จับตาประชุม คกก. อิสระ แก้ปัญหาบางกลอย 21 ก.พ. นี้

“กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น”ย้ำ ข้อเรียกร้องยุติคดี ขอมีแนวทางรับรองกลับบางกลอยบนทำไร่หมุนเวียน  ด้าน “ภาคี Save บางกลอย” มองปล่อยยืดเยื้อไม่เป็นผลดีกับใคร อาจขัดแย้งระลอกใหม่

ในวันพรุ่งนี้ (21 ก.พ. 2566) คณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย หมู่ที่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีนัดหมายประชุม ที่ อาคารสำนักงาน ก.พ. (เดิม) ทำเนียบรัฐบาล หลังมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระฯ ดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ. 2565 โดยชาวบ้านบางกลอยและนักกิจกรรมด้านชาติพันธุ์มองว่าที่ผ่านมากระบวนการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการอิสระฯ ยังล่าช้าเกินไป  ในขณะที่สถานการณ์ในชุมชนยังน่าเป็นห่วง

พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ในนามกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น ให้สัมภาษณ์ระบุว่า สถานการณ์ในการชุมชนขณะนี้ยังไม่สู้ดีนัก โดยพบว่ามีชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ คุกคามด้วยการยิงปืนข่มขู่ ขณะที่ปัญหาด้านรายได้จากศูนย์ฝึกศิลปาชีพในชุมชนที่จ่ายค่าแรงไม่ตรงเวลา รวมถึงสถานการณ์การขาดแคลนอาหารในชุมชน

“มีชาวบ้านเข้าไปในป่าเพื่อเก็บหมาก แต่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ยิงปืนขู่ จนชาวบ้านต้องหลบหนีไป ชาวบ้านก็กังวลกันว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก เพราะเราก็ได้ยินมาว่าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีชาวบ้านถูกยิงตาย ส่วนเรื่องค่าแรงจากศูนย์ฝึกศิลปาชีพ ตอนนี้ชาวบ้านได้เงินตอบแทนช้า 2-3 เดือนแล้ว หรือบางทีได้ค่าแรงก็ได้ไม่ครบตามจำนวน ซึ่งทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนไปถึงเรื่องข้าวปลาอาหาร ที่ตอนนี้เราก็ยังขาดแคลนข้าวและพริกที่ปลูกไม่ได้เลยในที่ดินบ้านบางกลอยล่าง”

พงษ์ศักดิ์ กล่าว
พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี

พงษ์ศักดิ์ ยังกล่าวว่าแม้เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2565 จะมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระฯ ลงนามโดยนายกรัฐมนตรี และได้มีการประชุมกันมาแล้ว 2 ครั้ง รวมถึงมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นเลขานุการของคณะกรรมการอิสระฯ ชุดดังกล่าว แต่ก็พบว่าการดำเนินการแก้ไขปัญหายังไม่ทันต่อสถานการณ์ความเดือดร้อนในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาคดีความของชาวบ้านบางกลอย 30 คน ที่ถูกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุมเมื่อต้นปี 2564 และการหาแนวทางให้ชาวบ้านสามารถกลับขึ้นไปทำกินในรูปแบบไร่หมุนเวียนที่บ้านบางกลอยบน ซึ่งเป็นถิ่นฐานดั้งเดิม

“เรายื่นข้อเรียกร้องไปถึง นายอนุชา นาคาศัย แต่ก็ยังไม่ได้รับการชี้แจงเกี่ยวกับความคืบหน้าในการแก้ปัญหาถ้าคณะกรรมการอิสระฯ ยังไม่หาแนวทางให้เรากลับไปทำไร่หมุนเวียนได้ เราก็จะไม่มีข้าวกิน เราอาจจะสูญเสียอัตลักษณ์ วิถี วัฒนธรรม จารีต ประเพณี และความเชื่อที่มีต่อธรรมชาติของชาวกะเหรี่ยง การไม่ได้ทำไร่หมุนเวียนนั้น จะทำให้เราไม่หลงเหลือวัฒนธรรมของชนเผ่าเราแล้ว” 

พงษ์ศักดิ์ กล่าว

พงษ์ศักดิ์ยังย้ำว่า ในการประชุมคณะกรรมการอิสระฯ ครั้งนี้ ขอให้มีความชัดเจนในกระบวนการแก้ไขปัญหาขั้นต่อไปมากขึ้น พร้อมกับยังยืนยันข้อเรียกร้องเดิม คือการขอกลับไปทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม การยุติการดำเนินคดีกับชาวบ้าน รวมถึงให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับชาวบ้านสำรวจที่ดินทำกินในพื้นที่บ้านบางกลอยบน เพื่อจัดทำขอบเขตการจัดการทรัพยากรของชาวบ้านให้ชัดเจนและเป็นข้อตกลงร่วมกัน

