“นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ” ข้าราชการที่ไม่สยบยอมกับอำนาจ

เปิดใจครั้งสุดท้ายในฐานะ “ผอ.รพ.จะนะ” เมื่อการโดนย้ายไม่ใช่ความพ่ายแพ้ และการต่อสู้เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลระบบสาธารณสุขไทยภาค 2 กำลังจะเริ่มขึ้น

ในยุคที่ระบบสุขาภิบาลดี งานสาธารณสุขจึงเป็นงานป้องกันควบคุมโรคจากพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม ด้วยบริบทสังคมเช่นนี้ทำให้ “นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ” ให้ความสำคัญกับสุขภาพดีสิ่งแวดล้อมดี และสังคมดี เขาเริ่มเป็นที่รู้จักในสังคมวงกว้างครั้งแรกเมื่อชาวบ้าน อ.จะนะ จ.สงขลา ออกมาต่อต้านโครงการท่อแยกก๊าซไทย-มาเลเซียเมื่อปี 2545 เหตุการณ์ครั้งนั้นนำมาสู่การสลายการชุมนุม และเกิดคดีฟ้องร้องกันระหว่างชาวบ้านกับรัฐหลายคดี โดย นพ.สุภัทร เป็นหนึ่งในผู้คัดค้านร่วมกับชุมชนและขึ้นเวทีปราศรัยเป็นระยะ ทั้งยังจัดรถพยาบาลไว้รองรับสถานการณ์ปะทะระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ฝ่ายความมั่นคงกลับส่งหนังสือไปยังสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขขอให้สั่งย้ายเขาออกจากพื้นที่ในข้อหาต่อต้านนโยบายสาธารณะ

นั่นเป็นครั้งแรกที่นายแพทย์สุภัทรได้รับแรงกระแทกจากการออกมาร่วมเคลื่อนไหวกับชาวบ้าน แต่หลังจากนั้นเขาก็ไม่หยุดที่จะร่วมกิจกรรมคัดค้านโครงการที่จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม สร้างมลพิษและจะเป็นภัยสุขภาพต่อคนในชุมชนทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และนิคมอุตสาหกรรมจะนะ แต่นี่ใช่บทบาทหน้าที่ของ “ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน” หรือไม่

ช่วงสองปีที่ผ่านมาสถานการณ์โควิด-19 นายแพทย์สุภัทรในฐานะ “ประธานชมรมแพทย์ชนบท” ซึ่งรับตำแหน่งนี้เมื่อปี 2563 เปิดหน้าวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 การจัดซื้อชุดตรวจเอทีเค ตั้งข้อสังเกตถึงการโยกย้ายบุคลากรภายในกระทรวงสาธารณสุขที่ไม่เป็นธรรม รวมไปถึงคัดค้านนโยบายกัญชาเสรี และตั้งคำถามถึงการบริหารจัดการงบฯส่งเสริมและป้องกันโรค 

ภายใต้หมวกของประธานชมรมแพทย์ชนบท เขาไม่วิพากษ์วิจารณ์อย่างเดียว ห้วงเวลาที่กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางการส่งออกเชื้อโควิด-19 กระจายไปภูมิภาค ระบบสุขภาพเมืองหลวงล่ม นายแพทย์สุภัทรนำทัพแพทย์บุคลากรสุขภาพจาก 33 จังหวัด มา “บุกกรุง” ลงพื้นที่คัดกรองผู้ป่วยผู้ติดเชื้อในชุมชนแออัด เยี่ยมบ้าน และฉีดวัคซีนผู้ติดบ้านติดเตียง ช่วยเย็บรอยต่อช่องว่างการบริการและควบคุมโรคระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานครได้

หลังจากที่รอดคำสั่งย้ายมาได้หลายครั้ง และเป็นผู้อำนวยการที่โรงพยาบาลจะนะมายาวนานถึง 24 ปี ทำไมคำสั่งโยกย้ายในครั้งนี้จึงเกิดขึ้นได้สำเร็จ และมันเป็นคำสั่งที่กระทบต่อธรรมาภิบาลของกระทรวงสาธารณสุขอย่างไร The Active สัมภาษณ์นายแพทย์สุภัทรในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนที่จะต้องย้ายไปดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อยในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566

เราจะชวนย้อนกลับไปทำความรู้จักตัวตน วิธีคิดที่เป็นจุดเริ่มต้น และทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมาอีกครั้ง รวมไปถึงอนาคตของหมอคนนี้จะเดินต่อไปอย่างไร ท่ามกลางความผันผวนในวัฒนธรรมองค์กรของกระทรวงสาธารณสุขที่ไม่เคยมีมาก่อน

สัปดาห์สุดท้ายของการเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ที่อยู่มานานถึง 24 ปีเป็นอย่างไร

“ผมรู้สึกว่าผมเข้มแข็งนะ แต่พอไปเยี่ยมศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านลางา ต.บ้านนา ได้เยี่ยมชาวบ้าน ก็มีความรู้สึกเศร้า รู้ถึงความผูกพันที่เรามีต่อพื้นที่ ต่อผู้คนที่ต้องจากเขาไป”

การเข้าหาชาวบ้านหรือชุมชนคือสิ่งที่คุณหมอทำมาโดยตลอดเลยใช่ไหม

ผมก็ถนัดของผมแบบนี้ คือผมง่ายในการเดินเข้าไปคุยกับชาวบ้าน ไม่ต้องลำบากอะไร เวลาไปเยี่ยมชาวบ้านเราไม่ต้องมีกระเช้า ผมไม่ชอบการหิ้วของไปฝากที่ทางการครับ เราก็ไปเยี่ยมด้วยความบริสุทธิ์ใจ มีโอกาสแวะก็แวะทักทายถามไถ่ สารทุกข์สุขดิบ เขาก็ถามไถ่เราก็เหมือนการไปเยี่ยมญาติคนหนึ่ง แล้วเขาก็รู้สึกดีกับเรา เพราะเราไม่ได้มาเมื่อยามเจ็บป่วยเท่านั้น บางครั้งเราก็ไปในจังหวะชีวิตของเขา เช่น มีงานบุญ งานสำคัญของบ้านเขา บางช่วง อสม. ก็พาเราลงไปพูดคุยทั่วไปหรือยามเจ็บป่วย อันนี้เราก็ไป

อยากให้คุณหมอย้อนกลับไปพูดถึงจุดเริ่มต้นของตัวเอง 

ผมเกิดในหาดใหญ่ครับ ก็เป็นเด็กในเมืองเลยนะ ไม่ได้เป็นคนชนบทใดๆเลย อยู่กลางตลาดหาดใหญ่ แล้วก็เติบโตในโรงเรียนมัธยมมีชื่อเสียงของหาดใหญ่ ทั้งประถมและมัธยม จบมัธยม 6 โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยก็ยอมรับว่าเป็นคนเรียนเก่งครับ จึง Entrance ติดแพทย์จุฬาฯ ไปเรียนคณะแพทย์ที่จุฬาฯตอนปี 2531 ซึ่งก่อนหน้านี้ฐานชีวิตฐานความเข้าใจชนบทไม่มี พอไปอยู่แพทย์จุฬาฯ ผมก็มีโอกาสได้เข้ากิจกรรมของชมรมค่ายอาสาสมัครสมาคมสโมสรนิสิตจุฬาฯ (สจม.) ไปค่ายแรกที่บ้านสระครก จ.นครราชสีมา ผมรู้สึกว่าผมเห็นโลกใหม่ เห็นโลกกว้าง เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น บ้านสระครกตอนนั้นไม่มีไฟฟ้า นอนบ้านชาวบ้าน 3 วัน 2 คืน กลางคืนลมหนาวมันพัดผ่านซอกฝาบ้าน มันเห็นถึงความจริงที่เราไม่เคยเห็น ผมว่ามันเปลี่ยนตัวตนของผม แล้วก็ค่อยๆเรียนรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆกับวิถีชนบทชุมชน สังคม เรียนหมอไปด้วย ออกค่ายไปด้วย ทำกิจกรรมไปด้วย 

ผมทำกิจกรรมเยอะมากครับ แต่ก็เรียนหนัก เรื่องเรียนก็ไม่ทิ้งจนจบ 6 ปี ตอนปี 3 เป็นประธานชมรมค่ายอาสาสมัคร สจม. ก็ค่ายที่ผมอยู่นั่นแหละ หลังจากนั้นปี 4 พวกเราก็หาญกล้ารวมตัวกันในหมู่ชมรมค่าย แล้วก็กับทีมเพื่อนๆที่อยู่สภานิสิตฯ แล้วก็อาจจะมีเพื่อนๆอีกหลายกลุ่มรวมกันตั้งพรรคขึ้นมาในจุฬาฯ ชื่อ “พรรคจุฬาฯฟ้าใหม่” แต่ก็เรียกทีมนะ ทีมจุฬาฯฟ้าใหม่ ลงสมัครรับเลือกตั้งองค์การสโมสรนิสิตครับ ตอนนั้นมี 3 ทีม ไม่น่าเชื่อว่าทีมเราจะชนะและผมลงในตำแหน่งนายกองค์การสโมสรนิสิตจุฬาฯ ปี 2534 ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ผมรู้สึกตกใจมากว่า ตายแล้ว! ผมจะเรียนจบไหม เพราะว่าได้ภารกิจที่หนักหนามา 

