เปิดตัว “เครือข่ายขจัดการเลือกปฏิบัติ (มูฟดิ)” ปลดอคติ หยุดตีตรา-เลือกปฏิบัติ

ภาคประชาชนจับมือเปิดตัว “เครือข่ายขจัดการเลือกปฏิบัติ (มูฟดิ)” หวังสร้างสังคมที่เคารพความแตกต่างหลากหลาย ขณะตัวแทนพรรคก้าวไกล ร่วมเวที ชี้ แม้ ‘พิธา’ ไม่ได้นั่งนายกฯ ก็จะผลักดันกฎหมายด้วย 151 ส.ส.ในสภาฯ

แม้รัฐไทยจะพยายามพูดถึงการทำให้สังคมไทยปราศจากการกีดกันเลือกปฏิบัติ แต่สถานการณ์ปัจจุบันก็ยังมีผู้ที่ถูกตีตรา เลือกปฏิบัติให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนในสังคม 

วันนี้ (24 มิ.ย. 66) ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภาคประชาชนได้ร่วมกันเปิดตัว“เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ มูฟดิ “มูฟไปข้างหน้าเพื่อสร้างสังคมที่เคารพความแตกต่างหลากหลาย ไม่เลือกปฏิบัติ” รวม 11 เครือข่าย อาทิ เครือข่ายพนักงานบริการ, เครือข่ายชาติพันธุ์, การยุติการตั้งครรภ์, เครือข่ายผู้หญิงที่ใช้ยาเสพติด และเครือข่ายเยาวชนที่อยู่ร่วมกับ HIV ฯลฯ  พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การถูกตีตรา และเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะ การผลักดันกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล และ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกปฏิบัติ

ขณะที่ฝ่ายบริหาร อย่าง กรุงเทพมหานคร ที่เคยประกาศให้ กทม. เป็นเมืองที่เป็นมิตรกับคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริงยังได้ประกาศถึงการสานต่องานดังกล่าว นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. เน้นย้ำแนวทางที่จะทำอย่างไร ให้ประเทศไทยมีกฎหมายนโยบายที่ปราศจากการตีตรา เลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะการผลักดันกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ซึ่งมีประชาชนเข้าชื่อ 12,116 รายชื่อ ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ให้ความเห็นชอบเนื่องจากเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน และมีความหวังว่า กลไกภาคประชาชนอย่าง มูฟดิ หรือ เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนขจัดการเลือกปฏิบัติในสังคม

จารุณี ศิริพันธุ์ กองเลขา MovED/ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (FAR) ระบุ 24 มิ.ย.2475 ถือเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่เครือข่ายพี่น้องขจัดการเลือกปฏิบัติรู้ดีว่ามีอะไรหลายอย่างเปลี่ยนไป แต่อคติที่เรามีต่อผู้คนในสังคมยังไม่เปลี่ยนไป ณ วันนี้ไม่ใช่วันธรรมดาวันหนึ่ง แต่เป็นวันเปิดตัวเครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ เพราะเป็นวันแห่งการปลดอคติที่มีต่อเพื่อนมนุษย์วางลง และปลดแอคจากนโยบายและกฎหมายที่ยังละเมิดสิทธิ์ อยากใช้วันนี้เป็นหมุดหมายของการปลดอคติเพื่อให้สังคมเบาสบายมากขึ้น 

สังคมไหน เลือกปฏิบัติมาก จะมีความเหลื่อมล้ำสูง เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ

สุภัทรา นาคผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ริเริ่มทำกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมมาตั้งแต่ปี 2560 เห็นพัฒนาการมีส่วนร่วมของพี่น้องจาก 9 เครือข่าย จนวันนี้มีเครือข่ายมากขึ้น และเข้มแข็งมากขึ้น พบว่าเรื่องร้องเรียนที่มีเข้ามาต่อเนื่องคือ การคัดกรองคนเข้าทำงานโดยการตรวจเชื้อ HIV  เราพยายามจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง แก้ปัญหาภาพรวมนโยบายไม่อยากแก้รายบุคคล เพราะปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนนับพันเรื่อง และการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ก็ติดอันดับ Top 5  ของเรื่องราวที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด 

