กสม. – อุทยานฯ – ศูนย์ดำรงธรรม จ.สตูล ร่วมสำรวจสุสาน -เพิงชั่วคราวหลีเป๊ะ

เดินหน้าฟื้นฟูวิถีชีวิต ให้ชาวเลสามารถมีที่อยู่อาศัย ที่ทำกินอย่างมั่นคง พร้อมเตรียมนำข้อมูลเข้าที่ประชุม อุทยานฯ วางแผนการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ควบคู่กับการตรวจสอบกันเองเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง

เมื่อวันที่ 23-25 มกราคม 2566 ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้, ธนพัฒน์ เด่นบูรณะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรม จ.สตูล, อาริส เกปัน หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ตต6.(หาดทรายขาว)เกาะราวี ในฐานะผู้แทนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา และตัวแทนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ เกาะอาดัง-ราวี จ.สตูล ลงพื้นที่สำรวจสุสาน และบาฆัด หรือเพิงพักพิงชั่วคราวในการหาปลาและหลบมรสุมของชาวเล

ปรีดา กล่าวว่า การสำรวจครั้งนี้เนื่องจากชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ได้ร้องเรียนกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ว่า ทางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ยังไม่ได้สำรวจสุสาน กับบาฆัด หรือเพิงพักพิงชั่วคราวในการหาปลาและหลบมรสุมของชาวเล ตาม กม.อุทยานแห่งชาติ ปี 2562 มาตรา 64 ที่ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัย หรือทำกินในอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งให้แล้วเสร็จภายในสองร้อยสี่สิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ รวมถึงบทเฉพาะกาล มาตรา 65 ที่กล่าวถึงการจัดทำโครงการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน คือ อุทยานแห่งชาติมีหน้าที่ต้องสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ภายใน 240 วัน หลังจากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. อุทยานฯ

ซึ่งก่อนหน้านี้ทาง กสม. ได้ประชุมกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในจังหวัดสตูลมาแล้ว 1 ครั้ง มีความเห็นร่วมกันที่ต้องมีการสำรวจข้อมูลทั้งสุสาน และบาฆัดของชาวเล ทุกจุดในเกาะอาดัง-ราวี รวมถึงเกาะอื่น ๆ โดยรอบ เพราะหากไม่มีการสำรวจลงพิกัดไว้ชัดเจน ตามกฎหมายอุทยานฉบับใหม่ ในระยะยาว หากชาวเลสร้างเพิงพักหาปลา หรือเข้ามาฝังศพก็จะผิดกฎหมาย การสำรวจของทุกฝ่ายวันนี้จึงมีความสำคัญ เพราะข้อมูลจะนำไปบันทึกรายงานการตรวจสอบของ กสม. และเสนอต่อกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกรมอุทยานต่อไป และเรื่องนี้ยังเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตชาวเลทั้ง 5 จังหวัดอันดามัน กสม. จึงจะตรวจสอบทุกจังหวัด ว่าได้มีการบันทึกเรื่องนี้ไว้ในการสำรวจของอุทยานหรือไม่

“จากที่ได้ทวงถามกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ซึ่งน้อง ๆ เจ้าหน้าที่ก็ยอมรับว่า ยังไม่ได้สำรวจ โดยเจ้าหน้าที่อุทยานให้เหตุผลว่ายังไม่มีระเบียบที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ก็เลยมีความเห็นว่า ต้องร่วมกันจับพิกัดให้ชัดเจน เพราะว่าแต่ละจุดจะมีชื่อเรียกเป็นภาษาชาวเล จึงต้องทำความเข้าใจ และเป็นเรื่องที่ กสม. จะต้องลงมาทำรายงานข้อเสนอต่อระดับนโยบายต่อไป“

ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

ปรีดา กล่าวเพิ่มเติมว่า จริง ๆ แล้วมี มติครม.ในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งพูดถึงการผ่อนปรน ให้ชาวเล สามารถที่จะทำมาหากินในเขตตามวิถีดั้งเดิม ที่ชาวเลเขาเคยทำมาตั้งแต่บรรพบุรุษได้ โดยใช้เครื่องมือประมงแบบดั้งเดิม ขณะที่ตอนนี้อยู่ในระหว่างร่างกฎหมายส่งเสริมคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเรื้องนี้ก็ถูกระบุไว้ด้วย ในการคุ้มครองวิถีวัฒนธรรม และรัฐธรรมนูญก็ระบุเรื่องนี้ ซึ่ง กสม. ก็ดูเรื่องกติกาสากล เรื่องเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรมเชื่อมโยงกัน ก็อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า การฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล การส่งเสริมให้ชาวเลสามารถมีที่อยู่ ที่อาศัย ที่ทำกินในทะเลอย่างมั่นคง เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะชาวเลก็อยู่คู่อันดามันมาตั้ง300 ปี

แสงโสม หาญทะเล ตัวแทนชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะและเกาะอาดัง-ราวี กล่าวว่า บาฆัด เป็นภาษาอูรักลาโว้ย หมายความว่าการพักค้างแรมของชาวเลตั้งแต่สมัยอดีต ซึ่งตนเองก็เคยอยู่บาฆัดตั้งแต่เป็นทารก บาฆัดถือเป็นส่วนสำคัญของวิถีชีวิตชาวเล เพราะว่า ด้วยวิถีชีวิตชาวเล ก็คือมีการอยู่อาศัยตามฤดูกาล สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของฤดู ไม่ว่าจะเป็นฤดูแล้ง ฝน มรสุม วิถีชีวิต ชาวเลเราไม่สามารถต่อต้านกับสภาพธรรมชาติได้ โดยเฉพาะในช่วงการอยู่บาฆัด

“พี่น้องชาวเลเดิมจะอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะ แต่ช่วงลมตะวันออกเข้าเกาะหลีเป๊ะ ในช่วงเดือนมกราคม จนถึงเมษายน ชาวเลต้องนำเรือหลบมรสุม เพราะเรือของพี่น้องชาวเล ถือเป็นสมบัติสำคัญอันเดียวในชีวิตที่เขามี ก็ต้องเอามาหลบลมตามแหล่งบาฆัด ตามหาดต่าง ๆ ของบริเวณหมู่เกาะอาดังราวีแห่งนี้ มีการสำรวจหลาย ๆ พื้นที่ก็จะเป็นพื้นที่แหล่งบาฆัด ก็หมุนเวียนกันไป เพราะว่าสภาพฝนฟ้าอากาศ เวียนกันไปตามความเปลี่ยนแปลงของลม“

แสงโสม หาญทะเล ตัวแทนชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะและเกาะอาดัง-ราวี

ธนพัฒน์ เด่นบูรณะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรม จ.สตูล กล่าวว่า หลังจากนี้ทางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา จะเอาข้อมูลที่ร่วมสำรวจทั้งสุสาน และบาฆัดทุกจุด เข้าพิจารณาในที่ประชุมอุทยานฯ แต่สิ่งสำคัญ ทั้งหมดคือว่า เมื่อรัฐเองดำเนินการตามคำร้องขอแล้ว ชาวเลเองต้องไปออกแบบในการใช้พื้นที่เหล่านี้ เพื่อรักษาประโยชน์ร่วมกัน มีการตรวจสอบกันเองเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ต้องมีการร่างระเบียบกติกาของชุมชน ให้ชุมชนช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมขยะปฏิกูลต่าง ๆ และการมีส่วนร่วมเป็นหูเป็นตาในการตรวจตาสิ่งไม่ปกติให้แก่รัฐ

“สิ่งสำคัญที่ชาวเลเขาบอกกับเรา คือจะทำหน้าที่ช่วยรัฐอีกทางหนึ่ง ในการตรวจสอบการทำประมงผิดกฎหมาย และเรื่องต่าง ๆ ที่ไม่ชอบมาพากล ก็จะรีบแจ้งรัฐ อันนี้เป็นสิ่งที่ชุมชนเองจะดูแลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม จากนี้ทางศูนย์ดำรงธรรมเอง อาจจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการรับฟังการออกแบบร่างกติกาของชุมชนในการใช้พื้นที่ให้อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน“

ธนพัฒน์ เด่นบูรณะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรม จ.สตูล


Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