ยังไม่ทันได้รับตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตฯ ก็เกิดการรัฐประหาร รสช. โดยพลเอกสุจินดา คราประยูร การรัฐประหารครั้งนั้นทำให้ชีวิตของทีมจุฬาฯฟ้าใหม่พวกผมเปลี่ยนไป จากเดิมที่ตั้งใจจะสร้างกิจกรรมสร้างสรรค์ในจุฬาฯ ปลูกสำนึกนักศึกษาเกียรติภูมิ จุฬาฯ คือเกียรติของการรับใช้ประชาชนที่ท่องกันให้มันเป็นจริงก็เลยนำมาสู่การต้องออกมาประท้วงรัฐบาล เรียกร้องการร่างรัฐธรรมนูญ คัดค้านการรัฐประหารจนเกิดเหตุการณ์พฤษภาคมทมิฬครับ

ตอนพฤษภาทมิฬเข้าร่วมกิจกรรมอะไร

ตอนนั้นผมเป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ช่วงท้ายๆแล้วล่ะ ไปร่วมกับ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ขณะนั้น รศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เป็นเลขาธิการ เราร่วมกิจกรรมในการประท้วงเต็มที่ ไปนอนค้างที่ถนนราชดำเนิน

กิจกรรมการประท้วง รสช. ในครั้งนั้นปลูกฝังความคิดใหม่ให้ผม เดิมชุดความคิดของค่ายอาสาเราก็เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความทุกข์ยาก ความขาดโอกาสของพี่น้องในชนบท ซึ่งเรารู้แล้วล่ะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่ปัญหาเพราะว่าคนชนบทขี้เกียจ แต่เพราะเขาขาดโอกาส และเราเชื่อมั่นในคำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน ถ้าชุมชนเข้มแข็งทุกคนช่วยกันสามัคคีกัน เราจะฝ่าฟันอุปสรรคสร้างหมู่บ้านเราให้เจริญได้ แต่พอเราไปร่วมขบวนการของประชาธิปไตย เราจะพบว่าหมู่บ้านไม่มีทางจะเจริญได้เลย เพราะว่าโครงสร้างส่วนบนคอยสูบเอาทรัพยากรไป อยู่ดีๆก็มาสร้างเขื่อน ชุมชนที่อุดมสมบูรณ์ก็ต้องย้ายที่ไปอยู่หลังเขา ชุมชนแตกสลาย ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนที่ระดับโครงสร้างด้วย เพื่อหาประชาธิปไตยที่แท้จริงขึ้น เพื่อสร้างระบบการปกครองที่เหมาะสมขึ้น เป็น 2 ชุดความคิดที่มาผนวกรวมในตัวผม ก่อนที่ผมจะจบออกมาทำงานครับ

พอผ่านพฤษภาทมิฬ เข้าสู่อะไรต่อ

เรียนแพทย์ปี 5 มีการเลือกตั้งเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ผมก็ได้เป็นเลขาธิการสหพันธ์ ต่อจากอาจารย์ปริญญา ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ช่วยกันกับญาติวีรชน ในการตามหาวีรชนที่สูญหาย ทวงคืนความเป็นธรรมเยียวยาเขา แล้วก็เรียกร้องการฟื้นฟูประชาธิปไตย หลังจากนั้นผมก็เข้าสู่ปี 6 ซึ่งเป็นปีที่ยากลำบากที่สุด เพราะปีใกล้จบ ก็กลับไปเรียนหนังสือเต็มที่ในคณะแพทย์จุฬาฯ แล้วก็จบด้วยเกรดเฉลี่ย 3.26 ภูมิใจมาก เพราะว่า ถ้าเกิน 3.25 จะได้เกียรตินิยมอันดับ 2  ซึ่งผมก็ได้เกียรตินิยมอันดับ 2 อย่างไม่น่าเชื่อ 

ช่วยเล่าตอนเป็นแพทย์เพิ่มพูนทักษะ ก่อนจะมาเป็นแพทย์เต็มตัว

ครับ ช่วงแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (extern) ปี 6 ผมก็ไปฝึกงานโรงพยาบาลสุรินทร์ คือทุกๆคนต้องไปฝึกงานโรงพยาบาลใหญ่ ผมโดนมอบหมายให้ไปฝึกงานที่โรงพยาบาลสุรินทร์ 3 เดือน ก็ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆจากที่นั่นมากมาย เพราะสมัยนั้นโรงพยาบาลต่างจังหวัดก็ขาดแคลนแพทย์ครับ หมอ extern จึงประดุจหมอใหญ่ เราได้ฝึกผ่าตัด ฝึกทำคลอด ฝึกอ่าน การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) การเอ็กซเรย์ ฝึกดูคนไข้หนัก คนไข้ฉุกเฉิน คนไข้วิกฤต ได้ทำทุกอย่างประดุจแพทย์จริงๆ ซึ่งก็ทำให้เราเชื่อมั่นในการทำงานมาก จบมาผ่าตัดเป็นนะครับ สมัยนั้นผ่าไส้ติ่งเป็นครับ ผ่าท้องคลอด ทำหมันสบายๆ ผมจบโรงพยาบาลสุรินทร์ ผมทำหมันไม่น่าต่ำกว่า 50 ราย ผมเป็นมือทำหมันอันดับต้นๆ ตอนจบมาเลย

พอเรียนจบแล้วอย่างไรต่อ

ตอนนั้นถ้าเรียนจบ 6 ปีเราก็ต้องเลือกว่าเราจะไปอยู่ที่ไหนครับ ดังนั้นผมก็ตัดสินใจว่าขอกลับมาอยู่สงขลา เพราะบ้านอยู่ที่นี่ พ่อแม่อยู่ที่นี่ เราก็อยากกลับมาใกล้บ้านก่อนเป็นประกันสำคัญ ผมเลือกจังหวัดสงขลาครับ แล้วก็กลับมาเพิ่มพูนทักษะที่จังหวัดสงขลา 

ตอนนั้นเป็นแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (extern) ครึ่งปี และเป็นแพทย์จบใหม่ใช้ทุน (intern) อีกครึ่งปีที่ลงโรงพยาบาลสงขลาก็ได้ทักษะมหาศาลมากในการดูผู้ป่วย และอีกครึ่งปีหลังผมก็ไปอยู่โรงพยาบาลรัตภูมิ 3 เดือน แล้วก็โรงพยาบาลเทพา 3 เดือน ช่วงสุดท้ายที่อยู่โรงพยาบาลเทพา 3 เดือนนั้นก็ต้องเลือกที่ทำงานในปีที่ 2 ตอนนั้นโรงพยาบาลสะบ้าย้อยตำแหน่งว่างครับ เพราะคุณหมอที่ประจำอยู่ไปเรียนต่อเป็นแพทย์เฉพาะทางหมด ผมก็ไปอยู่โรงพยาบาลสะบ้าย้อย พี่ๆก็บอกไปเป็นผู้อำนวยการด้วยนะ ผมก็ยินดี เพราะผมก็รู้สึกอยากลองเป็นผู้อำนวยการดู

จากนักศึกษาแพทย์ ขยับมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนเลย ตอนนั้นเรา challenge ตัวเองอย่างไร

การไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนนี่ไม่ลำบากนะครับสมัยนั้น ทุกคนได้เป็นครับ ถ้าประสงค์จะเป็นนะ 

โรงพยาบาลสะบ้าย้อยในยุคนั้นเป็นอย่างไร

มีเจ้าหน้าที่ 40-50 คนไม่เยอะครับ โรงพยาบาลเล็กๆ มีเตียงอยู่แค่ 30 เตียง แล้วก็บรรยากาศกันเองมาก เป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน เราก็ทำงานกันอย่างมีความสุขช่วยเหลือกันมีหมอ 2 คน ถ้าผมจะต้องมาประชุมก็จะเหลือหมอที่โรงพยาบาลคนเดียว ผมก็ต้องตื่นตี 5 มาตรวจเยี่ยมผู้ป่วยใน (Round Ward) ให้เรียบร้อย หรือว่าถ้ามีคนใกล้คลอด คืนนั้นเราก็ต้องทำให้เขาคลอดให้ได้ ถ้าเป็นไปได้ด้วยการใช้ยาเร่งคลอดเพื่อที่จะให้มีงานให้น้อยที่สุด สำหรับแพทย์คนที่เหลืออยู่ที่โรงพยาบาลเพียงคนเดียว ซึ่งเขาต้องวิ่งตรวจทั้งผู้ป่วยนอก (OPD, ผู้ป่วยฉุกเฉิน (ER) หรือผู้ป่วยใน (IPD) 

ตอนเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อยครั้งแรก เริ่มมีบทบาทเคลื่อนไหวกับชุมชนแล้วหรือไม่

มีน้อย แต่ว่าก็มีครับ ผมก็เริ่มมีพรรคพวกเพื่อนฝูงชวนไปเดิน “ป่าไร่เหนือ” เพราะเป็นผืนป่าที่จะมีถนนตัดผ่านเพื่อเชื่อมสะบ้าย้อยกับมาเลเซีย ผ่านใจกลางป่าต้นน้ำของแม่น้ำเทพา เราก็ไปเดินป่ากัน 3 วัน 2 คืน เดินเกือบตาย ผมอาจจะแข็งแรงน้อยกว่าคนอื่นก็เลยเดินหลังเพื่อน แต่กลับมาเราก็ช่วยกันรณรงค์ว่าถนนเส้นนี้ไม่ควรสร้าง ก็เป็นงานชิ้นแรกของผมที่เข้าสู่วงการสิ่งแวดล้อม วงการกิจกรรมในจังหวัดสงขลา 