ที่ผ่านมาการผลักดันกฎหมายประเด็นนี้จากภาคประชาชน ชะงักลงเพราะติดข้อจำกัดเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน โดยมองว่าพรรคการเมือง มีส่วนสำคัญที่จะเร่งปฏิกิริยาที่จะช่วยผลักดันเรื่องนี้ได้สำเร็จ สังคมไหนที่มีการเลือกปฏิบัติมากจะมีความเหลื่อมล้ำสูงและจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศดังนั้นการขจัดความเหลื่อมล้ำ และขจัดการเลือกปฏิบัติจึงเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา ประชาชนเคลื่อนไหวแล้ว แต่ยังต้องทำงานกับอีกหลายภาคส่วน แต่หากภาครัฐยังไม่เสนอกฎหมายประกอบการผลักดันก็จะไปต่อไม่ได้เช่นเดิม การมีกฎหมาย อาจจะไม่ใช่คำตอบเดียว หรือคำตอบสุดท้าย แต่อย่างน้อยคือหลักประกัน ว่าประชาชนได้รับการรับรองสิทธิ 

ที่ผ่านมาไทยมีกฎหมายดีหลายอย่าง แต่ที่สำคัญกว่า คือ การจัดการกับฐานคิดของสังคม สร้างความเข้าใจใหม่ให้กับสังคม ถึงจะนำไปสู่ความเข้าใจและไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคล ปัญหาสำคัญอีกประเด็นคือ คนที่กำลังเผชิญปัญหา ก็ยังไม่กล้าหาญพอที่จะเดินออกมาบอกว่าเจอกับอะไร การที่จะต้องสร้างพลังให้กับคนที่ยังไม่เข้มแข็งก็เป็นอีกส่วนที่สำคัญ คาดหวังให้เครือข่ายมูฟดิ สร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายตัวเอง และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างเพื่อนร่วมเครือข่าย

ที่อยากจะฝากสุดท้ายคือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม.มียุทธศาสตร์สำคัญในการขจัดเลือกปฏิบัติ โดยเชื่อว่า กฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติ จะเป็นคานงัดสำคัญของสังคมไทย และจะทำให้ภาพลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทยเป็นที่ยอมรับมากขึ้นต่อไปในอนาคต

การสื่อสารแบบไม่ตีตราเหมารวม จะเป็นจริงได้อย่างไร

เฌอเอม ชญาธนุส ศรทัตต์ มิสแกรนด์ลำพูน ผู้เคยต่อสู้เป็นปากเสียงให้กับชาวบางกลอย และถูกตั้งคำถามจากอีกฝ่ายที่เห็นต่าง แต่เธอก็ยังคงยืนหยัดที่จะใช้การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับสังคมในประเด็นต่างๆ โดยเธอมองว่า สื่อและภาครัฐมักจะให้ข่าวในเชิงมหันตภัย มากกว่าการทำความเข้าใจคนกลุ่มนี้ 

ขณะที่การรวมกลุ่มของเครือข่ายมูฟดิในวันนี้ เป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจ เพราะยิ่งมีจำนวนผู้เข้าร่วมมาก ยิ่งสะท้อนถึงการมีที่ยืนในสังคม จึงอยากจะให้มีการจัดงานแบบนี้ เพราะเวลาที่ประชาชนถูกกดทับทางโครงสร้าง จะพบว่า บางคนขาดโอกาส ถูกกีดกันทางกฎหมาย กฎหมายจึงไม่ควรเป็นตัวมาแบ่งแยก หรือคัดคนเข้าทำงาน

อีกประเด็นที่สำคัญ คือ การเลือกปฏิบัติไม่ได้มาในรูปแบบของตีตรา เท่านั้นแต่อาจมาในรูปแบบของการไม่เชื่อถือในวิถีชีวิต อาชีพ และการแสดงออกเพื่อบอกว่าเราคือคนที่รู้ดีกว่าคนเหล่านั้น หลายครั้งที่เสียงของคนกลุ่มนี้ไม่ถูกได้ยิน และเธอยืนยันว่า “คนคนหนึ่งไม่ต้องการความสงสาร แต่สิ่งที่ต้องการมากกว่า คือการให้เกียรติ และเคารพซึ่งกันและกฎหมาย”

