นพ.สุภัทร หวั่น ภายหน้าผู้ตรวจราชการจะย้ายผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนได้ด้วยเหตุความเหมาะสมหรืออยู่นานเกินไป เกิดการเล่นพรรคพวก สั่นคลอนบทบาทการดูแลชาวบ้านที่เปลี่ยนแปลงไป
วันนี้ (22 ก.พ. 2566) เป็นครั้งแรกที่ นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ได้พบกับ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเข้ามาชี้แจงกรณีคำสั่งโยกย้ายนายแพทย์สุภัทร ต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน หลังจากที่ภาคีเครือข่ายเพื่อหมอสุภัทร ยื่นหนังสือร้องเรียนไปก่อนหน้านี้
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า เป็นการโยกย้ายตามขั้นตอนระเบียบราชการ บนหลักการบริหารที่ยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ยืนยันว่าเป็นเรื่องของฝ่ายข้าราชการประจำไม่มีอำนาจทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะที่อำนาจการโยกย้ายผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนซึ่งมีตำแหน่งเป็นนายแพทย์เชี่ยวชาญหรือระดับ C9 เป็นอำนาจการโยกย้ายในระดับจังหวัดไม่เกี่ยวกับตน ในสายบังคับบัญชาคือนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้ตรวจราชการเขต 12
ที่ผ่านมามีการกระจายอำนาจการโยกย้ายบุคลากรสาธารณสุขในระดับ C9 ให้แก่ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพ ซึ่งก็รวมถึงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน มาตั้งแต่ปี 2558 และในรอบปี 2565 ที่ผ่านมา ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพก็ได้ใช้อำนาจในการโยกย้ายแล้วถึง 21 ครั้ง
ด้านนายแพทย์สวัสดิ์ อภิวัจนีวงศ์ ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 12 กล่าวว่าสาเหตุที่ต้องย้าย นายแพทย์สุภัทรไปประจำที่โรงพยาบาลสะบ้าย้อยเนื่องจากตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อยว่างมาแล้ว 2 ปียังสรรหาผู้อำนวยการไม่ได้ โดยมีการหลังจากที่ตำแหน่งว่างก็ลงมีการเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจแล้วแต่ไม่มีผู้ใดสมัครเข้ามา จึงจำเป็นต้องคัดเลือกจากผู้ที่มีคุณสมบัติที่สามารถเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้ซึ่งก็พบว่ามี 8 รายชื่อ
คนแรกคือ นายแพทย์สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี ซึ่งปัจจุบันควบตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ (สสป.) ในสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขด้วย คนที่ 2 นายแพทย์เดชา แซ่หลี เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพาและควบตำแหน่งรองประธานคณะทำงานพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิและองค์รวม เขตสุขภาพที่ 12 ที่เหลือเป็นนายแพทย์เชี่ยวชาญ C9 ที่ไม่ได้มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ ก็จะเหลือแต่เพียง นายแพทย์สุภัทร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ที่เหมาะสมที่สุดจึงเลื่อนตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะนั่นก็คือ นายแพทย์หมัด หีมเหม ขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ซึ่งนายแพทย์หมัดก็อยู่ในโรงพยาบาลจะนะมาถึง 25 ปียาวนานกว่านายแพทย์สุภัทร 1 ปี
ส่วนข้อเสนอของนายแพทย์สุภัทรที่ให้ควบผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนควบ 2 โรงพยาบาล นั้นตนมีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหานี้ให้ 1 โรงพยาบาลมี 1 ผู้อำนวยการ ซึ่งจะเฟ้นหาในแพทย์รุ่นใหม่มาลงตำแหน่งนี้ต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาคอขวดต่อไป
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เสริมว่าในหลักการบริหารนั้นถือได้ว่าดำเนินการมาอย่างถูกต้องตามขั้นตอนแล้ว และประชาชนได้ประโยชน์เพราะที่โรงพยาบาลจะนะก็ได้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนใหม่ ที่รู้จักพื้นที่ และโรงพยาบาลสะบ้าย้อยซึ่งขาดแคลนผู้อำนวยการ ก็ได้ผู้อำนวยการที่ทำงานเก่ง ไปพัฒนาระบบสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อพี่น้องประชาชน ซึ่งมองว่าไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่เป็นเรื่องดีด้วยซ้ำไป
นายแพทย์โอภาส ยังยืนยันด้วยว่า อำนาจในการโยกย้ายผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน ได้มีการมอบสิทธิ์ขาดแก่ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพซึ่งเปรียบเสมือนปลัดกระทรวงประจำเขต สามารถใช้ดุลพินิจได้อย่างเต็มที่ โดยที่ตัวปลัดกระทรวงสาธารณสุขเอง ก็ไม่มีสิทธิ์โต้แย้ง
ประเด็นนี้ นายแพทย์สุภัทร ตั้งข้อสังเกตว่าผู้ตรวจราชการเขต 12 คนเดิมคือ นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก ไม่ยอมเซ็นย้ายตน ตามแรงกดดันทางการเมืองจากเบื้องบน ทำให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ต้องใช้คำสั่งย้ายนายแพทย์สุเทพ แล้วในนายแพทย์สวัสดิ์มาเป็นแทน เพื่อเซ็นย้ายตน ซึ่งหลังจากที่นายแพทย์สวัสดิ์ขึ้นมาเป็นผู้ตรวจฯ ไม่ถึงเดือนก็เซ็นย้ายตนทันที
นายแพทย์ นายสุภัทร บอกว่า ผิดหวัง แม้จะไม่ได้หวังอะไรมากคณะกรรมาธิการกฏหมายใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่งในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนการโยกย้ายตนอย่างไม่เป็นธรรม ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและผู้ตรวจราชการได้ชี้แจงอ้างระเบียบราชการ ถามอะไรไปก็อ้างระเบียบตลอดว่าทำถูกต้องตามระเบียบและมีอำนาจตามระเบียบ
ในภายภาคหน้าผู้ตรวจราชการก็จะมีอำนาจย้ายผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้ด้วยเหตุความเหมาะสมหรือเพราะอยู่นานเกินไปอยากให้ไปพัฒนาที่อื่นเช่นนี้ย่อมไม่เป็นธรรม และจะสร้างผลกระทบเกิดการเล่นพรรคเล่นพวก ทำให้วิถีของผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนที่ต้องดูแลชาวบ้านเปลี่ยนไปเป็นต้องดูแลนายแทน สำหรับเรื่องนี้ไม่มีคำตอบใดใด นอกจากคำตอบที่ว่าให้เป็นไปตามระเบียบข้าราชการ