ครึ่งทาง! กฎหมายลูก เราจะได้เลือกตั้งกันแบบไหน ?

มติ กมธ. เคาะแล้วใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คนละเบอร์ แต่ยังเสียงแตกวิธีคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ วัดจำนวน ส.ส. พรรคใหญ่ – พรรคกลาง ส่วนพรรคเล็ก เตรียมยุบรวม หวังตามให้ทันกฎหมายใหม่

สัญญาณของการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งปัจจัยระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง และการเดินเกมของทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ในขณะที่ปัจจุบัน ‘กฎหมายลูก’ 2 ฉบับ คือ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการฯ โดยคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ แต่ที่น่าสนใจ คือ มีประเด็นที่อาจส่งผลต่อการอยู่รอด และครองตำแหน่งในสภาของแต่ละพรรคการเมืองด้วย

พปชร. – ส.ว. เสียงข้างมากลงมติ เลือกตั้ง ‘คนละเบอร์’

ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา มีมติ 32 ต่อ 14 เสียง ยืนตามร่างหลักของ ครม. และร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ให้ใช้การลงคะแนน ส.ส.แบบแบ่งเขต กับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เป็นเลขคนละเบอร์ นั่นหมายความว่ากรณีที่ประชาชนอยากเลือกทั้ง ‘คน’ และ ‘พรรค’ ต้องจำให้แม่นว่าต้องกาเบอร์อะไร ไม่เช่นนั้นอาจผิดพลาดได้

โดย 32 เสียง ประกอบด้วย กมธ.จาก ส.ว. 14 เสียง, คณะรัฐมนตรี 7 เสียง, พรรคพลังประชารัฐ 5 เสียง, พรรคภูมิใจไทย 3 เสียง, พรรคประชาธิปัตย์ 1 เสียง, พรรคชาติไทยพัฒนา 1 เสียง และ พรรคเศรษฐกิจไทย 1 เสียง

ในส่วน กมธ.ฝ่ายค้าน 14 เสียง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 8 เสียง, พรรคก้าวไกล 3 เสียง, พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง, รวมถึงเสียง กมธ.จากพรรคประชาธิปัตย์ที่แบ่งมาให้ 2 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง คือ สาธิต ปิตุเตชะ ในฐานะประธาน กมธ. และได้แสดงจุดยืนผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว ว่า

“จุดยืนของผมและพรรคประชาธิปัตย์ เรื่องการลงคะแนนเลือกตั้ง บัตรสองใบ คือการลงคะแนน ส.ส.แบบแบ่งเขต กับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เป็นเบอร์เดียวกัน เพื่อให้การลงคะแนนเสียงมีความสะดวกและเป็นไปตามเจตจำนงของพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด(บัตรเสียน้อยที่สุด) หลักการคือผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยไม่คำนึงถึงการได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคการเมืองใด ซึ่งผมเองได้งดออกเสียง และน้อมรับมติของที่ประชุม”

ถกไม่จบ สูตรคำนวณ ‘ปาร์ตี้ลิสต์’ คาดหารด้วย 100 ตาม รธน. 40

สำหรับกรณีสูตรคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ ‘ปาร์ตี้ลิสต์’ ว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยมี 2 แนวทางหลัก ที่ปรากฎอยู่ในร่างหลักของ ครม. และพรรคร่วมรัฐบาล คือ การหารด้วย 100 เพื่อให้ได้คะแนนเสียงต่อจำนวน ส.ส. 1 คน แล้วไปดูว่ามีคนลงคะแนนให้พรรคนั้นมากน้อยแค่ไหน เพื่อนำไปคำนวณเป็นจำนวน ส.ส. อีกครั้ง โดยไม่เกี่ยวกับจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

ขณะที่อีกแนวทาง ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยพรรคขนาดกลาง และพรรคเล็ก คือ การหารด้วย 500 เพื่อให้ได้จำนวน ‘ส.ส.พึงมี’ ของแต่ละพรรคเสียก่อน หากได้รับจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งมาก อาจส่งผลต่อการคำนวณในรูปแบบนี้ด้วย หากพูดง่าย ๆ คือ ระบบการคำนวณตามรัฐธรรมนูญปี 2560 นั่นเอง

ความเคลื่อนไหวในชั้น กมธ. เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ รองประธาน กมธ.วิสามัญฯ ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ เมื่อวันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า ตามหลักการต้องคิดคำนวณให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ปรับปรุงแก้ไขใหม่แล้ว ที่สำคัญขณะนี้ร่างของครม.และร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ถือเป็นร่างหลักในการพิจารณา ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน คือยึด มาตรา 91 และมีบทบัญญัติเขียนไว้ชัดเจนว่าจะคำนวณโดยหาร 100 เพราะฉะนั้นการจะใช้ 400 หรือ 500 นำไปคิดสัดส่วน ส.ส.พึงมี คงไม่ได้ ประเด็นนี้ในการประชุมกมธ.วันที่ 21 เม.ย.นี้ ต้องมีการแสดงความคิดเห็นจนครบทุกคน หากมีการถกกันชัดเจนแล้วก็ต้องลงมติ

‘พรรคเล็ก’ เตรียมยุบรวม เอาตัวรอดกติกาใหม่

พีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทรักธรรม ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่ม ส.ส. พรรคเล็ก เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า หลังสงกรานต์พรรคเล็กจะนัดหารือร่วมกันถึงทิศทางทางการเมืองเพื่อเอาตัวรอดหลังกติกาเลือกตั้งที่ปรับเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ เนื่องจากเบื้องต้นได้รับสัญญาณมาจาก กมธ. ว่าส่วนใหญ่จะสนับสนุนการใช้สูตรคำนวณแบบ 500 หารเพื่อหาค่าเฉลี่ยส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน เพราะต้องยึดหลักส.ส.พึงมี ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560กำหนด แต่ยังมีกมธ.ส่วนของพรรคเพื่อไทยที่เห็นว่าควรใช้จำนวน 100 หาร ดังนั้นต้องจับตาว่าผลพิจารณาจะเป็นเช่นไร

“หากผลสุดท้ายความชัดเจนจะใช้ 100 หาร  ในการรับประทานอาหารของพรรคเล็กจะหารือกันถึงหนทางไปต่อในการเลือกตั้ง ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะยุบรวมพรรคเล็ก1-2เสียง รวมเป็นพรรคเดียวกัน  เบื้องต้นแนวทางนี้ มี 5 พรรค คือ พรรคไทรักธรรม, พรรคเพื่อชาติไทย, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน, พรรคพลังชาติไทย, พรรครักษ์ผืนป่า สนับสนุน และจะเน้นการส่ง ส.ส.เขต ไม่เน้นส.ส.บัญชีรายชื่อ และคาดว่าจะได้ ส.ส.ประมาณ 10 ที่นั่ง”

ต้องยอมรับว่าทิศทางของกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. นั้นสำคัญต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป และรูปร่างหน้าตาของกฎหมายยังเป็นตัวบ่งบอกว่าการเมืองข้างหน้าจะเดินต่อไปอย่างไร หลังสงกรานต์นี้ กมธ.วิสามัญ ต้องเร่งดำเนินการก่อนเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร 22 พฤษภาคม ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนเมษายนนี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้