อยู่ที่โรงพยาบาลสะบ้าย้อยกี่ปี ถึงย้ายมาที่โรงพยาบาลจะนะ เพราะอะไร

อยู่ 4 ปีครับ พ.ศ.2538-2541 อยู่ไปมีความสุขนะครับ ไม่คิดจะย้าย แต่ว่าเนื่องจากตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะว่าง เพราะผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะย้ายออกครับ พี่ๆก็ชวนบอกว่าให้มาอยู่จะนะมาช่วยกันทำงานที่จะนะ เพราะว่าอยู่สะบ้าย้อยไกลมาก เรียกใช้ไม่สะดวก ช่วยงานจังหวัดก็ยากเพราะเดินทางไกล ผมว่าย้ายมาใกล้บ้านก็ดีเหมือนกัน ตอนนั้นก็ไม่ได้สนใจว่าจะนะ จะมีประเด็นปัญหาโครงการขนาดใหญ่อะไรนะครับ ก็มาด้วยเหตุผลของภาคสาธารณสุข 

พอมาอยู่โรงพยาบาลจะนะ อะไรเป็นจุดเริ่มต้นให้ไปเข้มข้นกับชุมชนมากขึ้น

ส่วนตัวผมก็เริ่มตั้งแต่การคัดค้านถนนผ่านป่าไร่เหนือ ก็ทำให้ผมได้ร่วมกิจกรรมกับภาคประชาสังคมในสงขลาแล้ว พอมาที่จะนะก็มีโครงการโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียเกิดขึ้นในช่วงนั้น ก็มีวงคุยวงเสวนา ชาวบ้านเอาเอกสารวิชาการ EIA รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเล่มหนาๆซึ่งเป็นฉบับร่างมาให้อ่าน มันหนามาก ผมก็อ่านภาษาอังกฤษ ศัพท์วิชาการเยอะแยะ แต่เราเรียนมาเยอะเราก็เข้าใจ อ่านแล้วก็ไปเล่าให้ชาวบ้านฟัง ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ผมเข้าใจตัวโครงการทั้งหมด เพราะอ่านเกือบทุกหน้าแล้วไปเล่าให้ชาวบ้านฟัง แลกเปลี่ยนความเห็นกัน แล้วก็ พบว่าผลกระทบน่าจะเยอะมาก จะเปลี่ยนจะนะจากเมืองเกษตรกรรม เมืองที่เป็นพึ่งพาฐานทรัพยากรไปเป็นเมืองอุตสาหกรรม ก็นำมาสู่บทบาทผมในการเข้าร่วมขบวนการของชาวบ้านก็เริ่มสนิทสนมไปเรื่อยๆ

คิดว่าสิ่งที่ทำตอนนั้นเป็นบทบาทของผู้อำนวยการโรงพยาบาลไหม

มันไม่เกี่ยวหรอกครับ กับความเป็นผู้อำนวยการหรือไม่เป็นผู้อำนวยการ ไม่เป็นผู้อำนวยการก็ทำได้ครับ แต่การเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลก็ได้เปรียบกว่า เพราะว่าผมสามารถที่จะใช้สถานะของความเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลในการสื่อสารเบื้องต้น ชาวบ้านเขาก็รู้สึกโอเคกับบทบาทนี้ครับ

พอจะเล่าให้ฟังได้ไหมว่า มีเหตุการณ์ไหนที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องแล้วรู้สึกว่าตัวเองได้รับผลกระทบหนักมาก

น่าจะราว พ.ศ. 2546-2547 หลังจากที่โรงแยกก๊าซกำลังจะสร้างแล้วครับ ท่านผู้ตรวจราชการท่านหนึ่งก็ประสานนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมาว่า ท่านซื้อตั๋วเครื่องบินให้ผมแล้วนะ ให้ผมขึ้นกรุงเทพฯเดี๋ยวท่านไปด้วย พาไปหาปลัดกระทรวงสาธารณสุขครับ เนื้อหาก็คือว่าให้ผมเลิกคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย ไปถึงก็โดนซักโดนขู่ ตอนนั้นท่านปลัดไม่อยู่ รองปลัดกระทรวงเป็นคนคุยครับ

“ถามผมก่อนเลยว่าผมจะเป็นข้าราชการหรือผมจะเป็น NGO ถ้าเป็น NGO ให้ไปลาออก ถ้าเป็นข้าราชการก็ให้ปฏิบัติตามนโยบายห้ามค้าน ห้ามซัก ห้ามพูด ผมก็อธิบายว่างานที่ผมทำผมก็ไม่ได้ทำอะไรมาก ผมก็แค่ให้ข้อมูลทางวิชาการกับชาวบ้าน เพราะผมก็ไม่อยากเห็นมลพิษ ไม่อยากเห็นภัยสุขภาพที่เข้ามาที่ทำลายสุขภาพชาวบ้าน เขาบอกไม่ได้ เอาอย่างนี้แล้วกัน ให้ไปเขียนบันทึกเขียนรายงานมาว่าจะหยุดคัดค้าน แล้วก็ให้ส่งรายงานฉบับนี้ขึ้นมาที่กระทรวง ไม่อย่างนั้นก็คงจะโดนลงโทษทางวินัย” 

แล้วคุณหมอเขียนไหม

ผมก็ปรึกษาพี่ๆแพทย์ชนบท พี่ๆบอกเอ็งไม่ใช่คนแรกที่โดน เขาก็โดนกันมาเยอะแล้ว แพทย์ชนบทโดนแบบนี้มาหลายคนแล้ว คำแนะนำก็คือไม่ต้องเขียนให้ยื้อไปเรื่อย แต่จริงๆผมเขียนนะ แต่ผมไม่ได้ส่ง คือผมอยากเขียน ผมก็อีโก้จัดตอนนั้น ผมก็เขียนถึงเหตุผลความคิดของผมแต่ดีแล้วแหละที่ไม่ได้ส่ง เพราะถ้าส่งก็คงจะโดนไล่ออกได้

ถึงจุดนั้นได้กลับมาทบทวนบทบาทของเรากับสิ่งที่เราทำอยู่มันใช่ไหม  แล้วคิดไหมว่าทำแล้วก็เจ็บตัว แล้วทำไมถึงทำ

ผมไม่รู้สึกว่ามันจะทำให้ผมต้องเปลี่ยนบทบาทนะ แต่ผมก็เข้าใจเลยว่านี่มันคือส่วนหนึ่งของกระบวนการต่อสู้กับอำนาจ เป็นการต่อสู้กับสิ่งที่เขาก็ต้องเล่นกันแบบนี้แหละ ก็อยู่ที่เรา เราพร้อมที่จะยืนไหมกับชาวบ้าน ผมก็พร้อมที่จะยืนกับชาวบ้าน เพราะชาวบ้านพร้อมจะยืนกับผม มาเล่าให้ชาวบ้านฟังกลุ่มชาวบ้านก็ยังรู้สึกว่าไม่เป็นไรหมอ ..เขาพร้อม พร้อมที่จะอยู่ข้างหมอ แล้วก็ถ่วงเวลาการส่งเอกสาร สุดท้ายท่านปลัดก็โดนย้ายเข้าสำนักนายกไปก่อน

ตอนนั้นยุครัฐบาลอะไร

น่าจะยุคสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ครับ ช่วงต้นของ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ นพ.วัลลภ ไทยเหนือ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นโดนย้ายไปซะก่อนผมก็เลยไม่ต้องส่งรายงาน

การที่คุณหมอยืนอยู่กับชาวบ้าน ตัวคุณหมอได้อะไร

ผมได้ความสุขอีกแบบนะ ไม่รู้สิ คือผมคิดว่าประสบการณ์ในการใช้ชีวิต 6 ปีที่กรุงเทพฯตอนเรียนแพทย์ มันเปลี่ยนตัวตนของผมข้างใน ตัวตนของผมเปลี่ยนไปแล้วโดยที่ไม่รู้ตัว แล้วก็การไปอยู่ที่โรงพยาบาลสะบ้าย้อยนั้น ผมก็ได้อีกบทหนึ่งขึ้นมา ก็คือบทของการเป็นแพทย์ชนบท ซึ่งผมไม่เคยสัมผัสตอนเรียน 

ตอนเรียนผมจะเป็นบทของค่ายอาสา บทนักอนุรักษ์ แล้วก็บทบาทของฝ่ายประชาธิปไตย แต่ว่าตอนอยู่โรงพยาบาลสะบ้าย้อย  คุณหมอสุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ปัจจุบันอยู่โรงพยาบาลนาทวี เป็นประธานชมรมแพทย์ชนบท เราช่วยกันทำจดหมายข่าวแพทย์ชนบทกัน มีผม มีคุณหมอสุเทพ เพชรมาก มีคุณหมอสุวัฒน์ช่วยกัน 3-4 คน แล้วผมก็เริ่มเข้าสู่สังคมของแพทย์ชนบทครับ