“สมัยปู่ย่าตายาย ณ บริเวณพื้นที่บางกลอยบนและใจแผ่นดิน ล้วนเป็นที่อยู่อาศัยของปู่ย่าตายายของเรา ความจริงแล้วพวกเราควรที่จะมีสิทธิ์อยู่ได้ แต่ตอนนี้เรากลับไม่มีสิทธิ์ที่จะอยู่ได้ ตอนนี้เราประสบปัญหาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย อาหารการกิน ดังนั้นขอแค่ได้กลับไปทำไร่หมุนเวียน ในพื้นที่บริเวณบางกลอยบนเพราะเชื่อว่าการทำไร่หมุนเวียนของเราจะช่วยให้เราอยู่ได้เหมือนก่อนเราจะอพยพลงมา สุดท้ายนี้เราหวังคณะกรรมการอิสระฯ จะเห็นใจและจะเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาของพวกเรา เพราะที่ผ่านมาไม่มีใครจริงจังต่อการแก้ไขปัญหา” 

พงษ์ศักดิ์ ย้ำ

ด้าน พชร คำชำนาญ ผู้ประสานงานภาคี Save บางกลอย ให้สัมภาษณ์กับ The Active ว่าการประชุมคณะกรรมการอิสระฯ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 21 ก.พ. นี้ ถือเป็นเดิมพันสำคัญว่าชาวบ้านจะยังสามารถฝากความหวังไว้กับกลไกแก้ปัญหาของรัฐบาลนี้ได้อีกหรือไม่ เนื่องจากสถานการณ์การเมืองเริ่มเข้าสู่บรรยากาศการเลือกตั้งและอาจไม่มีการประชุมคณะกรรมการอิสระฯ หรือลงพื้นที่แก้ติดตามการแก้ไขปัญหาได้อีก ในขณะที่สถานการณ์ที่เร่งด่วนตั้งแต่ปี 2564 อย่างเรื่องการแก้ไขปัญหาด้านคดีความ การแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิต รวมถึงการหาแนวทางให้ชาวบ้านกลับขึ้นไปทำไร่หมุนเวียนก็ยังไม่มีรูปธรรมความคืบหน้าเท่าที่ควร

“ยิ่งปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อคาราคาซังไปก็ไม่มีผลดีกับทั้งชาวบ้านและคณะกรรมการอิสระฯ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นที่ชาวบ้านเคยมีความหวังกับกลไกที่มาจากการขับเคลื่อน ต่อสู้ด้วยการเอาชีวิตเดิมพัน ในขณะที่เราพบว่าขณะนี้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนยังไม่ได้รับการตอบสนอง หลายครั้งที่มีมติในที่ประชุม ก็ยังไม่เห็นรูปธรรมในการดำเนินการให้มตินั้นเกิดผล เช่น ความเห็นว่าอัยการไม่ควรสั่งฟ้องคดีชาวบ้าน ขณะนี้คดีความก็ยังคาอยู่ และอาจมีการสั่งฟ้องได้ทุกเมื่อ หรือข้อเรียกร้องตั้งต้นของการเคลื่อนไหวอย่างการกลับไปทำกินที่บ้านบางกลอยบนเพื่อทำไร่หมุนเวียนนั้น เข้าใจว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับหลายหน่วยงาน แต่เรื่องปากท้องชาวบ้านรอนานไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว”

พชร กล่าว
พชร คำชำนาญ ผู้ประสานงานภาคี Save บางกลอย

ผู้ประสานงานภาคี Save บางกลอยยังย้ำว่า ความล่าช้าต่อไปหลังจากนี้อาจเป็นชนวนสำคัญให้เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงระลอกใหม่ เนื่องจากชาวบ้านยังยืนยันจะกลับขึ้นไปทำกินที่บางกลอยบน ซึ่งขณะนี้แปลงที่ดินทำกินนั้นกลายเป็นแปลงที่ถูกดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2564 โดยตนไม่สามารถรับประกันได้ว่าหากกระบวนการแก้ไขปัญหายังยืดเยื้อต่อไป ชาวบ้านอาจตัดสินใจกลับขึ้นไปทำกินโดยไม่รอคำสั่งคณะกรรมการอิสระฯ ก็เป็นได้

“การทำไร่หมุนเวียนหนึ่งรอบ จำเป็นต้องแผ้วถางพื้นที่ตั้งแต่เดือน ก.พ. จึงจะทันรอบการผลิต ซึ่งหมายความว่าหากเป็นไปตามที่ชาวบ้านเคยได้ประกาศไว้ว่าจะกลับขึ้นไปทำกินในปีนี้ บนพื้นที่นั้นที่เป็นแปลงคดีอยู่แล้ว ชาวบ้านอาจมีความผิดทางกฎหมายเพิ่มขึ้นอีก อาจนำไปสู่ความขัดแย้งอีกครั้งระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และชาวบ้าน แต่แน่นอนว่าไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นไปในทิศทางไหน นั่นคือการต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่ได้ตัดสินใจเอาชีวิตและจิตวิญญาณของเขาลงเดิมพันแล้ว เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2564 จนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลา 2 ปี ที่ชาวบ้านยังคงอดอยากเหมือนเดิม” 

พชร ย้ำ

สำหรับการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย  หมู่ที่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ในวันพรุ่งนี้ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน จึงเป็นที่จับตาของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย และภาคประชาชนที่ติดตามประเด็นนี้มาต่อเนื่อง ว่าจะมีความคืบหน้าข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนตามข้อเรียกร้องหรือไม่

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active