สัญญาจาก ส.ส. 151 คนจากก้าวไกล ผลักดัน กฎหมายและนโยบายปราศจากการตีตราเลือกปฏิบัติ

ณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล หยิบยกการผลักดันกฎหมายบางฉบับที่ใช้เวลานาน และบางอย่างต้องแลกมาด้วยชีวิต เช่น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมาน ระบุว่า “ประเทศไทยมีคนที่ถูกซ้อมทรมานถูกบังคับให้สูญหาย และกฎหมายจะไม่ผ่านเลย หากไม่เกิดเหตุคลุมถุงดำของนายตำรวจ เช่นเดียวกับ ประเด็นชาติพันธุ์ และความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย, ผู้ติดเชื้อ, ไม่ว่าจะเป็นการยุติการตั้งครรภ์ สถานะต่างๆ เด็กเยาวชน สตรี” ด้านหนึ่งจะเห็นว่า กฎหมายหลายฉบับต้องใช้เวลาในการผลักดัน แต่ต้องไม่หยุดทำ

นอกจากนี้เขายังยกตัวอย่าง กฎหมายหลายฉบับที่จะมีการตั้งคณะกรรมการ และมีวงเล็บที่ระบุว่า บอร์ดระดับจังหวัด และระดับชาติ จะต้องไม่เคยถูกคำพิพากษา หรือจำคุก แต่บางครั้งโทษของความผิดที่นำไปสู่การคุมขัง เข้าเรือนจำมีหลากหลายรูปแบบ สำคัญคือ เรายอมรับหรือไม่หลังจากที่คนกลุ่มนี้ออกจากคุกมาแล้ว สิทธิความเป็นพลเมืองของคนกลุ่มนี้จะกลับคืนมาหรือไม่… การผลักดันกฎหมายยกเลิกคุ้มครอง ส่งเสริมไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ ต้องสร้างมุมมอง ลดมายาคติ อคติต่างๆ จึงมีความสำคัญ

ณัฐวุฒิ ย้ำ หากนายกรัฐมนตรีคนถัดไป ไม่ได้ชื่อ พิธา ก็จะยังนำร่างกฎหมาย ที่ภาคประชาชนร่วมกันลงชื่อ 11,790 รายชื่อไปให้ นายพิธาลงนามให้ เพื่อเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร โดย ส.ส. 151 คน ส่งกฎหมายของพี่น้องเข้าสู่สภาฯ อย่างแน่นอน พรรคก้าวไกลไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคล แต่พรรคก้าวไกล คือ พรรคก้าวไกลที่อยู่บนพื้นฐานความเชื่อ และอุดมการณ์แบบเดียวกัน การประกาศเจตจำนงค์ทางการเมือง สร้างวิธีคิดใหม่กับสังคม ทำให้การเลือกปฏิบัติน้อยลงไปจากสังคมไทย 

  • สร้างการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชน และเครือข่ายผู้รับผลกระทบให้เข้าใจความแตกต่าง ไม่เลือกปฏิบัติ สามารถส่งเสริมและจัดการการเลือกปฏิบัติได้อย่างเช้มแข็ง ขยายแนวร่วมเครือข่ายให้ครอบคลุมและหลากหลาย 
  • สื่อสารกับสาธารณะอย่างต่อเนื่อง เคารพคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
  • ผลักดันฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติของประเทศไทย เสนอ พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติ ผ่านการเข้าชื่อ 11,790 รายชื่อ ภายใต้รัฐบาลใหม่
  • รวบรวมองค์ความรู้ ข้อมูลข้อเท็จจริง เครื่องมือและหลักสูตร การตีตราเลือกปฏิบัติให้พร้อมใช้สำหรับประชาชน และชุมชนผู้ได้รับผลกระทบ 

โดยขอให้ทุกภาคส่วนของสังคมโดยเฉพาะรัฐบาลใหม่ร่วมกันขับเคลื่อนให้กฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติภาคประชาชนเกิดขึ้นจริง และให้รัฐบาลส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษย์ชน ผ่านมุมมองความแตกต่างหลากลาย, ความต่างทางเพศ และมุมมองด้านสิทธิมนุษยชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active