คนรุ่นใหม่ตื่นตัว ใช้สิทธิเลือกตั้ง ‘ผู้ว่าฯ กทม.’

‘New Voter’ หวังผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่แก้ปัญหาซ้ำซาก วอนฟังแนวคิดใหม่ สู่การปรับนโยบายให้ตอบโจทย์ทุกชีวิตในเมือง สะท้อนภาพการเมืองใหม่ วัดกันที่ ‘นโยบาย’ มากกว่าเกมการเมือง

วันนี้ (22 พ.ค. 2565) ประชาชนต่างเดินทางออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) กันอย่างคึกคัก หลังห่างหายจากการเลือกตั้งมานานกว่า 9 ปี ท่ามกลางการแข่งขันทางการเมืองที่เข้มข้นครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ มีจำนวน ‘ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก’ หรือ ‘New Voter’ เกือบ 700,000 คน โดยประมาณ คิดเป็นร้อยละ 15 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด จากสภาพปัญหาที่ต้องเผชิญ และความคาดหวังอนาคตที่ดีกว่าในกรุงเทพฯ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่ และคนที่เพิ่งมีสิทธิเลือกตั้งออกมาใช้สิทธิกันจำนวนมาก

ชนาวุธ ชำนาญหาญ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก เขตดินแดง เปิดเผยกับ The Active หลังเข้าคูหาเลือกตั้งว่า ตื่นเต้นกับการเลือกตั้งในครั้งนี้ เพราะคาดหวังให้ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่เข้ามาแก้ปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้นในเขตของตนเอง ทั้ง เรื่องเศรษฐกิจ การค้าขาย และปัญหาน้ำท่วมที่เผชิญมาตลอด

“หลัก ๆ เราจะมองที่นโยบาย ดูว่าผู้สมัครจะมีแนวคิดอย่างไรในการแก้ปัญหา และจะเห็นเป็นรูปธรรมได้มากแค่ไหน หลังจากนั้นก็มาชั่นใจดูว่าควรจะเลือกใคร”

ชนาวุธ กล่าวว่า ในฐานะคนรุ่นใหม่ การเลือกตั้งครั้งนี้ตัดสินใจจากนโยบายของผู้สมัคร ว่าสามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้แค่ไหน เพราะกรุงเทพฯ นั้นเป็นเมืองที่มีปัญหามากมาย หากผู้สมัครท่านใดสามารถสร้างความมั่นใจว่าสิ่งที่พูดนั้น จะเกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม ก็จะเลือกคนนั้น

ในขณะที่กลุ่มนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ที่เดินทางออมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เปิดเผยว่า ตอนนี้คนรุ่นใหม่สนใจการเมืองเป็นอย่างมาก ติดตาม และใส่ใจกับความเป็นไปของบ้านเมือง รวมถึงเฝ้าดูการทำงานของผู้บริหารประเทศมาโดยตลอด และเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของประเทศมากที่สุด เนื่องจากพวกเขายังต้องใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ต่อไปอีกนาน จึงคาดหวังว่าผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ จะเข้ามาช่วยสร้างความหวังให้กับพวกเขา

“เวลาคนรุ่นใหม่เสนอเรื่องอะไร อาจจะเป็นแนวคิดที่ดูใหม่ไปสำหรับคนรุ่นก่อน แต่นั่น คือ มุมมองที่เราแสดงออกว่าอาจจะแก้ปัญหาได้ดีกว่าที่ผ่านมา เพราะทุกรุ่น ทุก Generation มันต้องเพิ่ม หรืออัปเกรดขึ้นมาตลอด ยิ่งมีเทคโนโลยีอะไรใหม่ ๆ เข้ามา คิดว่ามันต้องดีกว่าเก่าแน่นอน”

โดยปัญหาที่นักศึกษากลุ่มนี้ อยากให้เข้ามาแก้ไขมากที่สุด คือ ปัญหารถติด และน้ำท่วม เนื่องจากมหาวิทยาลัยของพวกเขานั้น อยู่ติดกับถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นถนนที่มีการจราจรหนาแน่นมาก อีกทั้งขนส่งสาธารณะก็ไม่ตอบโจทย์ชีวิตที่เร่งรีบ ทำให้หลายคนต้องยอมซื้อรถส่วนตัว หากสามารถพัฒนาระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และเพิ่มเวลาในชีวิตได้มาก อีกทั้งปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ทุกครั้งเมื่อฝนตก ทำให้การใช้ชีวิตในเมืองหลวงนี้ลำบากมากยิ่งขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้