ภาคประชาชน เร่ง นายกฯ เซ็นรับรองกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติ

มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ร่วมกับเครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ สะท้อนปัญหาการเลือกปฏิบัติในหลายมิติ ย้ำจำเป็นต้องมีกฎหมายคุ้มครอง เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางสังคม

วันนี้ (22 ก.พ. 66) มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ร่วมกับเครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดกิจกรรม “เสียงของความแตกต่างสู่การร่วมกันขับเคลื่อนกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล” พร้อมนำเสนอสถานการณ์การถูกเลือกปฏิบัติในสังคมไทย โดยผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชนหลากหลายหน่วยงาน

ทฤษฎี สว่างยิ่ง ผู้อำนวยการเครือข่ายสุขภาพและโอกาส กล่าวว่า คนทุกคนมีเพศมาแต่กำเนิด มีรสนิยมทางเป็นสมบัติส่วนตัว และอัตลักษณ์ทางเพศเฉพาะบุคคล แต่สังคมเราเผชิญกับเรื่องของการเลือกปฏิบัติกับคนที่มีความต่างในเรื่องนี้ ยกตัวอย่าง สาวประเภทสองไปสมัครงานร้านอาหาร แต่เจ้าของร้านบอกว่าถ้ารับเข้ามาทำงานกลัวลูกค้ากินข้าวไม่อร่อย และมีการเลือกปฏิบัติแบบมาโดยตลอด ทำยังไงเสียงของพวกเขาจะได้รับการรับฟัง ซึ่งเรายังพบว่าการเลือกปฏิบัติแบบนี้เกิดขึ้นในทุกที่ ตั้งแต่ในครอบครัว หรือแม้แต่ผู้กำหนดนโยบาย ผู้บังคับใช้กฎหมาย แม้ว่าเราจะมีกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ แต่กว่าจะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมก็ต้องผ่านหลายขั้นตอน เป็นสิ่งที่ทำให้คนยิ่งเปราะบาง ไม่มีแรงที่จะสู้ต่อ

“สิ่งที่เราควรจะทำคือทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น โดยเราทำเว็บไซต์ https://www.inspirethailand.org เพื่อเล่าเรื่องราวการถูกเลือกปฏิบัติ และอัตลักษณ์บางอย่างที่ทำให้คนถูกเลือกปฏิบัติไม่เท่ากัน ไม่เป็นธรรม และอาจจะทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงในอีกหลายกรณี เชื่อว่าถ้าพยายามทำความเข้าใจความต่าง ความซับซ้อนนี้จะช่วยทำให้เกิดความเคารถความต่าง และการเลือกปฏิบัติจะน้อยลง”

อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย มองว่า วันนี้พัฒนาการทางการแพทย์ก้าวหน้ามากมายที่ช่วยรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีจนสามารถไม่แพร่กระจายเชื้อได้ แต่ยังพบว่านโยบายของการเข้ารับทำงาน ทั้งราชการ มหาดไทย มีการกำหนดไว้ว่าไม่รับคนผลเลือดบวก รวมถึงสถานศึกษาบางแห่ง หรือแม้แต่สถานบริการสาธารณสุขเองมีการรับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในบริษัทต่าง ๆ และส่งผลรายงานผลตรวจของพนักงานกับบริษัทต้นสังกัด แทนที่ทุกคนจะมีโอกาสในการใช้ชีวิต ทำงานได้เช่นเดียวกัน เราควรดูคนที่ความสามารถไม่ใช่ผลเลือด

