‘แสงเดือน’ ยื่นคำร้องศาลจังหวัดลำปาง เลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เพื่อรอกฎหมายนิรโทษกรรมฯ กรณีได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ
วันนี้ ( 23 ก.ย. 2565 ) วันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง หรือ ชื่อเดิม แสงเดือน ตินยอด ชาวแม่กวัก อ.งาว จ.ลำปาง เหยื่อนโยบายทวงคืนผืนป่า ในฐานะจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องถึงศาลจังหวัดลำปาง ให้พิจารณาเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ที่มีกำหนดในวันที่ 28 ก.ย. นี้
โดยในคำร้องระบุเหตุผลของการขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ผลักดันการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย โดยเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีความที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ ปัญหาที่ดินที่เกิดจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ดังปรากฎสรุปผลการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2565 ซึ่งมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และได้นำผลการประชุมเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 เพื่อรับทราบและเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) จำนวน 15 กรณี
ต่อมาได้มีคำสั่งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ที่ 4/2565 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบคณะทำงานศึกษาร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานคณะทำงานศึกษาร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ เพื่อดำเนินการศึกษา แนวทาง วิเคราะห์ ให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ การยกร่างกฎหมายดังกล่าวฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
โดยคณะทำงานศึกษาร่างกฎหมายชุดนี้ ได้จัดการประชุมร่วมกัน 2 ครั้ง โดยที่ประชุมเห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานกลั่นกรองการยกร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหาย หรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการยกร่างเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบและดำเนินการออกเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมฯ ให้ทันภายในรัฐบาลนี้
ประกอบกับจำเลยที่ 1 ยังป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ระหว่างการรักษาตัวกับแพทย์ ปรากฏตามใบรับรองแพทย์จำเป็นต้องได้รับการรักษาและดูอาการอย่างใกล้ชิดจากแพทย์
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา จำเลยที่ 1 ร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้ไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อศาลฎีกาเพื่อขอให้ชะลอการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกานี้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวจำเลยที่ 1 จึงขออนุญาตเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อรอฟังผลการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเรื่องการให้ความเห็นชอบกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
กรณีของ แสงเดือน ตินยอด เกิดขึ้นตั้งแต่ชุมชนบ้านแม่กวัก ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง ทับที่ทำกินหลังจากนั้น กรมป่าไม้อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์และอยู่อาศัยได้โดยให้สิทธิ สทก.1 และมีการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท มีการต่อใบอนุญาตทำกินให้ รวมถึงได้รับการส่งเสริมให้ปลูกยางพารา จนหลังมีคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้หรือ “นโยบายทวงคืนผืนป่า” จึงถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทและป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง บังคับให้ตัดฟันยางพาราของตนเอง 2 ครั้ง ในปี 2556 และ 2558
ก่อนจะถูกดำเนินคดีในปี 2561 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า แสงเดือนทำกินในพื้นที่มาก่อนการประกาศเป็นป่าสงวนฯ และกำลังดำเนินตามนโยบาย ‘โฉนดชุมชน’ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 และยังได้รับการผ่อนผันตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 อย่างไรก็ตามศาลอุทธรณ์ได้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น สั่งจำคุก1 ปี ไม่รอลงอาญา ข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยเจตนา และเรียกค่าเสียหาย 4 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. 2561 รวมทั้งให้ แสงเดือน ออกจากพื้นที่และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขณะนี้ได้รับการประกันตัวออกมา และอยู่ระหว่างรอคำพิพากษาศาลฎีกา