‘จุรินทร์’ คะแนนไว้วางใจน้อยสุด 241 เสียง งดออกเสียงมากที่สุด 23 เสียง ด้าน ‘พล.อ.ประวิตร’ ไว้วางใจมากสุด 268 เสียง ‘พล.อ.อนุพงษ์’ ไม่ไว้วางใจมากสุด 212 เสียง ส่วน ‘พล.อ.ประยุทธ์’ นายกรัฐมนตรี ไม่ไว้วางใจ 206 เสียง ‘นักวิชาการ’ ชี้ จับตาความเปลี่ยนแปลงในพรรคประชาธิปัตย์ อาจสะเทือนถึงเก้าอี้รัฐมนตรี
วันนี้ (23 ก.ค. 2565) ที่อาคารรัฐสภา มีการประชุมเพื่อลงมติญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล คือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ 10 รัฐมนตรี โดยการลงคะแนนเริ่มต้นช่วงเวลาราว 10.00 น.
- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นด้วยกับญัตติไม่ไว้วางใจ 206 คน ไม่เห็นด้วยกับญัตติ 256 คน งดออกเสียง 9 คน
- จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.กระทรวงพาณิชย์ เห็นด้วยกับญัตติไม่ไว้วางใจ 207 คน ไม่เห็นด้วยกับญัตติ 241 คน งดออกเสียง 23 คน
- อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.กระทรวงสาธารณสุข เห็นด้วยกับญัตติไม่ไว้วางใจ 205 คน ไม่เห็นด้วยกับญัตติ 264 คน งดออกเสียง 3 คน
- พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เห็นด้วยกับญัตติไม่ไว้วางใจ 193 คน ไม่เห็นด้วยกับญัตติ 268 คน งดออกเสียง 11 คน
- พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย เห็นด้วยกับญัตติไม่ไว้วางใจ 212 คน ไม่เห็นด้วยกับญัตติ 245 คน งดออกเสียง 13 คน
- ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.กระทรวงคมนาคม เห็นด้วยกับญัตติไม่ไว้วางใจ 205 คน ไม่เห็นด้วยกับญัตติ 262 คน งดออกเสียง 5 คน
- ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.กระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เห็นด้วยกับญัตติไม่ไว้วางใจ 205 คน ไม่เห็นด้วยกับญัตติ 249 คน งดออกเสียง 18 คน
- จุติ ไกรฤกษ์ รมว.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เห็นด้วยกับญัตติไม่ไว้วางใจ 209 คน ไม่เห็นด้วยกับญัตติ 244 คน งดออกเสียง 17 คน
- สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.กระทรวงการคลัง เห็นด้วยกับญัตติไม่ไว้วางใจ 204 คน ไม่เห็นด้วยกับญัตติ 249 คน งดออกเสียง 18 คน
- นิพนธ์ บุญญามณี รมช.กระทรวงมหาดไทย เห็นด้วยกับญัตติไม่ไว้วางใจ 206 คน ไม่เห็นด้วยกับญัตติ 246 คน งดออกเสียง 20 คน
- สุชาติ ชมกลิ่น รมว.กระทรวงแรงงาน เห็นด้วยกับญัตติไม่ไว้วางใจ 208 คน ไม่เห็นด้วยกับญัตติ 243 คน งดออกเสียง 20 คน
รายชื่อรัฐมนตรี | จำนวนผู้ลงมติ | เห็นด้วย (ไม่ไว้วางใจ) | ไม่เห็นด้วย (ไว้วางใจ) | งดออกเสียง |
---|---|---|---|---|
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม | 471 | 206 | 256 | 9 |
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.กระทรวงพาณิชย์ | 471 | 207 | 241 | 23 |
อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.กระทรวงสาธารณสุข | 472 | 205 | 264 | 3 |
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี | 472 | 193 | 268 | 11 |
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย | 470 | 212 | 245 | 13 |
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.กระทรวงคมนาคม | 472 | 205 | 262 | 5 |
ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.กระทรวงกระทรวงดิจิทัลฯ | 472 | 205 | 249 | 18 |
จุติ ไกรฤกษ์ รมว.กระทรวงพัฒนาสังคมฯ | 470 | 209 | 244 | 17 |
สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.กระทรวงการคลัง | 471 | 204 | 249 | 18 |
นิพนธ์ บุญญามณี รมช.กระทรวงมหาดไทย | 472 | 206 | 246 | 20 |
สุชาติ ชมกลิ่น รมว.กระทรวงแรงงาน | 471 | 208 | 243 | 20 |
นายกฯ – อนุทิน ขอบคุณทุกคะเเนนโหวต
