จับ ‘เรืออวนลาก’ ลอบทำประมงเขตอุทยานฯ ตะรุเตา 27 ลำ

ด้านเครือข่ายประมงเรียกร้อง ตรวจสอบการทำประมงผิดกฎหมายจริงจัง ทั้งในและนอกเขตอุทยานฯ เร่งบังคับใช้มาตรา 57 กำหนดขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน ป้องกันทำประมงอวนลากทำลายทรัพยากรทะเล

วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2566 ) อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สั่งการให้ นฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า พร้อมด้วย  ชาญวิทย์ กันยา ผู้อำนวยการกองนิติการ  พนัชกร โพธิบัณฑิต ผู้อำนวยการส่วนยุทธการด้านป้องกันและปราบปราม พร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า (พญาเสือ) เข้าแจ้งความกล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีเรือประมงพาณิชย์ที่ลักลอบเข้ามาทำประมงในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล จำนวน 27 ลำ ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขน โดยมี พ.ต.อ.อนันต์ วรสาตร์ ผู้กำกับการ สน.บางเขน เป็นผู้รับเรื่องเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย ณ สถานีตำรวจนครบาลบางเขน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร

การดำเนินการดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 22 ม.ค.66 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากชาวบ้านกว่า 200 คน ซึ่งขณะลงพื้นที่ได้ตรวจสอบพบเรือประมงขนาดใหญ่ลากอวนทำการประมงอยู่ในทะเลใกล้เกาะหลีเป๊ะซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ซึ่งถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล 

จึงได้มอบหมายให้ กรมประมง และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ตรวจสอบกรณีเรือประมงที่ลักลอบเข้าไปทำประมงในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จากการตรวจสอบของคณะทำงานวิเคราะห์ สถานการณ์ การตรวจ ติดตาม ควบคุม เฝ้าระวังการทำการประมง และแรงงานในภาคประมง กรมประมง พบว่ามีเรือประมงพาณิชย์ 27 ลำ คาดว่าเข้ามาทำประมงในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ถึง วันที่ 22 มกราคม 2566 จึงได้นำข้อมูลในระบบติดตามเรือประมง (VMS) ที่เข้ามาทำประมงในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา พร้อมทั้งเส้นทางการทำประมงของเรือประมงจำนวน 27 ลำ มาตรวจสอบพบว่าจุดที่มีการทำประมงส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา

ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จำนวน 5 ข้อหา ได้แก่ 1. ฐาน ร่วมกันกระทำการอื่นใด อันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 2. ฐาน ร่วมกันล่อหรือนำสัตว์ป่าอกไปหรือกระทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ป่าด้วยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 3. ฐาน ร่วมกันเข้าไปดำเนินกิจการใด ๆ เพื่อหาผลประโยชน์ในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 4. ฐาน ร่วมกันนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์หรือจับสัตว์ หรืออาวุธใด ๆ เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และ 5. ฐาน บุคคลซึ่งเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้สั่งให้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

อย่างไรก็ตาม เรือประมงทั้ง 27 ลำ มีขนาดระหว่าง 40-113 ตันกรอส มีความผิดเกี่ยวกับการเข้าไปล่าสัตว์ (จับสัตว์น้ำ) ในเขตพื้นที่อุทยาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุด จำคุกไม่เกินห้าปีปรับไม่เกิน 500,000 บาท

ด้าน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า การดำเนินการครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ เพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดิน ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้มีความอุดมสมบูรณ์ และรักษาวิถีชีวิตของชาวเลให้คงอยู่ต่อไป ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดกับระบบนิเวศ และทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล จึงให้กรมอุทยานซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตามกฎหมาย เพื่อใช้การบังคับใช้กฎหมายในการช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว และสามารถฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลานต่อไป

ด้าน ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย มองว่าปฏิบัติการดังกล่าวส่งผลดีต่อการรักษาฐานทรัพยากร ลดความเหลื่อมล้ำ และเห็นความตั้งใจที่หน่วยงานกล้าที่จะเอาผิดกับกลุ่มทุนเจ้าของเรือที่มีมูลค่าหลายสิบล้าน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนชัดว่ามีการลักลอบทำประมงผิดกฎหมายอยู่มาก  ชุดปฏิบัติการแก้ไขปัญหา IUU Hunter เร่งกวดขันในเรื่องการทำประมงขนาดใหญ่ แต่ก็อย่าลืมว่ายังมีเรือประมงขนาดกลาง  ประมงขนาดเล็กส่วนหนึ่งที่ใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงแบบเดียวกับเรือประมงขนาดใหญ่  เช่น อวนลาก เรือปั่นไฟ ที่สร้างปัญหาให้กับชุมชนประมงจังหวัดชายฝั่งทะเลหลายจังหวัด ดังนั้น ถ้าจะสร้างบรรยากาศการบริหารจัดการทรัพยากรที่เป็นธรรม ไม่ควรเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งอ่าวไทย หรืออันดามัน ต้องตรวจสอบทุกพื้นที่ที่ติดชายทะเลทั้ง 2 ฝั่ง และบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจัง

“ผมเห็นว่าไม่ใช่แค่ในโซนอนุรักษ์เท่านั้น  รัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องควบคุมกรมประมง ให้ดำเนินการตามกฎหมาย เพราะถ้าเราไปดูการบริหารจัดการทรัพยากรใน พ.ร.ก.การประมง ฉบับล่าสุด ถ้าจะทำให้ทะเลไทยฟื้น ผมคิดว่ามาตรา 57 สำคัญ เพราะว่าเมื่อไหร่ที่รัฐบาลไม่ลูบหน้าปาดจมูก  คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ที่มี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ กำกับดูแล  กล้าหาญเพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเอื้อเฉพาะกลุ่มส่งออก  มาตรา 57 ที่ต้องกำหนดขนาดพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน จะเป็นข้อพิสูจน์สำคัญความจริงใจในการรักษาทรัพยากรทางทะเลชั่วลูกชั่วหลาน เพราะการกำหนดขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นเรื่องเดียวกันและเชื่อมโยงกับการใช้เครื่องมือประมงถูกกฎหมาย  ที่ควรจะต้องกำหนดใช้ให้ถูกต้องกับขนาดที่เหมาะสมของสัตว์น้ำด้วย“ 

ปิยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวเลขการจับสัตว์น้ำทั้งในส่วนประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ ประมาณปีละ 1,200,000 ตัน  ในประเทศไทย มีอวนลากคู่ 1,124 ลำ กลายเป็นว่าอวนลากจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก หรือสัตว์น้ำวัยอ่อนเศษหนึ่งส่วน 3 ของจำนวนทั้งหมด  คือ เกือบ 4 แสนตัน  หากเอาจริงเอาจัง กำหนดมาตรา 57 กำหนดขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน จะเกิดการปรับเปลี่ยนพัฒนาใช้เครื่องมือประมงที่ถูกต้องเหมาะสม  จะเป็นการแก้ไขปัญหาได้ครบวงจร และการดำเนินการตรวจสอบต้องไม่เลือกปฏิบัติเฉพาะโซนที่เป็นพื้นที่อุทยานฯ หรือจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง แต่จะครอบคลุมทั้งหมด 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active