‘อนุชา’ เตรียมลงพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ สางปมข้อพิพาทปิดทางสาธารณะพรุ่งนี้

ชาวเลเรียกร้อง เร่งเปิดทางสาธารณะ ตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ ชะลอคดีชาวบ้าน ขณะที่เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ ชี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลปลายทาง  แต่ต้นตอที่ต้องแก้ไข คือการละเลยออกเอกสารสิทธิ์มิชอบ และการไม่แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

วันนี้ ( 14 ธ.ค.65 )  ธัชชญาณ์ณัช เจียรธนัทกานนท์ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (อนุชา นาคาศัย)  อิทธิพล  ช่างกลึงดี ผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี  ธนพร ศรียากูล ในฐานะคณะกรรมการการแก้ปัญหาฯ พร้อมคณะ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้แทนสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือ ทางกฎหมายแก่ประชาชน รวมทั้งผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคม ที่เป็นธรรมหรือพีมูฟ และผู้แทนเครือข่ายพัฒนาแผนจังหวัดสตูล ลงพื้นที่ตรวจหาข้อมูล ข้อเท็จจริงกรณีข้อพิพาทเส้นทางสัญจร สาธารณะประโยชน์ชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ อำเภอเมือง​ จังหวัดสตูล โดยการตรวจสอบครั้งนี้เกิดขึ้นหลังชาวบ้านเกาะหลีเป๊ะยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้แก้ไขปัญหาดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย.65 ที่ผ่านมา 

ขณะที่ชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล นำขบวนเรือประมาณ 41 ลำ ที่มีข้อความ เช่น ขอต้อนรับทุกหน่วยงานที่มีความจริงใจการแก้ปัญหาชาวเลเกาะหลีเป๊ะ , ให้นายอนุชา แก้ไขปัญหาภายใน 20 วัน หากไม่สำเร็จจะเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาล  รอต้อนรับคณะที่ลงพื้นที่  หนึ่งในชาวบ้านที่นำเรือมาตั้งขบวนครั้งนี้ บอกว่า ตอนนี้ประสบปัญหาความเดือดร้อนอย่างหนัก หากไม่แก้ปัญหา เอกชนสร้างรั้วปิดพื้นที่ที่เหลือสำเร็จ จะออกมาทำมาหากินออกมาทำการประมงลำบาก เพราะทางเข้าออกชายหาดเพื่อมายังจุดจอดเรือประมงมีแค่ 2 หนึ่งในนั้นก็คือทางที่ทีปัญหาอยู่ในขณะนี้ และตอนนี้สงสารลูกหลานต้องปีนรั้ว ห่วงอันตรายมาก

“หนูมีลูก 4 คน เรียนที่โรงเรียนนี้ทั้งหมด ตอนนี้สงสารลูก ๆ ต้องปีนรั้ว เราห่วงอันตรายมาก ยิ่งเด็ก ๆ โดนขู่กันด้วย เราอยากให้ช่วยแก้ไขปัญหา“ 

นภัสนันทร์ ยาดำ ชาวเลหลีเป๊ะ จ.สตูล 

เมื่อเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (​อนุชา นาคาศัย ) พร้อมคณะ เดินทางมาถึงเกาะหลีเป๊ะ ได้รุดเข้าพื้นที่จุดแรกที่เอกชนทำรั้วปิดทางเดินเข้าโรงเรียนเกาะหลีเป๊ะ ขณะที่นักเรียนมอบของที่ระลึกพร้อมเรียกร้องเร่งแก้ปัญหาเปิดพื้นที่ เพราะเดือดร้อน ต้องปีนรั้วเข้าโรงเรียน ด้านเลขา รมต.รับปากว่าจะแก้ไขปัญหาเปิดทางให้กับนักเรียน 

จากนั้นรับฟังเสียงสะท้อนความเดือดร้อนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จากกรณีข้อพิพาทที่ดินเอกชนสร้างรั้วปิดทางสาธารณะ โดยชาวเลนำผังเครือญาติยืนยันการอยู่มาแต่ดั้งเดิม และชี้ปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบพร้อมกับขอให้เร่งตรวจสอบเอกสารแปลงดังกล่าว และทุกแปลงที่ส่งผลกระทบ เพราะความเดือดร้อนไม่ใช่แค่ชาวเลแต่เดือดร้อนถึงนักท่องเที่ยวที่แทบไม่มีทางเดิน

พร้อมยื่นหนังสือคณะทำงานฯ ให้เปิดเส้นทางสาธารณะ ให้นักเรียน ชาวบ้าน และนักท่องเที่ยวสัญจรปกติ, พร้อมขอให้ตรวจสอบการออกเอกสารโดยมิชอบทับที่ชาวบ้านที่สาธารณะทั้งหมด และขอให้ชะลอคดีกรณีเอกชนแจ้งดำเนินคดีชาวเล 12 คน

