จับ “อธิบดีกรมอุทยานฯ” ย้ำภาพ ข้าราชการ มองแต่ผลประโยชน์ เมินประชาชน

ภาคประชาชน ย้ำไม่เกินความคาดหมาย เชื่อการจัดสรรบุคคล บริหารจัดการทรัพยากร อิงแค่เม็ดเงินวิ่งเต้น ไม่สนใจประชาชน ขณะที่ เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ จี้สาวเส้นทางเงิน รับไว้เอง หรือ ส่งต่อให้ใคร

จากกรณีตำรวจแถลงผลการดำเนินคดีกับ รัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช ในข้อหาความผิดฐาน ‘เรียกรับสินบน’ ภายหลังสืบเนื่องจากมีผู้เสียหายซึ่งเป็น เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ว่า ถูกอธิบดีกรมอุทยานฯ เรียกรับเงินแลกเปลี่ยนกับการโยกย้ายตำแหน่งภายในองค์กร เป็นจำนวนเงิน 98,000 บาท จึงวางแผนร่วมกับตำรวจ ซ้อนแผนล่อจับ เมื่อผู้เสียหายเข้าไปในห้องอธิบดีกรมอุทยานฯ ซึ่งได้เจรจาต่อรอง ส่งมอบเงินกัน เจ้าหน้าที่จึงแสดงตัว เข้าตรวจค้นพบเงินของกลางจำนวน 98,000 บาท ก่อนตรวจค้นภายในห้องทำงานเพิ่มเติม พบเงินในตู้เซฟถูกเก็บไว้อีก เกือบ 5 ล้านบาท จึงอายัดไว้เพื่อทำการตรวจสอบ

แม้อธิบดีกรมอุทยานฯ ให้การภาคเสธ ว่า รับซองมาจริงแต่ไม่ทราบว่าภายในมีเงินสดอยู่ ส่วนเงินในตู้เซฟยังไม่ได้ชี้แจงถึงที่มาของเงิน แต่ตำรวจ ก็มั่นใจว่าจะขยายผลตรวจสอบเพื่อเอาผิดได้อย่างแน่นอน ส่วนผู้ที่ถูกเรียกรับเงิน หรือนำเงินไปมอบให้ เจ้าหน้าที่ได้กันตัวไว้เป็นพยาน เบื้องต้น ได้แจ้งข้อกล่าวหา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ มาตรา 149 ตามประมวลกฎหมาย ป.ป.ช.

ตำรวจดำเนินคดี รัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช ในข้อหา ‘เรียกรับสินบน’

จี้สาวให้ถึง รับเงินไว้เอง หรือ ส่งต่อถึงใคร

The Active พูดคุยประเด็นนี้ กับ มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มองกรณีที่เกิดขึ้นว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดา ที่บุคคลระดับอธิบดี ถูกจับกุมในคดีทุจริต คอร์รัปชันคาสถานที่ทำงาน เรื่องนี้ยังสะท้อนด้วยว่า บุคคลที่เข้าสู่อำนาจ เมื่อมีโอกาสก็จะตกอยู่ในวังวนของคอร์รับชันเสมอ เท่าที่ทราบคืออธิบดีกรมอุทยานฯ คนนี้ เพิ่งมารับตำแหน่งได้ไม่ถึงปี จึงเชื่อว่าน่าจะรู้ช่องทาง รู้โอกาสการเรียกรับผลประโยชน์ลักษณะนี้เป็นอย่างดี

เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การทุจริตที่เกิดขึ้นรอบนี้ ไม่ได้มาจากการจัดซื้อจัดจ้าง แต่เป็นการทุจริตจากเงินงบประมาณ โดยเรียกเปอร์เซนต์จากหน่วยงานในสังกัด จึงต้องตรวจสอบต่อไปว่าเงินที่อธิบดีกรมอุทยานฯ เรียกรับนั้น รับเอง หรือ ส่งต่อให้กับใคร

