‘ประมงพื้นบ้าน’ถูกตำรวจสกัดไม่ให้เข้าทำเนียบฯ

ตัวแทนประมงพื้นบ้าน ขอพบ ‘พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ 28 กันยายน 2565 ทวงสัญญาเดินหน้า ม. 57 “ทวงคืนน้ำพริกปลาทู” หวั่น ปลาทูสูญพันธุ์-ไทยโดนใบเหลืองอีกรอบ ยันไม่สำเร็จไม่กลับ!

สมาคมรักษ์ทะเลไทยและสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เตรียมจัดกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อรอคำตอบจากรัฐบาล กรณีทวงสัญญาที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) รับปากช่วงมิถุนายนว่า จะเดินเรื่องออกประกาศมาตรา 57 ใน พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง โดยย้ำว่า มาตรา 57 ในกฎหมายประมงเป็นเรื่องสำคัญเพราะจะรักษาความมั่นคงทางอาหารของคนไทย

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เมนูอาหาร “น้ำพริกปลาทู” เมนูพื้นบ้าน แหล่งโปรตีนราคาถูกต่การจับลูกปลาทูก่อนวัยอันควรปะปนกับปลาขนาดเล็กสายพันธุ์อื่น ๆ ด้วยเครื่องมือประมงทำลายล้างสูง ทำให้ปลาทูไทยเสี่ยงสูญพันธุ์ ปัจจุบันปลาทูไทยมีจำนวนน้อยลงเฉลี่ย 20% ต่อปี

ตำรวจสกัดประมงพื้นบ้าน ทวงคืนสัญญาน้ำพริกปลาทู ไม่ให้เข้าทำเนียบฯ

วันนี้ (27 ก.ย.65) ประมงพื้นบ้านกลุ่ม สนับสนุน ม.57 กำหนดขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน เดินทางสมทบที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กรุงเทพฯ เป็นวันที่ 2 ช่วง 15.00 น. เครือข่ายเดินขบวนจาก กษ. มุ่งสู่ทำเนียบ โดยหยุดเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ นายปิยะ เทศน์แย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เล่าถึงจุดประสงค์ของการเรียกร้อง ว่า ก่อนหน้านี้ ได้ยื่นหนังสือ ขอนัดพบพลเอกประวิตรเพื่อหารือการออกระเบียบ ม.57 ในวันที่ 28 แต่ว่าไม่มีการตอบรับ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ทำเนียบเคยเปิดให้ตัวแทนประมงพาณิชย์เข้าพบ จึงต้องการไปทำเนียบเพื่อยืนยันนัดเช่นเดียวกัน ขณะที่ตัวแทนตำรวจชี้แจงว่า ไม่สามารถเข้าพื้นที่ทำเนียบได้เนื่องจากมีการชุมนุมของกลุ่มอื่น ๆ ใกล้เคียงจึงต้องการรักษาความเรียบร้อย

ล่าสุด ภาคีประมงพื้นบ้านยืนยันพบพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ วันที่ 28 ก.ย.65 เวลา 14.00 น. ขณะที่ 30 ก.ย. 65 คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติมีกำหนดประชุม แต่ไม่มีวาระเกี่ยวกับกฎหมาย ม.57 นี้

ทวงสัญญาน้ำพริกปลาทู รัฐบาลเงียบหายไร้ความชัดเจน

ช่วงเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ภาคีน้ำพริกปลาทูได้ระดมพลชาวประมงพื้นบ้านจากหลายสิบชุมชนล่องเรือจากอ่าวปัตตานีถึงกรุงเทพฯ ร่วมพันกิโลเมตร บุกรัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือกับตัวแทนรัฐบาล โดยให้เวลา 30 วันเพื่อตอบรับ ถัดจากนั้นเครือข่าย ฯ ได้ประกาศขยายเวลาเพิ่มเป็น 60 วัน เพื่อให้รัฐบาลสามารถดำเนินการกำหนดมาตรการควบคุมการจับสัตว์น้ำขนาดเล็กตามมาตรา 57 แต่ทว่าผ่านมากว่า 90 วันแล้ว รัฐบาลยังเงียบหายไปและขาดความชัดเจน วันนี้เครือข่าย ฯ จึงได้เดินทางมาทวงสัญญา

8 กรกฎาคม 65 กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นมาตรา 57 เพื่อประกอบการพิจารณาการออกร่างประกาศ ภาคีเครือข่ายน้ำพริกปลาทู ชี้ว่า หลังจากนั้น ความคืบหน้ายังเงียบ และการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวไม่ทั่วถึงอย่างแท้จริง เนื่องจากสื่อสารกับชาวบ้านไม่ครบถ้วนว่ากฎหมายจะมีโทษมากกว่าคุณ อีกทั้งยังมีอิทธิพลของประมงพาณิชย์กดดันคัดค้านการออกมาตรการดังกล่าว… ภาคีจึงกังวลสถานการณ์ปลาทูไทย รวมถึงประมงไทยที่อาจไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

ซึ่งในปี 2558 หลังจากประเทศไทยโดน “ใบเหลือง” จากอียู กรมประมงได้ชำระกฎหมายประมงที่ไม่ทันกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบันและได้ระบุถึงการกำหนดรายละเอียดขนาดของสัตว์น้ำที่ห้ามนำขึ้นเรือ (มาตรา 57) ทว่าผ่านมา 7 ปีแล้วยังขาดรายละเอียดและการบังคับใช้ ปีนี้เครือข่ายฯ จึงเรียกร้องให้มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง


“ปลายปีนี้ ประเทศไทยจะต้องส่งความคืบหน้าแก้ไขปัญหาด้านประมงกับอียู

ถึงวันนี้จะปรับสถานะดีขึ้นจากใบเหลืองเป็นใบเขียวแล้ว แต่ถ้ากฎหมายประมงไทย ยังดูแลทะเลได้ไม่ดีพอก็มีสิทธิปรับเป็นใบเหลืองอีกได้”

ตัวแทนสมาคมรักษ์ทะเลไทยเผย


ตำรวจสกัดประมงพื้นบ้าน #ทวงคืนสัญญาน้ำพริกปลาทู ไม่ให้เข้าทำเนียบ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active