“เสียงของผู้ติดเชื้อไม่ใช่แค่กระทบกับผู้ติดเชื้อเท่านั้นแต่ยังกระทบกับผู้ที่ไม่ติดเชื้อด้วย เพราะถูกนำเลือดไปตรวจสอบเช่นเดียวกัน และวันนี้โรงเรียนหลายแห่งยังขอผลการยืนยันว่าไม่ติดเชื้อจากเด็กนักเรียนที่อาจเป็นเพียงนักรณรงค์เพื่อความเท่าเทียม สิ่งนี้สร้างบรรยากาศของความกลัวให้ติดตั้งในทัศนคติของคนที่อยู่ในระบบ และคนในสังคม สถานการณ์แบบนี้ พรรคการเมืองจะทำอย่างไร คนที่ต้องการปกป้องสิทธิจะทำอย่างไร หน่วยงานของรัฐหลายแห่งก็ออกนโยบายละเมิดสิทธิเสียเอง แล้วจะไปพูดกับคนอื่นเขาได้อย่างไรว่าไม่เลือกปฏิบัติแล้ว”

กษมา อายิ ผู้จัดการกลุ่ม ฅ ฅนเพื่อการเปลี่ยนแปลง พูดแทนเครือข่ายผู้ใช้ยาประเทศไทย ว่า ไม่มีใครอยากใช้ยาเสพติด ตอนเด็ก ๆ ถามถึงความฝันในชีวิต เชื่อว่าไม่มีใครตอบว่าอยากโตมาเป็นคนติดยาหรอก แต่เงื่อนไขของชีวิตที่ทำให้คนบางคนตัดสินใจเกี่ยวข้องกับยา โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูง พื้นที่ชายแดน นโยบายภาครัฐก็มีส่วนเป็นสาเหตุเช่นกัน เพราะตั้งแต่กฎหมายนโยบายกัญชา ต่าง ๆ ถูกปลดล็อก พบว่าทุกพื้นที่เกิดปัญหายาเสพติดมากขึ้น หน่วยบริการสาธารณสุขในระดับพื้นที่หลายแห่งทราบเรื่องนี้ดี

“นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่ทำให้แบ่งแยก ผู้ใช้ยาถูกตีตรา ด้อยค่า เวลาถูกคนอื่นมองแบบนี้ ยิ่งทำให้ศักยภาพในการอยู่ร่วมกับคนอื่นก็ยาก ทำให้ต้องไปอยู่ในมุมมืด เริ่มจากบ้านเราถ้ามีคนใช้ยาหนึ่งคน เราให้โอกาสเขาแค่ไหน กี่ครั้ง ทำให้พวกเขาไม่สามารถทำได้ สิ่งนี้เริ่มได้จากตัวเรา จากครอบครัวของเราได้เลย ส่วนกฎหมายในการขจัดการเลือกปฏิบัติหากเกิดขึ้นจริงก็อยากให้ผู้แทนฯ รับไปพิจารณา เพื่อช่วยให้ทุกกลุ่มประชากรได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตัวเอง และมีกลไกในการคุ้มครอง รวมถึงหน่วยงานภาครัฐจะเปลี่ยนบทบาทในการเลือกปฏิบัติไปด้วย”

สมชาย หอมลออ นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่ระบุถึงความเท่าเทียม มีกฎหมายห้ามเลือกปฏิบัติกับคนเฉพาะกลุ่ม และมีอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ทำไว้แต่ยังมีการเลือกปฏิบัติในสังคมอยู่มาก จึงมีการจัดทำกฎหมายขจัดการเลือกปฎิบัติโดยภาคประชาชนขึ้น เพื่อที่จะสร้างความเท่าเทียมทางสังคม ซึ่งมีกลไก 4 เรื่องด้านหลัก คือ 1. คณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ประกอบด้วยตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคม กำหนดนโยบายและมาตรการ เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติ 2. คณะกรรมการคุ้มครองและช่วยเหลือบุคคลที่ถูกเลือกปฏิบัติ (คชป.) โดยคณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง มีอำนาจตรวจสอบคุ้มครอง ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย 3. สภาส่งเสริมความเท่าเทียมและขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล และ 4. สำนักงานคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล แต่ในปัจจุบันนี้

“ร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติของภาคประชาชนรวมรายชื่อเสนอกว่าหมื่นคน แต่ในปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี นับ 2 ปีแล้ว ทำให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณา และประกาศใช้”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active