จี้ รัฐบาลติดตามชี้แจงผลดำเนินคดีเรืออวนลากคู่ 27 ลำ รุกอุทยานฯ ตะรุเตา

เครือข่ายสมาคมรักเลอันดามัน เรียกร้องตรวจเข้มการลักลอบทำประมงผิดกฎหมายให้ครอบคลุมตลอดชายฝั่งอันดามันและทะเลไทย ด้านกลุ่มระบุเป็นตัวแทนประมงจังหวัดสตูล บุกศาลากลางจังหวัด ร้องผู้ว่าฯ เดือดร้อนไม่มีพื้นที่ทำประมง พร้อมขอให้ยกเลิกการดำเนินคดีเรือทั้ง 27 ลำ

วันนี้ (28 ก.พ.66) ที่มูลนิธิอันดามัน จ.ตรัง เครือข่ายสมาคมรักเลอันดามัน รวมตัวกันเพื่ออ่านแถลงการณ์ถึงรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ติดตามชี้แจงผลดำเนินคดีอวนลากคู่รุกอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล พร้อมเรียกร้องตรวจเข้มการลักลอบทำประมงผิดกฎหมาย ให้ครอบคลุมตลอดชายฝั่งอันดามันและทะเลไทย 

โดยเนื้อหาสำคัญในแถลงการณ์ ระบุว่า จากกรณี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์ุพืช ได้แจ้งความร้องทุกข์ ต่อพนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 โดยระบุมีเรืออวนลากคู่จำนวน 27 ลำ บุกรุกเข้าทำการประมงในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการลงพื้นที่ ไปพบเห็นด้วยตัวเอง ของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล ในขณะเดินทางไปเกาะหลีเป๊ะ ดังที่ปรากฏเป็นข่าว

ทางเครือข่ายสมาคมรักเลอันดามัน ได้ทราบถึงการเข้ายื่นหนังสือร้องขอให้รัฐบาลให้ความเห็นใจกลุ่มประมงอวนลากคู่ดังกล่าว โดยสมาคมประมงจังหวัดสตูล และอาจมีการประสานงานในทางอื่น ๆ จนบัดนี้สาธารณชนทั่วไป ไม่ได้ทราบเลยว่ามีการดำเนินการจากฝ่ายพนักงานสอบสวนไปทางใดในการดำเนินคดี  ที่สำคัญเรืออวนลากที่ถูกจับ แม้จะมีเพียงจำนวน 5% จากกองเรือทั้งหมดในประเทศไทย แต่กลับมีปริมาณการจับรวมถึง 50% ของยอดจับสัตว์น้ำทั้งหมด 

“นับตั้งแต่ช่วงต้นปี พ.ศ.2503 เป็นต้นมา ระบบนิเวศทางทะเลของประเทศไทยได้เสื่อมโทรมลงอย่างต่อเนื่องมีอัตราจับกิโลกรัมต่อชั่วโมงลดลงถึง 80 %   และผลผลิตส่วนมากของเรืออวนลากนั้นไม่เหมาะแก่การบริโภคของมนุษย์ เนื่องจากมีสภาพบอบช้ำ เน่าเสีย จึงได้ถูกนำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ต่างๆเช่น สุกร ไก่ กุ้ง และอื่น ๆ รวมทั้ง นำส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยที่ ‘อวนลากคู่; เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการทำลายล้างสูงที่สุดในกลุ่มนี้ “ 

แถลงการณ์ระบุ

ที่สำคัญ องค์กรทั้งในและระหว่างประเทศได้มีข้อเสนอให้มีการปฏิรูปการประมงอวนลากในไทยอย่างเร่งด่วนมีการเรียกร้องให้ควบคุมผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศให้ลดลงเหลือน้อยที่สุด หรือแม้กระทั่งรัฐบาลไทยในอดีตได้มีนโยบาย ลดจำนวนอวนลาก เพื่อมั่นใจได้ว่าทรัพยากรทางทะเลของไทยนั้น จะถูกอนุรักษ์ไว้จนถึงลูกหลานรุ่นต่อไป 

อีกทั้ง เมื่อปลายปี 2565 นี้ เครือข่ายภาคประชาชนและเครือข่ายประมงพื้นบ้านเรียกร้องให้ออกกฎหมายคุ้มครองการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนตาม มาตรา 57 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 แม้รัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะยอมรับว่าการหยุดจับสัตว์น้ำวัยอ่อนเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ และระบุไว้ชัดแจ้งทั้งในกฎหมายและแผนการพัฒนาการประมงไทย แต่รัฐบาลปฏิเสธที่จะออกกฎหมายคุ้มครองสัตว์น้ำวัยอ่อนตามมาตรา 57 โดยให้เหตุผลว่าสามารถบังคับใช้มาตรการอื่นๆ เช่น เขตหวงห้ามทำการประมงชายฝั่ง, เขตหวงห้ามฤดูกาลปลาวางไข่ หรือกระทั่ง เขตอนุรักษ์ทางทะเล(อุทยานแห่งชาติ) ก็เพียงพอที่จะหยุดการทำลายพันธ์ุสัตว์น้ำวัยอ่อนแล้ว   แต่ปรากฏชัด เรืออวนลากคู่ทั้ง 27 ลำ ได้ถูกแจ้งความร้องทุกข์ว่าบุกรุกเข้าไปกวาดจับพันธ์สัตว์น้ำ ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ซึ่งเป็นแหล่งพื้นที่ทะเลที่เป็นเขตอนุรักษ์ และมีผลจับที่เกี่ยวข้องปริมาณมากถึง 300,000 กว่ากิโลกรัม