  

จากนั้นเดินสำรวจพื้นที่ ร่วมกับครูแสงโสม หาญทะเล ครูโรงเรียนเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งย้ำว่า ทางเข้าออกชายหาดล้วนอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนข้อพิพาทเอกชน ซึ่งทับพื้นที่สาธารณะ นอกจากทางออกชายหาดทะเล ซึ่งพื้นที่จัดงานประเพณีลอยเรือแล้ว ยังปิดเส้นทางน้ำไหลลงทะเล ทำให้ชาวเลเดือดร้อน กระทบคุณภาพชีวิต และสุขอนามัยเพราะโรคที่มากับน้ำท่วมและสัตว์พาหะเช่นยุง

เลขา รมต.อนุชาฯ ชี้ ต้องเร่งแก้ปัญหาก่อนเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว สร้างความขัดแย้ง​กระทบการท่องเที่ยว เสนอแก้ปัญหา 3 ระยะ 

ภายหลังลงพื้นที่ติดตามปัญหา ธัชชญาณ์ณัช เจียรธนัทกานนท์ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (อนุชา นาคาศัย) กล่าวว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อหาทางออกให้ประชาชนในพื้นที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  และต้องขอความร่วมมือจากเจ้าของพื้นที่  คู่พิพาท ให้เขาเห็นว่ามีปัญหาผลกระทบต่าง ๆ ต่อนักเรียนก็ดี ประชาชนก็ดี หรือผู้ประกอบธุรกิจ หรือชาวประมงต่าง ๆ  โดยพรุ่งนี้จะแจ้งทางเอกชนคู่พิพาทว่าจะลงพื้นที่อีกครั้ง ถ้าทางเจ้าของพื้นที่ต้องการมาชี้แจงหาทางตกลงแก้ไขก็ควรที่มาพูดคุยกัน 

ส่วนการแก้ไขปัญหา หลังจากลงพื้นที่วันนี้ ในส่วนประเด็นปัญหาต่าง ๆ  ก็อาจจะแบ่งแยก มาเป็นการแก้ปัญหาระดับต้น ที่เราได้เห็นมีการปิดกั้น มีการทำถนนหรืออะไรต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความไม่สะดวกสบายต่อนักเรียนประชาชน อันนี้ต้องเร่งแก้ไข 

ระดับกลางมาดูแลเรื่องของ เอกสารต่าง ๆ เอกสารสิทธิ ไม่ว่าจะเป็น ของเจ้าของพื้นที่ก็ดี ของธนารักษ์ก็ดีโรงเรียนก็ดี ต้องมีการมาหารือกัน

และในระดับสูงขึ้นไปอีก ก็คือเรื่องของการพัฒนาระยะยาว เราต้องพัฒนา เนื่องจากเกาะหลีเป๊ะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะต้องดูแลตรงนี้ เพื่อไม่ให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ตามมาทีหลัง 

ส่วนการชะลอการดำเนินคดี  ในส่วนตรงนี้ต้องดูข้อมูลก่อนว่า 12 กรณี ที่แจ้งมาเป็นคดีเกี่ยวกับอะไรบ้าง แล้วเราก็จะประสานว่าตรงไหนพอพูดคุยกันได้ ก็จะพยายามทำให้มันปรองดองสามัคคีกันของคนในชุมชน ได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  พร้อมยืนยันจะมีการแก้ไขปัญหาต่อเนื่อง เพราะปัญหาประชาชน ไม่ว่าเล็กน้อยต้องแก้ไข

“คือจะเป็นประเด็นน้ำผึ้งหยดเดียวกระทบท่องเที่ยวไหม ประเด็นตรงนี้เราพยายามแก้ไข ทุกภาคส่วนลงพื้นที่ก็เต็มที่ คิดว่าปัญหาจะคลี่คลายเร็ววัน และน่าจะมีแนวทาง อย่างน้อยชาวบ้านมั่นใจได้ว่าระดับรัฐมนตรีเห็นปัญหาแล้ว และจะนำไปสู่การแก้ไข“

ธัชชญาณ์ณัช เจียรธนัทกานนท์ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ ชี้ ต้นตอที่ต้องแก้ไข คือการละเลยออกเอกสารสิทธิ์มิชอบ และการไม่แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ​