“ผมก็เรียนรู้หลายอย่าง เราออกไปประชุม เราไปเยี่ยมพี่ๆ ที่อยู่โรงพยาบาลต่างๆเราก็เรียนรู้วิถี ดังนั้นสิ่งเหล่านี้มันหล่อหลอมตัวตนของเรา จนผมรู้สึกว่า โอเคผมขออยู่โรงพยาบาลชุมชน ไม่ไปเรียนแพทย์เฉพาะทางแล้ว จากเดิมที่เคยคิดจะไปเรียนแพทย์ผ่าตัดสมอง คือสุดยอดของหมอ คือหมอผ่าตัด สุดยอดของหมอผ่าตัด คือหมอผ่าตัดสมองนิว ผมก็อยากไปเรียนตอนสมัยเรียนจบใหม่ๆนะ แต่พอไปอยู่สะบ้าย้อย 4 ปี และก็ย้ายมาอยู่จะนะ ผมก็รู้สึกว่าตัวตนผมคือตรงนี้แหละคือชุมชน คืออยู่กับชาวบ้าน แล้วผมก็มีความสุขด้วย” 

ถามว่าผมได้อะไร ผมก็คงได้เติมเต็มความรู้สึกของผม มันไม่ใช่การเสียสละนะยืนยัน ผมไม่ได้ทำเพราะผมเสียสละ ผมต้องอุทิศมันไม่ใช่นะ คือถ้าเสียสละกับอุทิศมันทำได้ไม่นาน แต่ผมทำเพราะมันใช่ มันเติมเต็มความรู้สึก เราได้เรียนรู้ เราได้มิตรภาพกับชาวบ้าน เราได้คำยกย่องเพื่อนฝูง กับอาจารย์ผมเรียนรู้เยอะมากครับ เรียนรู้กับอาจารย์ผู้ใหญ่ที่มาเสวนาด้วย มันเป็นการเรียนในชีวิตจริง ฟังเสวนา 3 ชั่วโมงนี้มันมีความหมายมาก เป็นเลคเชอร์ที่มีความหมาย เป็นต้น

ทำไมคุณหมอเลือกที่จะอยู่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน 

ตัวตนและวิถีที่ผมเป็นอยู่ ผมเป็นข้าราชการด้วย มันยากที่จะอยู่ตรงไหนดีล่ะ ที่ผมจะสามารถแสดงออกของตัวตนของผมเอง ความเป็นตัวของตัวเองได้ ทักท้วงได้ พูดได้ ไปประท้วงได้ ช่วยชาวบ้านได้มันมีที่เดียวที่ผมอยู่ได้

ชื่อตำแหน่งดีมาก ผู้อำนวยการครับ ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชา อันนี้เป็นหัวใจมาก ดังนั้นเราเป็นผู้อำนวยการ “อำนวยการ” ดังนั้นใช้พระเดชให้น้อยที่สุด แล้วก็ใช้การประสานงานให้มากที่สุด แล้วก็ใช้ตัวเราเป็นกลไกในการประสานให้เกิดบูรณาการ อันนี้คือบทบาทที่สำคัญที่สุด ซึ่งพอเราทำบทประสานงานและบูรณาการสรรพสิ่งทั้งในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาล

ดังนั้นผู้อำนวยการจะกลายเป็นศูนย์กลางของการแก้ปัญหา คือสุดท้ายตัวเราเป็นศูนย์กลางของการสร้างสรรค์และการแก้ปัญหานะ เพราะ​ฉะนั้นการอยู่นานจึงมีความหมาย เพราะแพทย์นี่เป็นสถานะที่สูงอยู่แล้วชุมชนให้การยอมรับ แล้วก็เป็นผู้อำนวยการด้วย ซึ่งมีทรัพยากรในโรงพยาบาล เราดูแลผู้คนได้ ญาติพี่น้องเขาไม่สบายเราดูแลหมด จึงมีความรู้สึกดีๆที่จะช่วยกัน เมื่อเราอยู่ตรงนี้เราก็จะสามารถระดมทรัพยากรระดมความร่วมมือมาสร้างสรรค์งานได้ โดยที่ทรัพยากรจากกรุงเทพฯมาน้อยมากครับ อันนี้ต้องยอมรับเลยนะว่าโรงพยาบาลชุมชนถูกทอดทิ้งจริง เมื่อเทียบกับโรงพยาบาลจังหวัด เมื่อเทียบกับส่วนราชการระดับที่อยู่ในกรุงเทพฯ ดังนั้นเราก็ต้องอาศัยทรัพยากรจากพื้นที่ ความร่วมมือจากพื้นที่ทำงานในท่ามกลางความขาดแคลน ดังนั้นการอยู่นานๆจึงมีความหมาย เราถึงจะสามารถระดมความร่วมมือได้ครับ

ช่วยอธิบายความต่างของระบบสาธารณสุขกับระบบการปกครอง ที่เขาจะต้องเวียนกัน มันมีความต่างกันอย่างไร

จริงๆผมก็คิดว่านายอำเภอก็ไม่ควรจะหมุนบ่อยนะ ผมก็อยากได้นายอำเภอที่ไม่คิดจะก้าวหน้าในชีวิต ไม่คิดจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ผมก็อยากได้นายอำเภอที่ไม่ประสงค์ก้าวหน้าแล้ว อยู่อำเภอนานๆ ผมก็เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลอยู่อำเภอ อยู่ปีกสาธารณสุขนานๆ ผมอยากได้ผู้อำนวยการโรงเรียนที่อยู่นาน  ผมคิดว่าระบบงานในอำเภอ ระดับอำเภอ ตำบล การอยู่นานมีความหมาย การเปลี่ยนบ่อยได้แค่ทำตามนโยบาย นโยบายไม่มี consistency เลย ไม่มีความแน่นอนเลยครับ ปีนี้เอาอันนั้น ปีนั้นเอานี้ มั่วไปหมด แต่ว่าพอเราอยู่นานด้วยตัวเราเอง แล้วก็ถ้าทีมอยู่นาน เราจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในอำเภอได้ แล้ว

“แล้วถ้ากลัวว่าเราจะโกง เราจะทุจริต เราจะสร้างอิทธิพล หรือเราจะกลายเป็น dead wood ก็ตาม จริงๆระบบราชการต้องสร้างกลไกมาตรวจสอบแล้วก็มาประเมิน เหมือนเอกชนต้องสร้างกลไกประเมินที่เข้มแข็งและจริงจังและไม่มีการไว้หน้า ไม่มีระบบอุปถัมภ์ ถ้าทำอย่างนั้นได้ถึงจะดี ประเมินเลยครับว่าผมอยู่ 20 ปีไม่มีประโยชน์เลย ไม่ได้สร้างสรรค์อะไรเท่าไหร่ ตอนนี้หมดสภาพแล้ว แม้ว่าเมื่อก่อนเคยทำงานได้ดี ดังนั้นสมควรถูกย้ายเพื่อที่จะให้คนอื่นมาทำหน้าที่ดีกว่า คือถ้าอย่างนั้นก็ดีครับยินดี และผมคิดว่าระบบราชการควรเป็นแบบนี้ ไม่ใช่ย้ายทุกปีทุก 2 ปี 3 ปี อันนั้นมันรับใช้ข้างบนครับ ไม่ได้รับใช้ชาวบ้าน”

ยิ่งในวงการสาธารณสุข วงการแพทย์ เราไปเยี่ยมโต๊ะบาเหม อสม. เรารู้จักกัน แต่พอผมต้องย้ายไปอยู่โรงพยาบาลสะบ้าย้อย ผมต้องเริ่มต้นใหม่ ไม่รู้จักใครเท่าไหร่ กว่าจะรู้จักโดนย้ายอีกแล้ว แล้วความสัมพันธ์ความร่วมมือจะเกิดได้ยังไง จุดที่ชัดที่สุดเลยคือโควิดครับ อ.จะนะมีโควิด 20,000 คน คนไข้จะนอนไหน โรงพยาบาลจะนะมี 60 เตียง เราขยายโรงพยาบาลจนมี 140 เตียงในช่วงโควิด แต่ก็มีแค่ 140 เตียง หนึ่งคนนอน 10 วัน 7 วัน ดังนั้นด้วยความที่ผมอยู่มา 20 ปี ผมก็สนิทสนมกับเจ้าของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งเราสนิทกันมากทำงานด้วยกันเยอะ โรงเรียนคือที่เดียวที่ช่วยผมได้ เพราะโรงเรียนมีห้องน้ำ  โรงเรียนมีห้องเรียน ห้องเรียนก็เหมือนห้องนอนของโรงพยาบาลนั่นเอง โรงเรียนมีรั้วรอบขอบชิด โรงเรียนเป็นที่เดียวที่ช่วยผมได้ เปิดโรงพยาบาลสนาม  ทางโรงเรียนเองก็ยินดีไม่ได้ช่วยเพียงสถานที่นะครับ แต่ยกทีมมาช่วย เอาเด็กโต เอาภารโรงของเขามาช่วยทำโรงพยาบาลสนาม ผมมีโรงพยาบาลสนามร่วม 1,000 เตียง 9 แห่งทั้งอำเภอ เพราะ อ.จะนะไม่มีโรงแรมให้คนไข้นอน ส่งไปนอนที่อื่นไม่มีใครรับ ซึ่งนี่สะท้อนเลยว่าเพราะผมอยู่นานถึงทำได้ ยอมเอาโรงเรียนเขาให้คนไข้โควิดนอน ในยุคที่ใครๆก็กลัวโควิด ไม่ใช่ยุคนี้นะ ยุคนี้คนไม่กลัวโควิด ต้องนึกถึงยุคเดลต้า 2 ปีที่แล้วที่คนยังกลัวโควิดอยู่เลยครับ 