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงานเพิ่มเติมว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่โหวตให้รัฐมนตรีและรัฐบาล เป็นกำลังใจให้ได้ทำงาน จะทำงานให้ดีที่สุดและมากขึ้น การอภิปรายต่าง ๆ ก็เป็นประโยชน์ต่อการปรับวิธีการทำงานของพวกเราให้ดีขึ้น จะรับข้อเสนอไว้ นี่คือระบอบประชาธิปไตยของรัฐสภา
เมื่อถามถึง พล.อ. อนุพงษ์ ได้คะแนนไม่ไว้วางใจมากที่สุด นายกฯ ตอบกลับว่า “แล้วผ่านไหมล่ะ”
ด้าน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ระบุ หลังการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ขอบคุณทุกคะแนนเสียงในการลงมติไว้วางใจ และจะตั้งใจทำงานต่อไป โดยการอภิปรายที่ผ่านมาได้ชี้แจงทุกอย่างตามข้อเท็จจริง มีเอกสารอ้างอิงชัดเจน และเป็นเรื่องปกติในการใช้ใจตามหน้าที่ ดีใจที่ได้รับความไว้วางใจ
พร้อมย้ำว่า ตนและนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย จะตั้งใจทำงานต่อไป และการผ่านลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ถือว่าเป็นการรับรองว่าการทำงานที่ผ่านมาถูกต้อง ส่วนการปรับคณะรัฐมนตรีหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะมีขึ้นหรือไม่ ต้องรอดูสัญญาณจากหัวหน้ารัฐบาลก่อน
ได้ไปต่อทั้ง 11 คน นักวิชาการ ชี้ จับตาความเคลื่อนไหวในพรรคประชาธิปัตย์
รศ.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย ระบุ กรณีที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.กระทรวงพาณิชย์ เป็นรัฐมนตรีที่มีผลการลงมติไม่ไว้วางใจมากที่สุด ขณะเดียวกัน มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่งดออกเสียงมากที่สุดเช่นกันว่า เป็นที่ทราบกันมาก่อนแล้วว่ามีความไม่ลงรอยเกิดขึ้นภายในพรรคประชาธิปัตย์ และมีการแสดงออกชัดเจนจากบางกลุ่มในพรรคว่าไม่ต้องการให้นายจุรินทร์เป็นหัวหน้าพรรคต่อ พร้อมตั้งคำถามมาก่อนหน้านี้ว่าเหมาะสมจะเป็นหัวหน้าพรรคต่อไปหรือไม่ ขณะที่อีกกลุ่มมองว่าการเปลี่ยนม้ากลางศึกไม่เหมาะสม แต่หากเมื่อใกล้ถึงเวลาเลือกตั้งใหม่ อาจพิจารณากันใหม่อีกครั้ง ทำให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้อาจมีเหตุผลมากพอ จากผลเป็นการลงมติในวันนี้ ซึ่งนับว่าเป็นหัวหน้าพรรคที่มีคะแนนน้อยที่สุด หากเทียบกับหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐอย่าง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย สะท้อนภาพเชิงสัญลักษณ์ได้อย่างชัดเจน ว่าเป็นปัญหาของหัวหน้าพรรคหรือไม่
ขณะเดียวกันกลุ่มเคลื่อนไหวในพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องการเปลี่ยนหัวหน้าพรรคอยู่แล้วก็อาจจะถือว่าทำสำเร็จแล้ว กลุ่มที่ยังตั้งคำถามว่าควรเปลี่ยนหัวหน้าพรรคหรือไม่ ก็จะมีความชัดเจนขึ้น ส่วนกลุ่มสุดท้ายที่ไม่เห็นด้วยจะทัดทานได้หรือไม่ เพราะหากเปลี่ยนหัวหน้าพรรคตอนนี้ อาจมีผลต่อการเปลี่ยนรัฐมตรีด้วย เพราะคะแนนของนายจุรินทร์ น้อยกว่า นายจุติและนายนิพนธ์ ซึ่งเป็นรัฐมตรีจากพรรคเดียวกันเสียอีก
“ทำให้กลุ่มที่ยังลังเล ค่อย ๆ มีเพิ่มมากขึ้น ด้วยการโน้มน้าวของกลุ่มที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคอยู่แล้ว แต่ผมเชื่อว่าน้ำหนักจะเทไปที่กลุ่มที่สาม ว่าการเปลี่ยนม้ากลางศึก มีความเสี่ยง เพราะหากเปลี่ยนหัวหน้าพรรคตอนนี้ เขาจะยังเป็นรัฐมนตรีหรือ ยิ่งหากเปลี่ยนหัวหน้าพรรค จะยังเป็นรองนายกฯ อีกหรือ เพราะมันเป็นศักดิ์ศรีหัวหน้าพรรค”
รศ.เจษฎ์ ยังกล่าวอีกว่า ต้องดูว่ามี คนในพรรคประชาธิปัตย์ที่อยากเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ หรือคนอื่น ๆ ภายนอกพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้องการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เช่นกันอีกหรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนี้ นายกฯ อาจจะไม่อยากให้เกิดแรงกระเพื่อมในรัฐบาล มีการส่งสัญญาณไม่ให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้นายกฯ ไม่ปรับคณะรัฐมนตรี