จำนงค์ จิตรนิรัตน์ คณะกรรมการฟื้นฟู วิถีชีวิตชาวเลและกะเหรี่ยง กล่าวว่า กรณีปัญหาการเผชิญหน้าที่เกิดขึ้นบนเกาะหลีเป๊ะกรณีล่าสุด เป็นเพียงภาพสะท้อนปัญหาปลายทาง และไม่ใช่แค่เรื่องความขัดแย้งของชาวเลบนเกาะและผู้ประกอบการเจ้าของพื้นที่ ต้องมองให้ถึงแก่นปัญหาที่เป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้เกิดข้อพิพาทที่ดินและปัญหาในปัจจุบัน ซึ่งปัญหาที่แท้จริงคือการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ การละเลยการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานรัฐ ดังนั้นหวังว่าการลงพื้นที่ของคณะทำงาน ที่มี​อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่จะลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ในวันที่ 15 ธ.ค.นี้  จะกล้าแก้ไขจัดการต้นตอปัญหา 

“ตอนนี้ข้อมูลที่มีการศึกษาโดยคณะกรรมการต่าง ๆ ชุด พลเอกสุรินทร์ (พิกุลทอง) ดีเอสไอ กรรมการสิทธิ์ ชี้มาหมดแล้ว ว่ามีการออกเอกสารมิชอบ ข้อมูลครบถ้วนหมดแล้ว เพียงแต่ว่ารัฐมตรี อนุชา จะมีความกล้าหาญหยิบเรื่องนี้มาหรือไม่  มาพิจารณาโดยเอาหน่วยที่มีส่วนร่วมต่าง ๆ มาพิจารณา​ ต้องเปิดเผยออกมาได้ ให้ความเป็นธรรมทุกส่วน ว่าคุณซื้อมาถูกต้องหรือไม่ หรือเสียหายยังไง รัฐต้องรับผิดชอบ ต้องเปิดทางสาธารณะและเยียวยา เมื่อที่มาไม่สุจริต เหมือนรับซื้อของโจร ก็ต้องมีการลงโทษ ทำไมไม่ตรวจสอบ ตอนที่ซื้อ อันนี้ชัดเจนมาก เพราะฉะนั้น ข้อมูลต่าง ๆ พร้อม ที่จะให้ รมต.พิจารณาหยิบมาดู พร้อมหลักฐานต่างๆ“ 

จำนงค์ จิตรนิรัตน์ คณะกรรมการฟื้นฟู วิถีชีวิตชาวเลและกะเหรี่ยง

ด้าน ​สมบูรณ์ คำแหง  เครือข่ายติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล เห็นว่า เรื่องที่ดินเกาะหลีเป๊ะไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น คาราคาซังมาหลายปีแล้ว รัฐบาลพลเอกประยุทธ ในสมัยคสช. ก็เคยใช้มาตรา 44 เอาฝ่ายความมั่นคงมาจัดระเบียบเกาะ ดูเสมือนว่าน่าจะทำได้  ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นอำนาจเต็ม แต่กลับทำไม่ได้ ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาล่าสุดหวังว่ารัฐบาลต้องเอาจริงเอาจัง ใช้อำนาจที่มีอยู่ ซึ่งแค่กลไกจังหวัดไม่พอ ทางรัฐบาลหรือทางสำนักนายกฯต้องมีกลไกที่รัฐบาลเข้ามาคุมด้วย เพราะถ้าสามารถแก้ปัญหาที่เกาะหลีเป๊ะได้ ก็จะเป็นโมเดลให้หลายพื้นที่ ที่มีความขัดแย้งในลักษณะคล้าย ๆ กัน  รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ จัดระบบระเบียบเกาะหลีเป๊ะ 

อีกอันหนึ่งที่เห็นศักยภาพ คือที่นี่เป็นชุมชนชาติพันธุ์เกือบ 100% ซึ่งเป็นกลุ่มชาวเล ถ้าผู้ประกอบการเห็นความสำคัญ อาจจะต้อง คิดพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม ให้ชาวเลเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว ไม่ใช่เขาเป็นส่วนเกิน ทำให้เกาะมีเสน่ห์มากขึ้นด้วยวิถีดั้งเดิม ให้คนในพื้นที่อยู่ร่วมกันได้ โดยการท่องเที่ยวต้องยึดโยงพื้นที่ด้วย ถ้าตั้งหลักได้น่าจะเห็นโอกาสและทางออก

“ผมคิดว่านี่จะเป็นปัญหาในอนาคต ถ้าเราไม่จัดการ ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งพื้นที่มันเต็มกำลัง แทนที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยว มันจะกลายเป็นไม่น่าท่องเที่ยว และถ้าเราออกแบบเป็นระบบ รองรับสร้างจุดขายเชิงวัฒนธรรม จะเป็นทางออก“ 

สมบูรณ์ คำแหง  เครือข่ายติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