แต่คุณหมอก็มีทั้งคนชอบ และคนไม่ชอบ

ไม่แปลกครับ เป็นธรรมดา พอเราเข้าสู่วงการของนักกิจกรรมมันก็จะมีหลายชุดความคิดทั้งคนที่ชอบไม่ชอบก็ว่ากันไป แต่ผมก็พยายามดำรงตัวตนให้ให้สุภาพ ไม่ตอบโต้แบบไม่สุภาพอะไรอย่างนี้ครับแล้วผมก็คิดว่าสถานภาพของความเป็นหมอ สถานภาพของความเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน แล้วการที่เราอยู่ที่นี่ซึ่งค่อนข้างไกลจากศูนย์กลางอำนาจ คือเป็นจุดที่ดีที่สุดสำหรับเรานะ และไม่มีจุดไหนที่ดีกว่านี้อีกแล้วครับ

ที่ผ่านมามีความพยายามจะย้ายคุณหมอมาหลายรอบ นอกจากตอนคัดค้านโรงแยกก๊าซแล้วมีช่วงไหนอีก

มีรอบใหญ่อีกรอบหนึ่งก็ปี 2560 ครับ แม่ทัพภาคที่ 4 ส่งหนังสือจาก กอ.รมน. ทางภาคใต้ตอนล่างไปที่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอย้ายผม เป็นยุคพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพิ่งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้สักช่วงหนึ่ง เหตุผลก็คงเนื่องจากผมค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาหนักมากตอนนั้นครับ ก็เพราะชาวบ้านค้าน ผมก็แค่อ่านเอกสารแล้วให้ความรู้ทางวิชาการกับเขา อาจจะไปร่วมรณรงค์กับเขาบ้างเป็นครั้งคราว ก็มีหนังสือให้ย้าย แต่ว่าด้วยกระแสสังคมที่ช่วยมากในขณะนั้น ก็สุดท้ายกระทรวงก็ไม่ได้สั่งย้ายก็รอดไปอีก 4-5 ปี

แล้วรอบนี้ทำไมถึงโดนย้ายได้?

นั่นสิ รอบนี้น่าสนใจมากทำไมโดนนะ คือวิเคราะห์กันโดยทั่วไป รอบนี้เป็นการโดนย้ายที่ไม่ใช่ด้วยเหตุด้วยผล ถ้าย้ายด้วยเหตุผลผมไม่น่าจะโดนครับ เพราะว่าสิ่งที่ผมโดนผมปฏิบัติการในนามชมรมแพทย์ชนบท

ชมรมแพทย์ชนบทในช่วง 2 ปีหลังถือว่ามีบทบาทเยอะในการตั้งคำถามกับการบริหารงานในกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องโควิด ซึ่งมีการบริหารจัดการที่เราก็มีข้อสังเกตเยอะ เรื่องวัคซีนที่เราทักเยอะมาก ทั้งการจัดซื้อที่อาจจะไม่สมดุลมากเกินไปของซิโนแวค ราคา การบริหารจัดการ ขณะที่แพทย์ชนบทบุกกรุงก็สร้างความไม่พอใจให้กับคนจำนวนหนึ่ง หรือว่าถ้ามาถึงเรื่องกัญชา เรื่องธรรมาภิบาล เรื่องการโยกย้าย เรื่องงบฯส่งเสริมป้องกันในปี 2566 ก็คือเราทักทุกเรื่อง แต่ว่า ในอดีตเราก็ทักนะครับ ไม่ใช่ไม่ทัก แต่ในอดีตที่เราทักจะเป็นการสู้กันด้วยข้อมูล ถ้าข้อมูลฝ่ายกระทรวงดีเราก็ถอย ข้อมูลเราดีกว่ากระทรวงก็เอาไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไข แต่ใน 2-3 ปีหลัง เราทักฝ่ายผู้บริหารเขาก็ยืนยันไม่เปลี่ยน เป็นเรื่องของอัตตาและอารมณ์ เขาใช้อารมณ์เป็นใหญ่ไม่ได้ใช้เหตุผลเป็นใหญ่ สุดท้ายสู้ไปสู้มาเลยมีคำสั่ง มีธงมาว่าต้องย้ายผมให้ได้ในฐานะเป็น symbol (สัญลักษณ์) ของชมรมแพทย์ชนบท

แสดงว่าอารมณ์กับอำนาจน่ากลัว?

ใช่ ประมาณนั้น ช่วงขาหุ้นปฏิรูปพลังงานก็เป็นอีกช่วงที่มีการเดินและผมก็โดนจับ 11 คนเข้าค่ายทหาร แต่ช่วงนั้นอาจจะเป็นเพราะว่า คสช. ก็ยังไม่พร้อมที่จะทำอะไรรุนแรง เนื่องจากเขาเพิ่งเข้าสู่อำนาจได้ 3 เดือน ก็มีการปล่อยตัวออกมาอย่างไม่มีเงื่อนไข แต่ว่าตอนโดนจับเราก็ไม่รู้อนาคต แต่รู้ว่าเอาล่ะเพื่อนๆเราเดิน เราก็ต้องเดินด้วย แล้วถ้าจะปล่อยให้เพื่อนเราโดนจับ แล้วเราหนีกลับบ้านได้ไง ผมว่าครั้งนั้นสิ่งที่เราได้เลยคือได้มิตรภาพ การร่วมทุกข์ร่วมสุขร่วมเป็นร่วมตายกันของเพื่อนฝูงกลุ่มสำคัญซึ่งยังส่งผลถึงทุกวันนี้

การถูกย้ายครั้งนี้นับว่าเป็นความพ่ายแพ้ไหม

ไม่คิดว่าแพ้ อันนี้แน่นอนนะ แต่ว่าเราโดนย้ายนะ โดนย้ายจริงด้วย แต่ว่าก่อนจะโดนย้ายจริงเราก็พอจะรู้ระแคะระคายมาร่วมเดือนแล้วนะว่าโดนแน่ จะโดนวันไหน เมื่อไหร่แค่นั้นเองครับ การถูกย้ายไม่ใช่จุดสิ้นสุดของสงครามครับ การถูกย้ายเป็นเพียงฉากหนึ่ง ดังนั้นยังไม่จบยังไม่รู้อนาคตอันนี้มั่นใจ 

ทำไมถึงไม่คิดว่าตัวเองแพ้?

ในเส้นทางการต่อสู้ ผมก็อยู่ในเส้นทางการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ทั้งอาจจะปีกพี่น้องจะนะหรือปีกแพทย์ชนบทก็ตาม มันก็มีขึ้นมีลงเป็นธรรมดา ยังไม่เรียกว่าแพ้ ยังอยู่ระหว่างการโรมรันกันก็ยังไม่รู้ผล แล้วอีกอย่างการย้ายผมก็เป็นไปตามวิถีที่เขากลั่นแกล้งได้ทางราชการครับ 

โอเคแหละย้ายหรือโดนสอบวินัย ผมก็โดนสอบวินัยประมาณ 7-8 เรื่องในปีเดียว ก็เป็นวิถีราชการ ผมก็สู้ในวิถีราชการ ผมก็อุทธรณ์ให้ข้อมูลโต้แย้งไป ย้ายก็เช่นเดียวกัน เราก็ยังสู้ต่อ เพราะว่าบนเส้นทางการถูกย้าย ผมก็ยังอุทธรณ์ได้ ร้องศาลปกครองได้ เพื่อขอความเป็นธรรม ฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตตามมาตรา 157 ได้กับผู้บริหารที่สั่งย้ายโดยมิชอบ หรือแม้แต่ ยื่น ป.ป.ช. เพื่อขอให้มีการสอบสวนการทุจริตบางอย่างได้ อันนี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของภาค 2 นะ ก็ไม่คิดว่าเป็นการพ่ายแพ้ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของภาค 2 ที่จะเอาจริงเอาจัง

ทำไมดูเหมือนว่ารอบนี้มีแนวร่วมในการต่อสู้น้อยเกินไป

อันนี้ก็น่าสนใจมาก เราก็วิเคราะห์กันครับ ส่วนหนึ่งการถูกย้ายเป็นเรื่องของตัวบุคคล ไม่ใช่เรื่องระบบ พอเป็นเรื่องตัวบุคคลก็ทำให้ผู้คนออกมาน้อยลงอันนี้ก็เข้าใจได้ และอีกอย่างโดยส่วนตัวผมเองผมก็ไม่ได้ปลุกระดมอะไรใครเลยนะ ผมก็รู้สึกว่าเราก็สู้ไปตามวิถี 

