใช่ว่าเศรษฐกิจโตขึ้น แต่เอื้อพื้นที่ให้กับคนมีเงินเท่านั้น
“ถ้าจะมีความเจริญมากขึ้น ก็ควรที่จะให้คนทุกระดับสามารถเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียม คนมีชีวิตที่ดีขึ้นได้เท่า ๆ กันไม่ใช่ว่าเศรษฐกิจดี แต่มีความเหลื่อมล้ำ คือสิ่งที่ต้องระวัง … ขอนแก่นในฝัน คือ การมีพื้นที่ให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากร แลกเปลี่ยนความคิด มีส่วนร่วมในการตัดสินใจพัฒนาเมือง ไม่ยึดติดแนวคิดการพัฒนาเมืองว่าเป็นเรื่องของนักธุรกิจกลุ่มเดียว หรือเป็นเรื่องของรัฐเท่านั้น”
ร่วมโหวตอนาคตอีสาน สะท้อนความหวังภาคประชาชน
นอกจากนี้ยังได้มีการเปิดโหวต ฉากทัศน์อนาคตอีสาน โดยแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อคือ
1. สุริยุปราคา คาดการณ์ว่า อีสานจะยังวนเวียนอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง ระบบเศรษฐกิจสุดขั้ว สิ่งแวดล้อมทรุดโทรมเสียหาย รัฐรวมศูนย์ไม่กระจายอำนาจ บังคับใช้กฎหมายเข้มข้น สถานบันการศึกษาไม่ตอบโจทย์สังคม คุณภาพชีวิตเปราะบางจากสิ่งแวดล้อมที่วิกฤต คนสูงอายุขาดหลักประกันสุขภาพ
2. แสงแดดรำไร คาดการณ์ว่า เทคโนโลยีก้าวกระโดด ทุนใหญ่ เจ้าของแพลตฟอร์มครอบงำตลาด คนรุ่นใหม่ปรับตัว เป็นแรงงานอิสระ แต่ขาดความมั่นคงในการจ้างงาน และสวัสดิการ มหาวิทยาลัยเป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ ผู้คนห่างเหินเป็นสังคมปัจเจกเต็มรูปแบบ สภาพแวดล้อมธรรมชาติเสื่อมโทรมกระทบคุณภาพชีวิต เกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์
และฉากทัศนท์ ที่ 3 คือ พระอาทิตย์ทรงกลด คาดการณ์ว่า อีสานจะพุ่งทะยานไปข้างหน้า ตามวิสัยทัศน์ของรัฐ ส่งเสริมการกระจายอำนาจท้องถิ่น ส่งเสริมนวัตกรรม เศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับความรู้ เท่าทันและใช้เทคโนโลยีเหมาะสมจัดการทรัพยากร สร้างทางเลือกสุขภาพ คนทุกวัยเรียนรู้ผ่านออนไลน์ ท้องถิ่นได้รับการส่งเสริมเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม
โดยพบว่าฉากทัศน์ที่ 3 เป็นฉากทัศน์ที่มีผู้ให้คะแนนโหวตมากที่สุด ความคิดเห็นของหลายคนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ แม้ว่าตอนนี้อีสานจะเผชิญกับปัญหาหลายด้าน แต่เนื่องจากปัญหาเหล่านั้นไม่ได้ถูกเพิกเฉยหรือมองข้าม ภาคประชาสังคม ภาคประชาชนหลายกลุ่มพยายามที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน มีความร่วมมือในพื้นที่ จึงเชื่อมั่นว่าจะช่วยนำไปสู่ฉากทัศน์แห่งความหวังได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อเสนอให้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนผลักดันการทำงานของภาคประชาชน เพื่อทำให้บรรลุเป้าหมายได้
“ภาคอีสานมีต้นทุนเชิงพื้นที่สูงมาก แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคคือโอกาส การรวมศูนย์ของภาครัฐ ในปัจจุบันสังคมเมืองให้คุณค่ากับประชาธิปไตยสูงขึ้นแล้ว ผมเชื่อว่า 10 ปีข้างหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแน่นอน ประชาชนจะมีส่วนขับเคลื่อนอย่างมาก เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พลวัตรของโลกที่มันเปลี่ยนไป ไม่ว่าภาครัฐจะเป็นอย่างไร อีสานต้องเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นแน่นอน”
นักศึกษา วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ม.ขอนแก่น
“อีสานไม่ต้องรอใครมาทำ อีสานต้องพึ่งพาตัวเองได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดตอนนี้คือ ต้องเปลี่ยนหลักคิดของคนอีสานเอง ถ้าเวทีสาธารณะครั้งนี้จะมีประโยชน์ คือเราจะต้องคิดว่าการเลิกพึ่งพานักการเมืองสำคัญที่สุด แต่คือการศีกษาหาวิธีการ ช่องทางกลไกทางกฎหมาย ที่จะทำให้เราสามารถพัฒนาอีสานของเราได้ ชวนมองอนาคตร่วมกันว่าจะไปสู่จุดที่หวังกันได้อย่างไร”
อาจารย์ประจำ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น จ.ขอนแก่น
กมล หอมกลิ่น ผู้อำนวยการ มูลนิธิสื่อสร้างสุข สะท้อนว่าเวทีครั้งนี้ส่วนใหญ่มองว่า อีก 10 ปีข้างหน้า ขอนแก่นจะไปในรูปแบบของ พระอาทิตย์ทรงกลด คือ เห็นทางสว่าง อาจเพราะมองเห็นปัจจัยที่นำไปสู่ความก้าวหน้า แม้ว่าการเมืองที่ผ่านมาจะไม่ขยับ แต่ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ขับเคลื่อน เช่น เรื่องสื่อ เรื่องเยาวชน เรื่องสิ่งแวดล้อม มีความก้าวหน้า พวกเขาจึงมองว่าในอนาคตน่าจะมีแสงสว่าง แม้ว่าทางอาจจะไม่ถึงกับโล่งมาก แต่ก็มีแนวทางที่เป็นไปได้ว่ามันดีขึ้น
“วันนี้ มีหลายประเด็นที่ถูกพูดถึงทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการศึกษา การมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน พื้นที่แสดงความคิดเห็นของประชาชน โอกาสในการกำหนดอนาคตของตัวเอง ทุกคนต้องการให้เกิดการบวนการมีส่วนร่วมในการเดินหน้านโยบายต่าง ๆ”
สำหรับภาคอีสาน มีพื้นที่กว่า 168,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 1 ใน 3 ของพื้นที่ประเทศไทย และมีประชากรกว่า 22 ล้านคน แต่ยังมีความท้าทายทั้งเรื่องของความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาการพัฒนาศักยภาพบุคคล ปัญหาภัยแล้งและคุณภาพของแหล่งน้ำ และปัญหาการจัดการขยะและของเสีย
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การมีส่วนร่วมของท้องถิ่น เราฟังเสียงประชาชน เลือกอนาคตประเทศไทย ถ้านับจำนวน ส.ส. ใครได้เก้าอี้ที่อีสานเยอะก็มีโอกาสตั้งรัฐบาล แล้วแต่นั่นไม่สำคัญไปกว่ารัฐบาลหรือพรรคการเมืองฟังเสียงประชาชนมากแค่ไหน ดังนั้นจะทำอย่างไรให้การฟังเสียงเป็นไปอย่างมีน้ำหนักและทุกภาคส่วน
“การเปิดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นการส่งเสียงถึงพรรคการเมือง แต่ยังเป็นกระบวนการที่ช่วยตกผลึกความคิดของพวกเราเอง วันนี้มีคนรุ่นใหม่มาร่วมพูดคุยด้วย จะช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย แลกเปลี่ยนความคิดมุมมองที่ต่างวัย และจะทำอย่างไรถ้าอยากมีอนาคตที่ดีกว่านี้ คือเรื่องที่จะช่วยกันคิดต่อ ร่วมเสนอความคิดเพื่อให้เกิดโอกาสในการพัฒนาที่เป็นไปตามความต้องการของพวกเรา”
เวทีสาธารณะเสียงประชาชนเลือกอนาคตประเทศไทย (Post-Election) เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ด้วยฐานข้อมูลทางวิชาการ นโยบายรัฐ นโยบายพรรคการเมือง ด้วยกระบวนการ Policy Innovation ที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนกำหนดอนาคตของประเทศได้ด้วยตัวเอง ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อค้นหาฉากทัศน์ของประเทศ (Scenario Thailand) และภาพอนาคตเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Foresight) ร่วมจัดโดย
- สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)
- สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว)
- สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
- สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
- สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future)
- มูลนิธิ ฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย (FNF)
- สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย
- สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- Youth In Charge Leadership Academy
- TP Lab, UNDP
- ไทยพีบีเอส
- The Active และภาคีเครือข่าย