“ที่น่าแปลกใจ คือ ก่อนหน้านี้ไม่นาน ครม. ได้เห็นชอบหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. …. ซึ่งเป็นร่างระเบียบฯ ฉบับใหม่ เพื่อปรับปรุงแนวทางปฏิบัติการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้สอดคล้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ แต่ที่ปรากฎเป็นข่าว คือ การเข้าจับกุมอธิบดีกรมอุทยานฯ นั้น เกิดขึ้นในช่วงที่มีข้าราชการใต้บังคับบัญชา นำของขวัญ กระเช้า มามอบให้เนื่องในเทศกาลปีใหม่ เรื่องที่เกิดขึ้นอาจเท่ากับการขัดต่อระเบียบสำนักนายกฯ และไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. ดังนั้นจึงเรียกร้องให้ตำรวจ ตรวจสอบ เอาผิดกับข้าราชการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมด้วย”

มานะ นิมิตรมงคล



เชื่อปมการเมืองภายใน-ขัดผลประโยชน์ กรมอุทยานฯ

ขณะที่ กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา มองว่า การเรียกรับผลประโยชน์ของกรมอุทยานฯ อาจคล้ายกับหน่วยงานราชการอื่น ๆ ที่ต้องเอาผลประโยชน์มาแลกกับการเข้าสู่ตำแหน่ง โดยเฉพาะพื้นที่อุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ เกรด A ที่ได้รับงบฯ สนับสนุนจำนวนมาก อย่าง อุทยานฯ ทางทะเล และ อุทยานฯ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ก็จะพบการวิ่งเต้น เพื่อขอเข้าไปบริหารจัดการในพื้นที่ดังกล่าว และในฐานะที่กรมอุทยานฯ ทำงานใกล้ชิดกับชุมชน ซึ่งตลอดช่วงที่ผ่านมาถือว่าเป็นคู่ขัดแย้งกับหลายชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดการ เช่น พื้นที่ป่า พื้นที่ทางทะเล ชายฝั่ง การเข้าสู่ตำแหน่งด้วยการวิ่งเต้น

จึงสะท้อนได้อย่างชัดเจนว่า ไม่ได้โอนย้ายบุคลากรตามความเหมาะสม กับการแก้ปัญหา ไม่ได้คำนึงถึงบริบทพื้นที่ แต่เต็มไปด้วยผลประโยชน์ นั่นทำให้การแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน ไม่ค่อยถูกให้ความสำคัญ ตรงกันข้ามกลับเห็นความพยายามเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน กลุ่มทุน ต่อการเข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับอธิบดีกรมอุทยานฯ ไม่เหนือความคาดหมาย โดยส่วนตัวเชื่อว่าน่าจะเป็นเกมการเมืองภายในกรมอุทยานฯ ซึ่งมาจากการขัดแย้งของกลุ่มผลประโยชน์ ที่พยายามเล่นงานฝั่งตรงข้าม ไม่ต่างจากนักการเมือง ที่แทงกันข้างหลังเพราะต่างขั้วอำนาจกัน เรื่องแบบนี้ยิ่งตอกย้ำชัดเจนว่าประชาชนยังให้ความเชื่อมั่นข้าราชการได้อีกหรือไม่”

กฤษฎา บุญชัย

ชี้เอื้อประโยชน์มิติงานปกป้องทรัพยากร แต่ไม่สนใจปัญหาประชาชน

ไม่ต่างจาก สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ที่เชื่อว่าไม่เกินความคาดหมาย เพราะการเข้าสู่ตำแหน่งใหญ่ ๆ ต่างก็แลกมาด้วยผลประโยชน์ นี่ถือเป็นสารตั้งต้นความไม่ไว้วางใจจากภาคประชาชน ที่มองไปยังแวดวงราชการ เฉพาะอย่างยิ่งกับมิติการทำงานด้านการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ที่พบการเอื้อประโยชน์เกิดขึ้นมากมาย แต่กลับไม่สนใจแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับชุมชนพื้นที่ป่า สิ่งนี้สะท้อนความเหลื่อมล้ำ ที่สังคมไทยปล่อยปละละเลย

“คนระดับอธิบดี เกิดกรณีทุจริตขึ้น ผู้คนในสังคมต้องร่วมกันตั้งคำถามต่อการเข้าสู่ตำแหน่งบริหารของข้าราชการระดับสูง ซึ่งจากนี้จำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มข้น”        
 

สมบูรณ์ คำแหง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active