ในเส้นทางการต่อสู้เราชกเขา เขาก็ชกเราบ้างก็เป็นธรรมดาครับ รอบนี้เราโดนย้าย ก็ไม่เป็นไรเรายังยืนหยัดต่อสู้ต่อไปไม่ได้ท้อถอย ไม่ได้ยุติบทบาทอะไร ผมก็ไม่ได้ไปปลุกระดมช่วยกลุ่มโน้นกลุ่มนี้ขึ้นมา แต่ต้องบอกว่าปัจจุบันอำนาจนิยมมีแรงกดทับค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระทรวงสาธารณสุข 4 ปีหลังนี้กระทรวงสาธารณสุขเปลี่ยนไปจริงครับ ยกตัวอย่างน้องๆ ที่ผ่านมาน้องคนไหนแหลมขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนหรือแพทย์ก็ตาม หรือไม่แพทย์ก็ตาม แหลมขึ้นมาทักท้วงให้ความเห็น ผู้ใหญ่ก็จะเรียกไปคุยเตือน สั่งให้ลบโพสต์บ้าง สั่งให้หยุดบ้าง แต่ก็จะมีเด็กดื้ออยู่ไม่เยอะที่กล้าจะลุกขึ้นมาแม้ว่าโดนเตือนแล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันครอบงำกระทรวงสาธารณสุขมากเลย อดีตไม่มีนะ อดีตมีน้อยกว่านี้มาก เพราะว่าระดับบน 4 ปีนี่มันเพียงพอกับการแต่งตั้งโยกย้ายจนข้างบนแทบจะเป็นทีมเดียวกันไปแล้ว

แต่หมอก็สู้จนโดนเชือดมาแล้ว หมอสู้กับอะไร

สู้กับอะไรนะ? สู้กับเผด็จการอำนาจนิยมนี่แหละ คือเผด็จการอำนาจนิยมมันมีหลายหลายรูปแบบ มีแบบที่มาเป็นใส่ยูนิฟอร์มสีเขียว รัฐประหาร หรือแม้แต่ในกระทรวงผมใส่เสื้อกาวน์สีขาวเหมือนกัน แต่ก็เป็นเผด็จการอำนาจนิยม เห็นต่างไม่ได้ พูดเถียงไม่ได้ เยินยออย่างเดียว ใช่ครับท่าน ใช่ครับนาย เห็นด้วยครับอย่างเดียว แล้วมันเป็นอย่างนี้จริงๆ ในปัจจุบันในระดับข้างบนนะ แต่ข้างล่างยังไม่เป็นนะ 

อะไรที่ทำให้ข้างบนมันแข็งแรงขนาดนั้น

ระบบอุปถัมภ์ที่ถูกสถาปนามา 8 ปีในยุค คสช.นี่แหละ เพราะ คสช. เองเขาก็ต้องการสร้างราชการให้เข้มแข็ง แต่เมื่อการเมืองเข้ามาผนวกกับรัฐราชการ สมประโยชน์กัน ทั้งปีกการเมืองแล้วก็ปีกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการระดับบริหาร เมื่อสมประโยชน์กันก็จะเข้มแข็งมาก 

ในอดีตการเมืองถึงจะแข็งแต่ถ้าข้าราชการไม่ฟัง เขาก็ทำอะไรไม่ได้ ข้าราชการแข็ง แต่เมื่อไหร่มารวมกันจะเข้มแข็งมาก แล้วมันก็เป็นเผด็จการอำนาจนิยมของรัฐราชการซึ่งน่ากลัวแน่นอน เราก็มีหน้าที่ทำให้มันอ่อนแอลง ซึ่งค่อยเป็นค่อยไป เพราะว่าอำนาจประชาชนเป็นอีกอำนาจหนึ่ง เราก็เป็นประชาชนครับ อำนาจของภาคประชาสังคมก็ต้องค่อยๆไปแงะ 2 อันนี้ออกจากัน 

กรณีการย้ายของคุณหมอ มีคนทั้งที่คัดค้าน คนที่เฉยๆ และคนที่ก็เห็นสมควร วิเคราะห์คน 3 กลุ่มนี้กับอย่างไร

คนที่ใกล้ชิดผมที่ได้ทำงานด้วยกัน ที่ได้ผลักดันสิ่งต่างๆด้วยกันส่วนใหญ่ก็คัดค้าน อันนี้ก็ไม่แปลกนะ ก็เหมือนกันเรารู้สึกเพื่อนเราไม่ได้รับความเป็นธรรมเราก็คัดค้าน คนที่อยู่ไกลๆก็น่าจะเฉยๆไม่รู้อะไร ส่วนคนที่สนับสนุน ย้ายเถอะๆควรย้ายถูกต้อง อันนั้นถ้าผมรู้สึกก็เป็นกลุ่มนักเลงคีย์บอร์ดอยู่ในสื่อโซเชียลเป็นหลักครับ

ถ้าให้คุณหมอมองตัวเอง การย้ายครั้งนี้เคยคิดไหมว่า เราทำอะไรผิดพลาดไปหรือเปล่า มันถึงมาจบแบบนี้

ไม่รู้สึกผิดเลยนะ ไม่รู้สึกว่ามีสิ่งผิดพลาด เพราะว่าสิ่งที่ทำผมมั่นใจว่าเราทำในสิ่งที่ถูกที่ควร เราไม่ได้ใช้วิชามารด้วยการให้ข้อมูลเท็จกับสังคม ไม่ได้ทำผิดวินัย ทุจริต ก็มีอันเดียวแหละที่ผิดคือไม่ทำตามนโยบาย กับไม่เคารพผู้บังคับบัญชาเท่าไหร่ซึ่งก็เป็นเหตุสำคัญ ที่สำคัญคือเตือนแล้วไม่หยุดครับ คือมีการเตือนครับ ไม่ใช่ไม่มีการเตือนนะ ถูกผู้ใหญ่เตือนเรียกไปคุยเบาๆหน่อย ให้หยุด ให้ลบโพสต์ ให้ยุติเรื่องนี้อย่าคัดค้านเยอะ นโยบายกระทรวงนะส่วนใหญ่ แม้แต่เรื่องนิคมอุตสาหกรรมด้วยแหละ

ในอนาคตมีความเป็นไปได้ไหมที่คุณหมอจะโดดเข้ามาลงการเมืองเต็มตัว

ในช่วงนี้ยังแน่นอน อนาคตไกลๆผมไม่รู้นะ เพราะผมรู้สึกชัดเจนว่าช่วงนี้นะ คือการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนมันมีความเข้มแข็งในจะนะสูง แล้วผมก็ยังต้องอยู่กับพี่น้อง เพราะว่าภารกิจในการปกป้องจะนะจากอุตสาหกรรมก็ยังไม่เสร็จสิ้นยังเป็นเรื่องใหญ่ คือผมก็คนตัวเล็กๆผมก็ทำอะไรได้ไม่มากหรอก ฐานความคิดและฐานงานผมก็อยู่แถวนี้แหละ จะนะ เทพา ชายแดนภาคใต้ตอนล่าง เพราะผมมีอุดมคติที่อยากจะเห็นสีเขียว สิ่งแวดล้อมที่ดี การปกป้องฐานทรัพยากร ชุมชนชาวบ้านอยู่แบบมีความสุข ไม่ใช่ไปอยู่กับวิถีโรงงาน หรือพัฒนาไปแบบที่เอาทรัพยากรชุมชนไปหมด ดังนั้นถามว่าช่วงนี้ผมเล่นการเมืองไหม ไม่แน่นอน อนาคตไกลๆไม่รู้ อาจจะไม่ แต่ถ้าก็มีคนเชียร์ผมช่วงนี้มากว่า โดนย้ายแล้วก็เปลี่ยนชีวิตเถอะ ไปเปลี่ยนโลกกันเลยดีกว่าไหม แต่ตอนนี้ยังครับ 

แสดงว่าในอนาคตยังเปิดช่อง

ใช่ อาจจะเรียกว่าการเมืองใหญ่มีหลายความหมาย อาจจะไม่จำเป็นต้องไปเป็น ส.ส. ก็ได้นะ แต่ว่าเราอาจจะไปสร้างพรรคที่มีอุดมคติบางอย่าง ที่ตอบสนองเราเป็นต้น แต่นั่นเป็นอนาคตอันไกลมากเลยที่ยังบอกไม่ได้ แต่ ผมก็คิดว่าการรับราชการยังมีความหมายสำหรับผมนะ เพราะผมภูมิใจที่เป็นข้าราชการ และผมรู้สึกข้าราชการนี่แหละต้องกล้าที่จะยืน เพราะว่าราชการคือกลไกสำคัญในการดูแลชาวบ้าน

ถ้ากลไกข้าราชการไม่ฟังก์ชั่น คุณหมอมองทางเลือกอื่นไว้ไหม ที่จะทำให้ตัวตนของหมอยังอยู่ แล้วก็ทำให้หลายๆอย่างมันดีขึ้น

ถูกต้องครับ เพราะว่ามันก็ชัดเจนนะรอบนี้ว่า กลไกราชการไม่ฟังก์ชัน แล้วก็การรังแกข้าราชการประจำด้วยกลไกอำนาจรุนแรงและชัดเจนมาก อย่างกรณีที่ผมได้รับก็ชัดเจนมาก โดนสอบวินัยไป 8 วินัยในปีเดียวด้วยซ้ำ ตอบกันแทบไม่ทันเลย เขียนตอบว่าผมไม่ได้ผิดเพราะ 1,2,3,4 ก็ไล่ตอบเขาไป เขาก็ถามกลับมาตอบไปตอบกันมา โดนสั่งย้ายใช่ไหม โดนเรียกไปคุยบ้างอะไรบ้าง ดังนั้นผมก็รู้สึกเหมือนกันแหละ 