เครือข่ายสมาคมรักเลอันดามัน ประกอบด้วยตัวแทนจากทุกจังหวัดชายฝั่งอันดามัน เห็นว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เดินมาถูกทางแล้ว และ ควรผลักดันการปฏิบัติงานตามกฏหมาย ต่อไปอย่างเข้มข้น อย่าได้สยบยอมกับอำนาจทุนและพรรคการเมือง ที่อาจเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีทั้งปวง จึงมีข้อเรียกร้องสำคัญ 

1. ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช จะต้องติดตามการดำเนินคดี ตามขั้นตอนทางกฏหมายอย่างถึงที่สุด เพื่อเป็นการป้องปรามของผู้กระทำผิดซ้ำซาก ซึ่งถือเป็นภัยร้ายของการทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำวัยอ่อนในพื้นที่จังหวัดสตูล ตลอดชายฝั่งอันดามันของประเทศไทย

2. ขอให้กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความร่วมมือ ส่งข้อมูลเพิ่มเติม โดยเฉพาะ ข้อมูล เรือประมงอวนลากอื่น ๆ หรือรายที่ระบุว่า มีการกระทำเช่นเดียวกันนี้ ปรากฏในหลักฐานระบบติดตามเรืออีกหรือไม่ประการใด เพื่อยืนยันในเจตนารมย์ว่า การบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ เพียงพอแล้ว เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิดังที่กล่าวอ้าง

ตัวแทนชาวประมงจากจังหวัดต่าง ๆในอันดามัน ยังเห็นตรงกัน ว่า กรณีที่เกิดการลักลอบจับสัตว์น้ำในเขตอุทยานฯ จ.สตูล ของเรือประมงอวนลากคู่ สะท้อนว่ายังคงมีการกระทำผิดอย่างต่อเนื่อง และเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ จึงอยากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้มงวดการตรวจสอบการจับสัตว์น้ำของเรืออวนลากทุกประเภท 

“ให้มีการติดจีพีเอสเรืออวนลาก เพื่อรู้พิกัดในการทำประมงว่าลงอวนลากกันที่ไหน ตลอดทั้งฝั่งอันดามันอยากฝากทางทีม พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างจริงจัง อยากให้กระบวนการยุติธรรมสร้างความเป็นธรรมต่อการทำประมงที่ยั่งยืน“ 

ปรีชา หัสจักร ตัวแทนประมงพื้นบ้านจังหวัดระนอง

ทั้งนี้ทางเครือข่ายฯ จะติดตามกรณีนี้ร่วมกันอย่างใกล้ชิด หากไม่มีความคืบหน้า อาจจำเป็นต้องไปติดตามทวงถามกับ พนักงานสอบสวน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

วันเดียวกัน ที่ศาลาว่าการจังหวัดสตูล กลุ่มตัวแทนชาวประมงจังหวัดสตูล นำโดย สมบัติ พัทคง เข้ายื่นหนังสือต่อ  จำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ที่มารับหนังสือด้วยตนเอง รวมทั้งตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ถึงความเดือดร้อนของชาวประมงไม่มีพื้นที่ประกอบอาชีพ โดยหนังสือระบุว่า ตามที่ได้มีการดำเนินคดีกับเรือประมงที่ออกทำการประมงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ซึ่งตามกฎหมายถือว่าเป็นพื้นที่ห้ามเข้ามาทำการประมง ทำให้ชาวประมงในพื้นที่จังหวัดสตูลได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจำนวนมาก เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติฯ เกือบทั้งหมด 

ในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ประกอบอาชีพของชาวประมงเป็นระยะเวลานาน ซึ่งชาวประมงมีความจำเป็นที่ต้องทำประมงในพื้นที่ดังกล่าวโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากนอกเขตพื้นที่อุทยานฯ เป็นไหล่ทวีป ไม่สามารถทำการประมงได้ โดยในระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีหน่วยงานเข้ามาประชุมหารือกับชาวประมง โดยมีสถาบันพระปกเกล้า กรมอุทยานฯ กรมประมง และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้มีมติและทำข้อตกลงในจังหวัดสตูล ว่าในพื้นที่เขตอุทยานฯ หน่วยงานของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ได้เสนอแนวเขตในการทำประมงของเรือประมงพื้นบ้าน และเรือประมงพาณิชย์ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย  ส่วนเรือประมงพาณิชย์ ให้ยึดตามประกาศเขตทะเลและชายฝั่งของกรมประมง 

แต่สืบเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ได้ออกมาบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยไม่ยึดตามข้อตกลงที่เคยตกลงร่วมกันไว้ จึงทำให้เรือประมง ซึ่งประกอบไปด้วยเรือประมงประเภทเรือปั่นหมึก ลอบหมึก เรือปั่นปลากะตัก อวนติดตา และอวนลาก โดยมีจำนวนประมาณ 400 ลำ และแรงงานประมงโดยมีจำนวนประมาณกว่า 3,000 คน  ซึ่งก่อนเคยมีรายได้จากการทำประมงเพียงอย่างเดียวโดยกรณีดังกล่าวได้ส่งผลกระทบ ถึงผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการประมง ทำให้ขาดรายได้ในส่วนนี้ 

จึงขอให้หาแนวทางช่วยเหลือชาวประมง ให้ได้สามารถทำการประมงต่อไปได้ ภายใต้พระราชกำหนดประมง ปี 2558 และให้มีการยกเลิกเรือประมงที่ได้ถูกดำเนินคดีทั้ง 27 ลำ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active