อย่างที่คำถามก็คือ แล้วมันจะมีหนทางอื่นไหมในการต่อสู้ หนทางข้างหน้า การต่อสู้ทางการเมืองก็เป็นช่องทางหนึ่งในอนาคตที่เป็นไปได้ แต่ผมจะเลือกไหม ใจจริงผมอยากจะไปสู่เส้นทางนั้นไหม ผมรู้สึกว่าผมไม่พร้อม แล้วไม่อยาก ผมรู้สึกว่าเส้นทางการต่อสู้ภาคประชาชนมันมีความหมายกว่า แล้วมันเป็นเส้นทางที่เป็นตัวตนของผมกว่า เพราะว่าผมสามารถที่จะทำในสิ่งที่ผมอยากทำ ผมสามารถปฏิเสธในสิ่งที่ผมไม่อยากทำ แต่ถ้าไปสู่เส้นทางการเมือง ก็ต้องมีกฎกติกาพรรคสารพัด เหตุผลของพรรค  ผมก็ต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งมันก็อาจจะไม่ใช่ตัวตนของเราครับ ถ้าดำรงตัวตนแบบนี้ไว้ได้หลังจากผมย้ายไปอยู่สะบ้าย้อย ผมยังสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ไม่แตกต่างจากเดิม สะบ้าย้อยยังเป็นสถานที่ทำงานที่ให้เสรีภาพ แล้วก็ทำให้ผมดำรงอุดมคติของผมได้จนผมเกษียณ ผมก็โอเค ผมก็ยังกลับมาจะนะได้ มันก็ไม่ไกลกัน ยังสามารถนั่งเครื่องบินไปทำกิจกรรมอื่นๆในพื้นที่อื่นได้ ผมคิดว่าเรายังสามารถดำรงตัวตนของเราได้ภายใต้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนครับ

บางทีก็คิดว่าการที่ถูกย้ายก็ประดุจว่าผมได้ถูกปล่อยออกจากกรงทอง โรงพยาบาลจะนะ มันให้เสรีภาพผมด้วย เพราะผมสามารถทำกิจกรรมที่ผมอยากทำได้เกือบทุกอย่าง แต่มันก็กักขังผมไว้ด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นผมก็ได้โบยบินสู่เสรีภาพ 

ซึ่งบางอย่างที่ไม่เคยคิดอาจจะคิด อาจจะทำ?

ผมก็จะยึดติดกรอบน้อยลงครับ อาจจะคิดอาจจะทำสิ่งใหม่ได้ แต่ถามว่าวิถีของผมที่สะบ้าย้อยกับที่จะนะต่างกันไหม ก็น่าจะไม่ต่างกัน ก็ทำงานโรงพยาบาล มีเวลาก็ทำกิจกรรมทางสังคมทั้งที่สะบ้าย้อยและที่จะนะหรือเทพา ซึ่งก็เป็นพื้นที่ที่ผมคุ้นเคย 

ถ้าคุณหมอย้ายไปสะบ้าย้อยแล้ว คุณหมอยังจะวิพากวิจารณ์เหมือนเดิมไหมจะหยุดไหม หรือไปต่อ?

ครับ จริงๆเป็นคำถามที่ตอบง่ายที่สุดเลย ก็เหมือนเดิมอยู่แล้วล่ะ เพราะว่ามันเป็นตัวตนของเรา

แต่ถ้าคุณหมอไปต่อคุณหมอรู้ใช่ไหมครับว่าจะเดินไปเจออะไร ฝั่งกระทรวงก็ตั้งท่าเล่นงานเช่นกัน

ก็ไม่เป็นไร เพราะว่าเดี๋ยวเขาก็เข้าสู่โหมดเลือกตั้ง หลังเลือกตั้งเป็นยังไงก็ไม่รู้ก็ว่ากันไป แล้วก็อีกอย่างนึง เราก็เดินในวิถีของเรา ผมก็มั่นใจว่าวิถีที่ผมเดินอยู่นี้มีคนพร้อมที่จะช่วย คนพร้อมที่จะออกมาลุยด้วยกัน แม้ว่าจะชนะหรือแพ้ได้แค่ไหนก็ว่ากันไปครับ 

ในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท คุณหมอมองว่าชมรมแพทย์ชนบทยุคนี้ดูอ่อนแอมากกว่าทุกยุคที่ผ่านมาหรือไม่

ความน่าสนใจอยู่ที่ว่าสังคมมันกำลังเปลี่ยนนะคือ generation ของแพทย์กำลังเปลี่ยนครับ เดิมเราอยู่ในยุคที่ไม่มีโซเชียลมีเดียดังนั้นชมรมแพทย์ชนบทในยุคก่อนหน้าโซเชียลมีเดีย วิถีก็คือนัดประชุมแล้วพร้อมเพรียงครับ มาประชุมพร้อมกันปีนึงประชุมใหญ่ครั้งนึงมากัน 200-300 คน เพราะไม่มีโซเชียลมีเดียสื่อสารที่ดีที่สุดคือจดหมายข่าวโรเนียวเอา นานๆจะได้อ่านอย่างมีความสุข ได้อ่าน 5 หน้ามีความสุขแล้วเพราะมันมีแค่นั้นจริงๆ อันนั้นคือความเข้มแข็งในในโลกของยุค analog ครับ ต่อมาตอนนี้มันเข้าสู่โหมดยุคดิจิทัลจริงๆครับ ดังนั้นชมรมแพทย์ก็เปลี่ยนไป เราไม่มีแล้วการประชุมสม่ำเสมอแบบเจอหน้ากันแบบนั้นมีน้อยเจอโควิดด้วย ก็ยิ่งไม่ได้ประชุม แต่เราประชุม Zoom กันบ่อยมาก อยาก Zoom ก็ส่งลิงก์ Zoom ใครอยากเข้าก็เข้า ไม่เข้าไม่ว่างก็ไม่เป็นไร ดังนั้นวิถีเปลี่ยนไปแล้วก็สื่อสารผ่านโซเชียล  ผ่านเพจชมรมครับ 

เพจชมรมก็ช่วยกัน ไม่ได้มีแต่ผมโพสต์อยู่คนเดียว ช่วยกันแอดมินมีหลายคน ซึ่งมันเป็นการต่อสู้หรือเป็นความเข้มแข็งแบบใหม่ ซึ่งเราจะเอาแว่นไหนมาวัดนะ ถ้าถามถึงแนวทางการสู้ แนวทางความเข้มแข็งของชมรมในช่วงนี้ ผมก็คิดว่ามันก็ไม่ได้อ่อนแอในเชิงการเปลี่ยนแปลงของ generation หรือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีนะ แต่แน่นอนว่าถ้าเรามองภายใต้แว่นเก่ามันก็ไม่มี อ่อนแอลง 

แต่ตอนนี้คนนอกไม่เห็นว่าคุณหมอมีการคุย Zoom บ่อยแค่ไหนแล้วมันเป็นความลับด้วยใช่ไหม

ใช่ๆ คือยุคนี้เราปกปิดความลับหลายอย่าง เราปกปิดบุคคลดีกว่านะ ไม่ใช่ความลับหรอก เพราะว่ายุคนี้เป็นยุคที่มีการกระทำค่อนข้างรุนแรง ใช้อำนาจรุนแรงต่อคนที่เห็นต่างจริงๆ ผมก็ไม่อยากให้น้องๆโดนสอบวินัย ผมก็ไม่อยากให้เพื่อนๆโดนตั้ง โดนย้าย โดนเล่นงานครับ ดังนั้นถ้าไม่ปรากฏตัวได้ก็ไม่ต้องปรากฏตัว 

แต่คุณหมอเจ็บอยู่คนเดียวนะ

ไม่ครับ มีหลายคนช่วยกันอยู่ข้างหลังครับ เพจชมรมที่ข้อมูลต่างๆมันไม่ได้ออกมาจากผมคนเดียว ผมอยู่จะนะ ผมอยู่ไกล ผมยุ่งเรื่องอุตสาหกรรมจะนะก็หมดเวลาแล้ว แล้วข้อมูลเหล่านั้นมาจากไหน ข้อมูลวัคซีนโควิดเยอะแยะมาจากไหน ข้อมูลธรรมาภิบาล กัญชาสารพัด ATK ความไม่ลงตัวในกระทรวงมาจากไหน ไม่ได้มาจากผมคนเดียวหรอกครับ มันมาจากทั่วสารทิศที่ช่วยกัน แต่ก็สื่อออกมาในนามชมรม แล้วก็ยังมีกลุ่มไลน์ที่สื่อสารกันผ่านไลน์อีก แต่ว่าสังคมไม่รับรู้ 

ดูเหมือนว่าคุณค่าของคุณหมอจะอยู่ที่การเปิดเผยข้อมูล การทักท้วง การเห็นชาวบ้านได้มีสุขภาพดี การได้เรียนรู้ได้มิตรภาพและสุขภาพของคุณหมอ แล้วเวลาที่เหนื่อยที่ท้อ หมอยึดอะไรที่ทำให้มีแรงไปต่อ

ก็ลุยกับมัน เพราะว่าพอผมลุยกับมัน ผู้คนก็จะเข้ามาทั้งช่วยและให้กำลังใจ อย่างกรณีชาวบ้านบุกกรุงเทพฯผมแทบไม่ได้ทำอะไรเลย ผมแทบจะนั่งทำงานเหมือนเดิมอยู่ที่จะนะ แต่ชาวบ้านและเพื่อนๆเราไปบุกกรุงซะแล้ว แล้วก็บุกกันอย่างจริงจังด้วย หน้ากระทรวงเข้าไม่ได้ วันนี้ไปรัฐสภา รัฐสภายื่นหนังสืออาจจะไปทำเนียบรัฐบาลอีกแล้ว ผมเห็นนี่ไงคือพลัง ดังนั้นผมก็ฟื้นฟูพลังของผมจากความเหนื่อยยากด้วยการเข้าร่วมกับเพื่อนฝูง เคยพักบ้าง พูดคุยสนุกสนานกันบ้างว่ากันไป แต่มิตรภาพมีความหมายมากนะ มิตรภาพในหมู่แพทย์ชนบทมีความหมายมากครับ เราคุย Zoom กัน เราวางแผนกัน เรามีเสียงหัวเราะให้กันผ่าน Zoom ไม่ต้องผ่านวงประชุมที่นัดหมายยากลำบาก เป็นต้น แล้วผมก็มีครอบครัวที่เข้าใจผม อันนี้ก็เป็นอีกอันนึงที่มีความสำคัญ 

การถูกย้ายครั้งนี้ แพทย์ชนบทที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ จะได้รับผลกระทบหรือไม่

ครับ มันก็เป็นการเชือดไก่ตัวใหญ่ให้ลิงดู ซึ่งถ้ากระบวนการหลังจากถูกย้ายนิ่งเงียบไป แล้วก็ไม่มีปฏิกิริยาที่ต่อสู้ที่ชัดเจนพอ ก็น่าจะสร้างความเสียหายให้กับคนในกระทรวงมาก คือคนก็จะหวาดกลัวอำนาจมาก แล้วก็จะขอเป็นข้าราชการที่อยู่นิ่งๆยอมจำนน อันนี้เราก็คุยกันครับ เราถึงสู้ทุกทาง เพราะถือเป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง ตัวผมเองเป็นสัญลักษณ์นะที่ถูกย้าย

ถ้าย้ายหมอสุภัทรได้ ภาพอนาคตจะเป็นอย่างไร?

คือคนก็จะกล้าลุกขึ้นมาน้อยลงมาก เพราะว่าลุกขึ้นมาสงสัยจะโดนย้ายหรือเปล่า จะโดนเล่นวินัยหรือเปล่า แล้วจะไหวไหม คือจุดเด่นของแพทย์อันนึงคือแพทย์ส่วนใหญ่ติดพื้นที่นะครับ มีแต่แพทย์ผู้บริหารเท่านั้นที่ยอมย้ายไปย้ายมา แต่แพทย์ส่วนใหญ่เกือบ 80-90% ทั้งประเทศติดพื้นที่ เพราะแพทย์ก็อยู่กับชุมชนทำงาน บางคนก็เปิดคลินิก อยู่ดูแลครอบครัว ก็ไม่มีใครอยากถูกย้าย ดังนั้นอาจจะเน้นรักษาเนื้อรักษาตัวให้มากขึ้นวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆให้น้อยลง ก็เป็นเหมือนข้าราชการกระทรวงอื่น

แล้วประชาชนจะเสียโอกาส เสียประโยชน์อะไรไป?

เสีย เพราะว่าสุดยอดของของการแฉการเปิดข้อมูล คือการเปิดข้อมูลจากคนใน และสิ่งที่เป็นพลังของแพทย์ชนบทมาตลอด คือเป็นผู้เปิดข้อมูลในฐานะเป็นคนใน เพราะคนในจะมีข้อมูลชัดเจนข้อมูลเยอะครับ ไม่มีใครจะมีข้อมูลวัคซีนถ้าเราไม่เปิด เพราะว่าผู้มีอำนาจไม่เปิดอยู่แล้ว คนอื่นไม่มี ยากมากที่จะขุดคุ้ยแม้แต่ฝ่ายค้านจะขุดหาข้อมูลหาหายาก มีคนในเท่านั้นที่เปิดข้อมูลได้ แล้วเราเป็นคนในของกระทรวงสาธารณสุขของวงการสาธารณสุข ถ้าเราไม่เปิดสังคมก็จะไม่ได้รับรู้ความจริง สังคมไม่รับรู้ความจริง การคอร์รัปชันก็จะง่าย การบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพก็จะง่าย ระบบอุปถัมป์ก็จะเยอะ นโยบายที่สิ้นเปลืองไม่มีประโยชน์ก็ไม่มีใครทักท้วงครับ 

เหนื่อยไหมครับ?

มันก็เหนื่อย แต่มันก็สนุกนะ มันไม่ได้เหนื่อยแบบเป็นความทุกข์นะ เหนื่อยไหม เหนื่อยยุ่งไหมยุ่ง แต่มันก็มีความสนุก มันก็มีกำลังใจและมีพลัง มีมิตรภาพที่เข้ามาครับ

มาจนถึงวันนี้ หมอทบทวนตัวเองอย่างไร  เพื่อให้ภาค 2 มันจะเริ่มไปต่อ?

ผมคิดว่า มันยังไม่ถึงภาค 2 ที่แท้จริงนะ เพราะผมก็ยังยืนยันเดินในเส้นทางในการเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนต่อไป อันนี้คือชีวิตที่ผมเลือก ผมเลือกไปทำหน้าที่ที่สะบ้าย้อย แม้เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ แต่ว่าผมเลือกที่จะไป เพราะผมเลือกที่จะเป็นข้าราชการต่อ แล้วผมจะสู้ในระบบแบบนี้ต่อ ผมยังไม่ได้เข้าการเมืองแน่ๆในช่วงยาวๆนี้

ข้าราชการในนิยามของคุณหมอคืออะไร

ก็เป็น ข้าราชการที่ไม่สยบยอมกับอำนาจประมาณนี้แหละ แต่ผมเป็นข้าราชการ ผมไม่ใช่ NGO ผมเป็นข้าราชการ ยืนยันผมทำหน้าที่ในฐานะข้าราชการ

“นิยามข้าราชการผมไม่ใช่ผู้ทำตามนโยบายและผู้ทำตามนายสั่ง ผมทำในสิ่งที่ข้าราชการควรทำ ถ้าสั่งมาสิ่งที่ดีที่ถูกต้อง ผมทำเต็มที่ ผมสู้ตาย สั่งมาในสิ่งที่ไม่ควรทำผมไม่ทำ และไม่สั่งให้ลูกน้องทำด้วย”

ติดป้ายนโยบายผู้สูงอายุ ไม่ต้องติด ติดทำไม เปลืองค่าไวนิลก็ไม่มีประโยชน์ครับ ค่าไวนิลเอาไปซื้อหนังสือแจก หนังสือการ์ตูนนิทานไปแจกเด็ก ให้เด็กฝึกอ่านหนังสือดีกว่า เป็นต้น 

ถ้าในอนาคตได้คิดเผื่อไหมว่าถ้าตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนต้องย้ายทุก 4 ปี จะเกิดผลกระทบอะไรต่อระบบสาธารณสุข?

ถ้าพูดในการลงโรงพยาบาลชุมชนต้องย้ายทุก 4 ปี โรงพยาบาลชุมชนก็จะกลายเป็นเหมือนโรงพยาบาลจังหวัด คือ 4 ปีเพียงพอนะครับสำหรับเรา ในการทำโรงพยาบาลให้ดีไม่ยาก สร้างสรรค์โรงพยาบาลให้ดี มีเครื่องมือ มีแพทย์เฉพาะทาง มีตึก มีอาคารไม่ยาก แต่มันไม่ได้สำหรับการทำงานในชุมชน มิตรภาพความสัมพันธ์ การเอื้อกันในการสร้างสรรค์สิ่งอื่นที่นอกเขตโรงพยาบาล นอกกรอบสาธารณสุขมันทำไม่ได้เลย ดังนั้นเราก็จะเปลี่ยนไป โรงพยาบาลชุมชนก็จะแยกขาดจากพื้นที่ อาจจะมีความสัมพันธ์ก็เล็กๆน้อยๆ มันไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง ไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่เกื้อกูล และไม่ได้เป็นการร่วมทุกข์ร่วมสุขครับ

“ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนที่อยู่นานๆ ทุกคนร่วมทุกข์ร่วมสุขกับชุมชนเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน อุ้มผางหรือว่าฝั่งจังหวัดตาก ท่าสองยางปัญหาก็คือคนไร้รัฐ ผู้อำนวยการก็เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาคนไร้รัฐ เขาไม่ได้ทำโรงพยาบาลให้ดีอย่างเดียว ฉันใดก็ฉันนั้น ผมก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในการสู้เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ว่าถ้าอยู่ทุก 4 ปีทำไม่ได้ ได้แค่ทำโรงพยาบาลให้ดี”

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS